วิดีโอเร็วและช้า (Time-lapse & Slow Motion)

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ สำหรับบันทึกการสอนต่างๆในอดีตเข้าไปดูที่ http://atriumtech.com/sci_kids/ นะครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “วิธีมองเห็นอากาศด้วย Schlieren Optics การทดลองแรงโน้มถ่วงเทียม” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมครับ (อนุบาลสามบ้านพลอยภูมิติดธุระวันพ่อเลยไม่มีกิจกรรมครับ) วันนี้เด็กประถมต้นได้ดูวิดีโอเลี้ยงค้างคาวทารกเพื่อดูนิ้วมือค้างคาวที่ยาวเป็นโครงปีก และได้ดู “รถไฟ” ที่ทำจากถ่านไฟฉายแม่เหล็กและขดลวดทองแดง เด็กทั้งประถมต้นและปลายได้ดูวิดีโอเร็ว (time-lapse) และวิดีโอช้า (slow motion) เด็กๆได้เข้าใจว่า time-lapse เกิดจากการที่เราถ่ายภาพด้วยช่วงเวลาห่างๆแล้วมาฉายด้วยความเร็วปกติ 24-30 ภาพต่อวินาที ขณะที่ slow motion เกิดจากการที่เราถ่ายภาพเยอะๆ (เยอะกว่า 24-30) ในหนึ่งวินาทีแล้วมาฉายด้วยความเร็ว 24-30 ภาพต่อวินาทีครับ เราได้ทดลองถ่ายภาพสโลโมของคลื่นในขดสปริง ดูการสะท้อนของคลื่นในสปริง การตกของสปริง และเปรียบเทียบการกระเด้งของลูกบอลแบบต่างๆครับ

ผมให้เด็กๆประถมต้นดูวิดีโอน่ารักของลูกค้างคาว เพื่อสังเกตนิ้วมือและแขนของมันที่วิวัฒนาการเป็นปีกครับ:

ต่อไปก็ได้ดูวิดีโอนี้เพื่อให้เดาว่ามันคล้ายกับสิ่งที่เราเคยทดลองหรือเคยเห็นไหมครับ:

ตอนแรกผมและเด็กๆบางคนคิดว่ามันเกี่ยวกับโฮโมโพล่าร์มอเตอร์ที่เราเคยเล่นหรือเปล่าครับ แต่จริงๆดูในวิดีโอแล้วตัวถ่านไฟฉายไม่ได้หมุน การเคลื่อนทีจึงเกิดจากไฟฟ้าวิ่งผ่านขดลวดทองแดงทำให้เกิดแรงแม่เหล็กไฟฟ้าผลักถ่านไฟฉายติดแม่เหล็กให้วิ่งไปเรื่อยๆครับ

จากนั้นเด็กๆก็ได้ดูภาพนี้ครับ:

การเติบโตของสตรอเบอรี่

ให้เด็กๆทายว่าคืออะไร ส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าคือดอกสตรอเบอรี่เปลี่ยนกลายเป็นผลครับ

ผมถามเด็กๆว่าทำไมขบวนการที่ดอกกลายเป็นผลมันกินเวลาหลายสัปดาห์ เราทำอย่างไรถึงเห็นมันอย่างนี้ได้

พอผมอธิบายว่าภาพยนตร์ที่เราเห็นนั้นเกิดจากการเอาภาพหลายๆภาพมาให้เราดูเร็วๆ ประมาณ 24-30 ภาพต่อวินาที เด็กๆก็เริ่มมีไอเดียว่าเราเห็นสตรอเบอรี่ออกมาจากดอกได้เร็วเพราะอาจจะถ่ายรูปวันละครั้งแล้วเอามาเรียงกันดูเร็วๆก็ได้

ผมบอกว่าใช่แล้ว วิธีถ่ายรูปของที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงโดยที่เวลาระหว่างรูปนานกว่าตอนเอามาดูจะทำให้เราเห็นขบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ เช่นถ้าเราถ่ายรูปดอกไม้ทุกชั่วโมงเป็นเวลา 30 วัน เราจะได้ภาพดอกไม้ทั้งหมด 24 x 30 = 720 ภาพ ถ้าเราเอาภาพเหล่านี้มาฉาย 24 ภาพต่อวินาที เราก็จะได้ภาพยนตร์ยาว 30 วินาทีที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของดอกไม้ใน  30 วัน วิธีถ่ายของช้าๆให้ดูได้เร็วๆแบบนี้เรียกว่า  Time-lapse

ผมให้เด็กๆดูภาพยนตร์ Time-lapse เมืองกรุงเทพด้วยครับ:

ต่อไปผมก็ให้เด็กๆดูคลิปนี้ครับ:

 ในคลิปข้างบน เราเห็นเหตุการณ์ที่ปกติจะใช้เวลาน้อยมาก ค่อยๆเกิดช้าๆ ผมจึงถามเด็กว่าทำไมเราถึงเห็นอย่างนั้นได้ คราวนี้เด็กหลายคนโดยเฉพาะเด็กประถมปลายสามารถตอบได้ว่าเกิดจากการที่เราถ่ายรูปจำนวนมากๆในหนึ่งวินาทีแล้วมาแสดงทีละ 24-30 รูปต่อวินาที เช่นถ้าเราถ่ายรูปลูกบอล 240 รูปในหนึ่งวินาที แล้วเอามาแสดงทีละ 24 รูปต่อหนึ่งวินาที การเคลื่อนไหวต่างๆก็จะช้าลงสิบเท่า เทคนิคนี้เรียกว่า Slow Motion ครับ

 เราทดลองใช้กล้องในโทรศัพท์มือถีอถ่ายคลิป slow motion แบบ 240 รูปต่อวินาที (240 FPS) แล้วดูภาพ 24 ภาพต่อวินาทีเพื่อให้ทุกอย่างช้าลงสิบเท่าครับ เราทดลองดูการเคลื่อนที่ของคลื่นในสปริง เปรียบเทียบการกระเด้งของลูกบอลสี่อัน (ลูกเทนนิส ลูกสควอช ลูกยางใส และลูกหนังยาง) และดูการตกของสปริงครับ

ต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

4 thoughts on “วิดีโอเร็วและช้า (Time-lapse & Slow Motion)”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.