วิทย์ม.ต้น: Framing Effect, ทดลองวัดความยาวต่างๆกัน

วันนี้เด็กๆเรียนเรื่อง framing effect จากหนังสือ The Art of Thinking Clearly โดยคุณ Rolf Dobelli ให้ระวังว่าเรามักจะถูกชักจูงให้ตัดสินใจด้วยวิธีที่ข้อมูลถูกนำเสนอให้เรา คือแม้ว่าข้อมูลจะเหมือนกัน แต่ถ้าถูกนำเสนอด้วยวิธีต่างกัน เราก็อาจจะรู้สึกต่างกัน และตัดสินใจตามความรู้สึกได้

ผมยกตัวอย่างจอวิเศษที่แอปเปิ้ลพึ่งประกาศ (Pro Display XDR) ที่ประกาศว่าราคา $5,000 แต่ถ้าต้องการขาตั้งด้วยต้องจ่ายเพิ่ม $1,000 เทียบกับว่าถ้าประกาศว่าราคา $6,000 แต่ถ้าไม่เอาขาตั้งจะลดราคาไป $1,000 คนส่วนใหญ่จะพบว่าแบบที่สองฟังดูดีกว่ามากทั้งๆที่มูลค่าทางการเงินต่างๆเหมือนกันเปี๊ยบเลย

https://www.youtube.com/watch?v=h1NPovKgSTo

จากนั้นเด็กๆก็หัดวัดความยาวต่างๆเช่นขนาดกว้างxยาวของกระดาษ A4, ความยาวของท่อพลาสติกโค้งๆงอๆ, ความยาวระหว่างปลายนิ้วโป้งถึงปลายนิ้วชี้และถึงปลายนิ้วกลางเมื่อยึดเต็มที่, ส่วนสูง, ระยะระหว่างปลายนิ้วกลางทั้งสองข้างเมื่อเหยียดให้กว้างที่สุด, และความยาวระยะก้าวเดิน

การวัดขนาดกระดาษ A4 และท่อพลาสติกโค้งๆงอๆเป็นแบบฝึกหัดให้เด็กๆเห็นว่าตัวเลขที่เราวัดมีความไม่แน่นอนเสมอ ขึ้นกับวิธีวัดและความระมัดระวัง และเราสามารถเอาข้อมูลการวัดหลายๆอันมาหาค่าเฉลี่ยให้ได้คำตอบที่ใกล้ความจริงมากขึ้น ในอนาคตเราจะคุยกันเรื่องค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนกันครับ

การวัดขนาดต่างๆในร่างกายและก้าวเดินมีไว้เผื่อใช้เทียบวัดระยะต่างๆเมื่อเราไม่มีเครื่องมือวัดดีๆครับ เช่นเราสามารถเดินนับก้าวแล้วประมาณระยะทางทั้งหมดที่เราเดินได้ หรือใช้แขนหรือมือของเราวัดระยะสั้นๆได้ ในอนาคตเราจะพูดคุยกันเรื่องตรีโกณมิติอีกที

อัลบั้มบรรยากาศชั้นเรียนอยู่ที่นี่ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.