คุยกับเด็กๆเรื่องยาน Curiosity ทดลองเรื่องความยืดหยุ่น และเล่นของเล่นไจโรสโคปกับเด็กอนุบาล

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง”เล่นกับเครื่องทุ่นแรง”อยู่ที่นี่ครับ)

เมื่อวานนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ สำหรับเด็กประถม1-2 ผมเล่าเรื่องยาน Curiosity ที่ไปลงดาวอังคารเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สำหรับเด็กประถม 3-5 ผมก็เล่าเรื่องยาน Curiosity และเริ่มทำการทดลองเรื่องความยืดหยุ่น ส่วนเด็กๆอนุบาลเราก็ได้เล่นของเล่นไจโรสโคปกัน

สำหรับเรื่องยาน Curiosity ผมเอาวิดีโออนิเมชั่นการลงจอดของมันมาให้เด็กๆดู แล้วค่อยๆอธิบายว่าแต่ละขั้นตอนทำงานอย่างไร วิดีโอคืออันนี้ครับ:

ยาน Curiosity ถูกปล่อยจากโลกเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว เจ้ายานอวกาศมีจรวดที่ขับดันมันด้วยความเร็วสูงให้ออกไปนอกโลกแล้วตัวจรวดก็จะสลัดตัวเองตกลงมาบนโลก ปล่อยให้ส่วนยานอวกาศลอยไปในอวกาศด้วยความเฉื่อยและแรงโน้มถ่วงจากดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่างๆ จนกระทั่งแปดเดือนต่อมายานก็เข้าสู่บรรยากาศของดาวอังคาร

ตอนยานเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ความเร็วของยานจะเมื่อเทียบกับดาวอังคารจะประมาณ 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยานจะวิ่งผ่านบรรยากาศของดาวอังคารซึ่งมีความหนาแน่นน้อยกว่าโลกประมาณ 100 เท่าและประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 95% ส่วนหน้าของยานจะอัดอากาศจนเกิดความร้อนสูงประมาณ 1,000-2,000 องศาเซลเซียส อากาศทำให้ยานวิ่งช้าลงเรื่อยๆ  จากความเร็ว 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเหลือไม่ถึง 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เมื่อยานอยู่เหนือดาวอังคารประมาณ 10 กิโลเมตร ร่มชูชีพก็กางออกและเกราะกันความร้อนก็จะหลุดออกไป เรดาร์ภายในยานจะสำรวจพื้นที่ที่จะลง ยานก็จะวิ่งช้าลงเรื่อยๆจนเหลือ 300-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นส่วนร่มชูชีพก็จะหลุดออกไป ยานที่เหลือก็เคลื่อนที่ด้วยจรวดที่ติดอยู่ โดยวิ่งออกไปข้างๆหนีร่มชูชีพที่จะตกลงมาทับ

จรวดจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนไปยังเป้าหมายที่จะจอด จากนั้นยานก็ค่อยๆลดตัวลงสู่พื้นช้าๆ พอห่างจากพื้นสัก 20 เมตร ยานหกล้อก็ถูกปล่อยลงมาตามลวดสลิงยาว 7 เมตร จรวดก็ค่อยๆลดระดับลงช้าๆจนยานหกล้อแตะพื้น จากนั้นลวดสลิงก็จะขาดแล้วจรวดก็บินหนีไปตกที่อื่นห่างๆ สาเหตุที่ต้องใช้ลวดสลิงค่อยๆปล่อยก็เพราะว่าถ้าลงมาที่พื้นด้วยจรวดเลย ลมจากจรวดจะเป่าฝุ่นให้ฟุ้งไปหมด ทำให้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเสียหายได้

จากนั้นเจ้ายานหกล้อก็จะเริ่มสำรวจพื้นที่ดาวอังคารเพื่อศึกษาสภาพบรรยากาศ สภาพทางธรณีวิทยา รังสีต่างๆ รวมถึงร่องรอยสิ่งมีชีวิต ไปอีกประมาณสองปี

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถหาได้ที่เว็บของโครงการ และหน้าวิกิพีเดียนะครับ

สำหรับเด็กป.3-5 เรามีเวลาเหลือบ้าง จึงเริ่มทำการทดลองเรื่องความยึดหยุ่น โดยเอาหนังยางมาถ่วงด้วยน้ำหนักต่างๆแล้ววัดความยาวของมัน รวมถึงเอาไม้บรรทัดสเตนเลสมายึดติดกับโต๊ะแล้วถ่วงน้ำหนักต่างๆแล้วดูมุมที่ไม้บรรทัดงอลงด้วยครับ

วัดความยาวหนังยางเมื่อถ่วงน้ำหนักต่างๆครับ
วัดความยาวแบบนี้ครับ
ยึดไม้บรรทัดเหล็กเข้ากับโต๊ะ แล้วถ่วงน้ำหนักดูว่าไม้บรรทัดงอลงเท่าไร
เข็มแดงๆเป็นตัววัดมุมครับ
ตัวเหลืองๆเป็นที่ชั่งน้ำหนัก

ผลการทดลองที่ได้เป็นแบบนี้ครับ:

 
 
 
 
 
 

เราทำการทดลองเรื่องความยืดหยุ่นเพื่อในอนาคตเราจะประดิษฐ์ของเล่นคาตาพัลท์ (Catapult) กันครับ ธีธัชได้สร้างมาเล่นบ้างแล้วและได้เอาไปให้เพื่อนๆดูเพื่อเรียกน้ำย่อยด้วยครับ หน้าตาเป็นประมาณนี้ครับ:

 
 
 

ภาพบรรยากาศการเรียนและบันทึกของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

สำหรับเด็กๆอนุบาลสาม ผมเอาของเล่นที่เรียกว่าไจโรสโคปไปให้ทดลองกันครับ  ความจริงมันก็คือลูกข่างที่หมุนอยุ่ในกรอบที่มีขาตั้งนั่นเอง มันอาศัยหลักการที่ว่าของที่หมุนๆอยู่จะหมุนเหมือนเดิมถ้าไม่มีอะไรไปยุ่งกับมัน มันเกี่ยวกับความเฉื่อยประเภทหนึ่งที่เกี่ยวกับการหมุน ถ้าไปพยายามทำให้มันเอียงหรือเปลี่ยนทิศทางการหมุนมันจะไม่ค่อยยอมทำตาม (ผมได้ยกตัวอย่างเรื่องพวกนี้ไปในการสอนเรื่องการหมุนที่นี่ครับ) เด็กๆก็ตื่นเต้นกับของเล่นชิ้นนี้ใช้ได้เลย เชิญชมภาพและคลิปครับ:

 
 
 
 
 
 
 
 
ภาพอีกมากมายอยู่ที่นี่นะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.