ผมมีลูกสามคนชื่อธีธัช (ธีธัช) ธัชธีญา (ธีญา) และธัญญา (ธัญญ่า) อายุ 11, 9, 7 ปีตามลำดับ เมื่อวันสองวันที่แล้วธัญญ่าเขียนรายการบนกระจกเพื่อเตือนใจตนเองดังนี้:
ภรรยาผมอธิบายไว้อย่างนี้ที่ Facebook เธอครับ:
ช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ แม่เปิดสนามรบกับธัญญ่า วันละ 2 เวลาเช้าเย็น (เพราะกลางวันไปโรงเรียนไม่งั้นก็คงมีอีกรอบ) แม่งัดทุกกระบวนท่า ทั้งไม้อ่อน ไม้แข็ง และมารยาหญิงแม่ ไม่มีวิธีไหนที่จะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ใช้ได้ทุกสถานการณ์ จำเป็นต้องปรับกระบวนท่ารับมือเธอไปเรื่อยๆค่ะ
แต่อย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากลูก 3 คน คือ ห้ามใช้อารมณ์! แม่เองที่ต้องคุมสติให้ได้ แม่อ้อเองไม่ได้ไปเจริญสติที่ไหนค่ะ แค่ไม่ปรี๊ดกับลูกก็เป็นความสำเร็จน้อยๆแล้วค่ะ เพราะถ้าเรามีสติเราจะวางแผนรับมือกับลูกจอมแสบได้ดี
ก็การเปิดสนามรบกับลูกแต่ละครั้ง..มีค่าใช้จ่ายเสมอนี่คะ ได้แก่ ความสุขรื่นเริงตอนนั้นล้มหายตายจากไปทันที ความหงุดหงิดที่ยังค้างอยู่ในใจเป็น After shock แล้วไหนจะพี่ธีธัชกับพี่ธีญาก็ต้องอยู่ในบรรยากาศมาคุด้วย รบทั้งทีต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ลูกต้องเรียนรู้อะไรซักอย่างให้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่เราเลือกค่ะ
ถ้าระเบิดอารมณ์ใส่ลูก..ลูกจะเรียนรู้แค่ว่า คราวหน้าอย่าทำอีกเพราะจะโดนแม่ดุ
ถ้าลงโทษ…ลูกเรียนรู้ว่า คราวหน้าอย่าทำให้แม่เห็นนะ หรือถ้าทำก็อย่าให้แม่จับได้
ถ้ายอมลูกเพื่อตัดความรำคาญ..ลูกเรียนรู้ว่า คราวหน้าทำอีกดีกว่า แม่เป็นทาสของเราแล้ว
จึงสำคัญมากที่แม่ต้องมีสติ เพื่อเลือกวิธีที่จะรับมือกับลูกตอนนั้น โดยต้องมุ่งแก้พฤติกรรมในระยะยาวค่ะ ซึ่งมันยากกว่าเยอะนี่คะ ไหนจะต้องปลูกสำนึกให้ลูกแยกแยะให้ได้ว่า พฤติกรรมไหนไม่ควรทำเพราะอะไร ต้องใช้เวลาอธิบาย ต้องใช้เวลานานกว่าจะปรับพฤติกรรมได้ จะพูดด้วยเทคนิคไหนลูกถึงจะเชื่อ โอย..บางทีเราถึงเลือกวิธีง่าย คือ หันไปดุเพื่อให้หยุดพฤติกรรมนั้นทันที แต่เชื่อเถอะค่ะ เดี๋ยวเธอก็ทำใหม่
กับธัญญ่า ใช้วิธีเดินหนีไม่ได้ผลเพราะมีคนโอ๋แน่ๆ ใช้วิธีลงโทษ..ก็ไม่เวิร์คกับหมูไม่กลัวน้ำร้อนอย่างธัญญ่า ใช้วิธีดุ..เธอก็ท้าทายกลับมา วิธีที่ใช้บ่อยๆก็คือ ปล่อยให้ได้รับผลของการกระทำ
ถ้าไม่วางแผนทำการบ้านให้ในช่วงวันหยุดให้ดี..วันจันทร์เดินไปบอกคุณครูเองนะคะ ไม่ซ้อมเปียโน..ก็ส่งเพลงคุณครูไปทั้งอย่างนั้นแหละ ถึงเวลาแปรงฟันแล้วยังจะเล่นต่อ..ก็แปรงเองแล้วกัน ฟลอสเองด้วยนะ! ไม่เก็บชิ้นงานให้เป็นระเบียบแล้วหาไม่เจอ..ทำใหม่ทั้งหมดแล้วกันค่ะ
อีกวิธีที่ใช้บ่อยคือ บอกความรู้สึกของเราให้ลูกฟัง ก็แม่ก็เป็นมนุษย์นะคะ โกรธเป็นค่ะ หงุดหงิดได้ แต่ก็ต้องบอกเหตุผลให้ลูกเข้าใจ แม่โกรธเพราะแม่เรียกไปแล้ว 3 ครั้งแต่หนูเลือกที่จะเล่นต่อ แม่หงุดหงิดเพราะหนูใช้อารมณ์และพูดไม่ดีกับแม่ ความอดทนแม่หมดแล้วล่ะ..หนูต้องทำงานต่อด้วยตัวเอง แม่เหนื่อยเพราะหนูดื้อและตั้งใจที่จะกวนอารมณ์แม่ บรรยายและพรรณาเข้าไปค่ะ เผื่อลูกจะเห็นใจ หรืออย่างน้อยลูกก็จะเรียนรู้ว่าถ้าทำตัวแบบนี้แล้วแม่รู้สึกอย่างไร
วิธีที่เพิ่งค้นพบคือ แม่ดราม่ากลับบ้าง ล่าสุด…ใช้น้ำตาแม่เป็นพร็อพประกอบการอธิบายกันเลยค่ะ จู่โจมเข้าที่สำนึกของธัญญ่าได้ผล แต่คงใช้ไม่ได้บ่อย เดี๋ยวไม่ขลังค่ะ
เปลี่ยนกระบวนท่าไปเรื่อยๆค่ะ แล้ววันหนึ่งสิ่งที่เราพยายามปลูกฝังมันจะค่อยๆงอกงามให้เราเห็นค่ะ อย่าง “กด”เกณฑ์ ที่ธัญญ่าเขียนขึ้นมา เป็นสิ่งที่เค้าเขียนขึ้นมาเอง โดยแม่อ้อไม่ได้บอกค่ะ คือ ไม่ได้บอกให้ตั้งกฏ ไม่ได้บอกให้เขียน
มันหมายความว่าสิ่งที่เราสอน เด็กได้เรียนรู้ทั้งหมด รู้ว่าสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำคืออะไร เพียงแต่ด้วยความเป็นเด็กที่ยังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ทำให้เค้าเลือกทางที่อารมณ์นำพาไปเสมอ ดังนั้นพ่อแม่จงเลือกทางที่ยากซึ่งดีต่อเด็กในระยะยาวไว้นะคะ และจงมีสติค่ะ!
สู้ๆค่ะ คุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน
ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านโชคดีมีกำลังใจครับ 😀
อ่านแล้วโดนเลยค่ะ นี่เป็นแบบนี้ทุกวันมาสองปีละค่ะ
กับประโยคนี้ “ก็การเปิดสนามรบกับลูกแต่ละครั้ง..มีค่าใช้จ่ายเสมอนี่คะ ได้แก่ ความสุขรื่นเริงตอนนั้นล้มหายตายจากไปทันที ความหงุดหงิดที่ยังค้างอยู่ในใจเป็น After shock แล้วไหนจะพี่ธีธัชกับพี่ธีญาก็ต้องอยู่ในบรรยากาศมาคุด้วย รบทั้งทีต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ลูกต้องเรียนรู้อะไรซักอย่างให้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่เราเลือกค่ะ”
โดนสุดๆๆค่ะ
ตอนนี้ จะบอกลูกชายวัย 5 ขวบว่า ก่อนลูกจะปรี๊ด หรือพูดทำไรที่ไม่ดี ให้คิดถึงผลที่จะตามมาด้วย เพราะอะไรที่ไม่ได้ ก็คือไม่ได้ ร้องและโวยวายไม่มีประโยชน์ แล้วผลที่ตามมาคือแม่โมโห และบทลงโทษที่แย่ๆจะเพิ่มขึ้น ซึ่งแม่ไม่อยากทำแต่ถ้าลูกไม่คิดก่อน และทำอะไรแย่ๆ ลูกต้องรับผลของการกระทำที่จะได้รับ
คือไม่ได้ขู่นะคะ แค่พูดอธิบายให้เค้าฟังเยอะๆ อ่ะค่ะ
รู้สึก อาทิตย์นี้ได้ผล
ยินดีด้วยครับ 🙂
อยากตาม fb คุณอ้อเลยค่ะ แต่หาไม่เจอ ขออนุญาติแชร์นะค่ะ
แชร์เต็มที่เลยครับ 🙂