วันนี้ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดอธิบายกล และหัดเล่นกล “หลวงพ่อดาร์ธเวเดอร์” ประถมต้นได้หัดทำเข็มทิศลอยน้ำ ประถมปลายเล่นกับโมเมนตัมเชิงมุมโดยกลิ้งให้แม่เหล็กกลมๆขนกันเฉียงๆแล้วหมุนอย่างรวดเร็ว เด็กอนุบาลสามได้หัดวางคลิปเหล็กหนึบกระดาษให้ลอยบนผิวน้ำด้วยแรงตึงผิวของน้ำ
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “เริ่มเรียนเรื่องแม่เหล็ก (ประถม), สังเกตการจมการลอย (อนุบาล)” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลเหล่านี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ อันแรกคือกลเสกโทรศัพท์เข้าขวด:
อันนี้คือเสกกาแฟให้เป็นเหรียญ:
อันสุดท้ายคือทำให้ผ้าพันคอหายไป:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
จากนั้นผมก็เล่นกลกับเด็กๆครับ ก่อนอื่นผมให้เด็กๆขึ้นมายืนกางแขนทั้งสองข้างออก แล้วยกขาข้างหนึ่ง แล้วผมก็กดแขนข้างหนึ่งลงโดยให้เด็กออกแรงต้านไว้ ซึ่งในครั้งแรกเด็กก็จะล้มลงอย่างง่ายดาย จากนั้นผมก็เอา “หลวงพ่อดาร์ธเวเดอร์” ให้เด็กกำไว้ในมือ แล้วยืนกางแขนเหมือนเดิมอีก แต่คราวนี้พอผมกดแขน เด็กก็สามารถกางแขนต้านทานแรงกดได้มากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด พอผมเอา “หลวงพ่อดาร์ธเวเดอร์” คืนแล้วเริ่มกดแขนใหม่ เด็กก็จะล้มลงอีก เด็กๆตื่นเต้นและงงมาก พยายามคิดว่ากลนี้ทำได้อย่างไร โดยเด็กๆมีการทดลองกำมือเปล่าๆ กำยางลบ กำดินสอ สลับมือที่กำ เพื่อดูว่าทำแบบไหนถึงจะยืนอยู่ได้ แต่ทำอย่างไรก็ตามถ้าไม่ได้กำ “หลวงพ่อดาร์ธเวเดอร์” เด็กๆก็จะไม่มีแรงต้านผมและล้มเสมอ เสมือนกับว่า”หลวงพ่อดาร์ธเวเดอร์”เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลให้มีแรง
“หลวงพ่อดาร์ธเวเดอร์”
แน่นอนครับ “หลวงพ่อดาร์ธเวเดอร์” ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เด็กๆมีแรงเยอะขึ้น สาเหตุที่แท้จริงก็คือเวลาผมกดแขนของเด็กๆลงนั้น ถ้าผมกดลงและเฉียงออกจากตัวเด็กเล็กน้อย เด็กๆก็จะเสียหลักล้มลงง่ายๆ ถ้าผมกดลงและเฉียงเข้าตัวเด็กเล็กน้อย แขนก็จะสามารถออกแรงต้านได้อย่างมากมายและเด็กก็ไม่ล้มลง
เด็กๆทำกันเองได้ครับ
สำหรับเด็กประถมปลาย ผมแจกแม่เหล็กกลมๆสองลูก แล้วเล่นกลิ้งให้มันชนกันเฉียงๆครับ พอมันดูดติดกันมันจะหมุนเร็วมาก:
ผมถามเด็กๆว่าเคยเห็นคนเล่นสเก็ตน้ำแข็งไหม เวลาเขาเริ่มหมุนตัวแขนขาเขาจะกางออก แล้วพอหุบแขนหุบขาเขาจะหมุนตัวเร็วขึ้นมากๆ อันนี้เป็นเรื่องเดียวกัน เกี่ยวกับปริมาณการหมุนที่เราเรียกว่าโมเมนตัมเชิงมุม ตอนแรกลูกบอลแม่เหล็กอยู่ห่างกันและวิ่งเฉียงๆเข้าหากันก็มีปริมาณการหมุนระดับหนึ่ง พอมันเข้ามาติดกันมันต้องหมุนเร็วขึ้นมากๆเพื่อชดเชยระยะห่างที่หดลงและให้คงปริมาณการหมุนเอาไว้ เรายังไม่เรียนรายละเอียดกันตอนนี้ แต่จะยกมาคุยเรื่อยๆเมื่อมีเรื่องเกี่ยวข้อง
ถ้าสนใจเรื่องสเก็ตและการหมุนลองดูวิดีโอสองอันนี้ได้ครับ:
สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมให้เล่นเรื่องต่อจากการจมการลอยครั้งที่ผ่านๆมา ผมสอนให้เด็กๆทำให้คลิปหนีบกระดาษลอยน้ำได้ ปกติถ้าเราเอาคลิปหนีบกระดาษไปใส่น้ำ มันจะจม แต่ถ้าเราค่อยๆระวังตอนวางให้มันค่อยๆกดผิดน้ำลงไปเบาๆทั่วๆกัน ผิวน้ำจะแข็งแรงพอที่จะยกคลิปให้ลอยอยู่ได้ ผิวของน้ำมีแรงตึงผิวทำให้มันคล้ายๆฟิล์มบางๆที่รับน้ำหนักได้บ้าง เด็กหลายๆคนเคยเห็นแมลงเช่นจิงโจ้น้ำวิ่งบนผิวน้ำอยู่แล้ว เด็กๆจึงเข้าใจเรื่องผิวน้ำรับน้ำหนักของได้เป็นปกติ
สำหรับวิธีลอยคลิปหนีบกระดาษง่ายๆก็มีอยู่หลายวิธี วิธีหนึ่งคือเสียสละคลิปหนีบกระดาษหนึ่งตัว เอามางอให้เป็นรูปตัว L เอามือเราจับด้านบนของตัว L แล้วใช้ด้านล่างของตัว L รองคลิปหนีบกระดาษอีกตัวไว้แล้วก็ค่อยๆเอาคลิปไปวางที่ผิวน้ำ พอวางได้ เราก็ค่อยขยับตัว L ออกเหลือแต่คลิปลอยอยู่ อีกวิธีหนึ่งก็คือฉีกกระดาษทิชชูให้ขนาดใหญ่กว่าคลิปนิดหน่อย รองคลิปไว้ แล้วค่อยๆลอยทั้งคลิปและกระดาษทิชชูที่รองอยู่ลงบนผิวน้ำ รอสักพักทิชชูก็จะดูดน้ำแล้วจมลงไป เหลือแต่คลิปหนีบกระดาษลอยอยู่ ผมเคยบันทึกวิธีทำเหล่านี้ไว้ในรายการเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:
พอเด็กๆรู้วิธีแล้วก็หัดทำกันครับ ทำสักพักก็ทำกันได้: