กลนิ้วนางจอมดื้อและความเฉื่อยของเหรียญ

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “กลใช้”พลัง”แบบเจได เข้าใจตัวเลขใหญ่ๆ Knights of the Green Laser” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปเล่นกับเด็กๆอนุบาลสามอนุบาลบ้านพลอยภูมิเป็นครั้งสุดท้ายของปีการศึกษา วันนี้เราเล่นกลนิ้วนางจอมดื้อกับเล่นกับความเฉื่อยของเหรียญกันครับ

สำหรับนิ้วนางจอมดื้อ เราสังเกตว่าถ้าเรากำมือเป็นกำปั้นแต่ให้มีนิ้วเหยียดตรงออกมานิ้วเดียวแล้วเอากำปั้นไปติดกับพื้น เราจะสามารถขยับนิ้วที่เหยียดนั้นให้สูงขึ้นมาจากพื้นได้ง่ายๆทุกนิ้ว ยกเว้นในกรณีที่นิ้วที่เหยียดคือนิ้วนาง วิธีเล่นก็คือให้เด็กๆทดลองกำมือแต่เหยียดนิ้วนางออกมาแล้ววางกำปั้นติดพื้น แล้วให้ขยับยกนิ้วนาง เด็กๆส่วนใหญ่จะขยับไม่ได้  อีกวิธีคือให้ประสานนิ้วของทั้งสองมือเข้าด้วยกันแต่ให้นิ้วนางทั้งสองเหยียดตรงประกบกัน แล้วพยายามกระดิกนิ้วนางให้ห่างออกจากกัน

นิ้วติดพื้นอย่างนี้ครับ แล้วพยายามยกนิ้วนางขึ้นมา
ประสานมือกันให้นิ้วนางเหยียดและประกบกันไว้ แล้วพยายามขยับแยกนิ้วนางออกจากกันครับ  

สำหรับกลความเฉื่อยของเหรียญ เราเอากระดาษขนาดแบ็งค์ยี่สิบมาวางบนปากขวดแก้ว แล้วเอาเหรียญสักสองสามเหรียญทับไว้ แล้วให้เด็กๆพยายามเอากระดาษออกมาโดยไม่จับเหรียญ และให้เหรียญอยู่บนขวดเหมือนเดิมครับ

หลังจากเด็กๆงงสักพักเราก็เฉลยครับ เราเอานิ้วชี้และนิ้วกลางไปแตะน้ำให้ชื้นๆนิดหน่อย แล้วใช้สองนิ้วนั้นตีเร็วๆที่กระดาษ กระดาษจะติดนิ้วออกมาอย่างรวดเร็ว แต่เหรียญมีความเฉื่อยอยู่ไม่อยากขยับไปไหน จึงอยู่ที่ปากขวดเหมือนเดิม คลิปวิธีทำครับ:

สำหรับเรื่องความเฉื่อย ผมเคยอธิบายให้เด็กประถมฟังไปหลายครั้งแล้วและบันทึกไว้ใน blog นี้นะครับเช่นที่  “ความเฉื่อยครองโลก” เลยขอคัดลอกเอามาใช้ที่นี่อีกนะครับ:

“ความเฉื่อย” หรือ Inertia (อ่านว่า อิ-เนอร์-เชียะ) เป็นคุณสมบัติของวัตถุทุกๆอย่างครับ เป็นคุณสมบัติของวัตถุต่างๆที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของมัน ถ้าอยู่เฉยๆก็จะอยู่เฉยๆไปเรื่อยๆจนมีอะไรมาทำอะไรกับมัน ถ้าเคลื่อนที่อยู่แล้วก็ไม่อยากหยุด ไม่อยากวิ่งเร็วขึ้น ไม่อยากเลี้ยว ถ้าจะทำให้หยุด หรือเร็วขึ้น หรือเลี้ยว ต้องใช้แรงมากระทำกับมัน

เราเรียกปริมาณความเฉื่อยของวัตถุแต่ละชิ้นว่า “มวล” ของวัตถุ บนโลกถ้าวัตถุไหนมีมวลมาก นำ้หนักของมันก็มากตาม แต่ในอวกาศไกลๆจากโลก แม้ว่าวัตถุนั้นจะมีน้ำหนักน้อยมากๆ (เพราะน้ำหนักคือแรงดึงดูดจากโลกมีค่าน้อยลงเมื่อห่างจากโลก) มวลหรือความเฉื่อยของมันก็ยังมี และทำให้วัตถุไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลงการหยุดนิ่งหรือการเคลื่อนที่ของมัน ถ้าจะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีแรงอะไรไปผลักดันดูดดึงมัน

วัตถุที่มวลมาก ความเฉื่อยก็จะมาก ทำให้ต้องใช้แรงมากในการเร่งหรือหยุดหรือเลี้ยววัตถุเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้รถบรรทุกสิบล้อจึงเร่งให้มีความเร็วง่ายๆเหมือนรถจักรยานยนต์ไม่ได้ รวมถึงใช้ระยะทางในการเบรคให้หยุดก็มากกว่า

ต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.