ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมต้นได้เข้าใจหลักการปืนใหญ่สูญญากาศ เด็กประถมปลายได้ดูการเพิ่มของประชากรเริ่มตั้งแต่ 100,000 ปีก่อนจนถึงอีก 80 ปีข้างหน้า และได้ดูคลิปเครื่องบินที่ไม่มีปีกแต่ใช้ถังไก่ KFC หมุนๆสร้างแรงยก เด็กทั้งประถมต้นและประถมปลายเห็นการเจาะลูกโป่งด้วยเข็ม 1 เล่มและเข็ม 36 เล่ม ดูว่าแบบไหนเจาะยากกว่า (ใช้แรงกดเยอะกว่ากัน) เด็กอนุบาลสามได้เล่นเสือไต่ถังที่เอาลูกแก้ววิ่งในภาชนะกลมๆ อาศัยการเหวี่ยงให้ลูกแก้ววิ่งตามขอบภาชนะ
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “ลูกโป่งใหญ่ VS. ลูกโป่งเล็ก การแกว่งของลูกตุ้มแม่เหล็ก กลความดันอากาศ” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
สำหรับประถมต้น ผมวาดรูปขวดและท่อที่ถูกดูดอากาศออกให้อากาศข้างในมีน้อยๆเป็นสุญญากาศ แล้วถามเด็กๆว่าถ้าเปิดขวดหรือท่อแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เด็กๆตอบได้ว่าอากาศจากภายนอกจะวิ่งเข้าไป เด็กๆจำการทดลองเรื่องความดันอากาศในอดีตได้ครับ
จากนั้นผมให้เด็กๆดูวิดีโอนี้ครับ เป็นปืนใหญ่สุญญากาศ:
เด็กๆตื่นเต้นที่อากาศที่วิ่งเข้าไปในท่อสุญญากาศสามารถดันกระสุนให้วิ่งไปได้อย่างรวดเร็วแล้วชนแตงโมระเบิดครับ
สำหรับเด็กประถมปลาย ผมถามเด็กๆว่ามีคนบนโลกประมาณกี่คน เด็กๆเดาว่าแสนล้าน หรือล้านล้านคนครับ ผมเลยถามว่าประเทศไทยมีคนกี่คน เด็กบางคนตอบได้ว่าประมาณ 70 ล้านคน ผมถามต่อว่าจำนวนประเทศในโลกมีกี่ประเทศ เด็กๆเดาว่าประมาณร้อยสองร้อยประเทศ ผมบอกว่าเราเดาจำนวนคนบนโลกว่าจำนวนคนไม่น่าจะถึงแสนล้านนะ เพราะถ้าเดาว่าจำนวนประเทศมี 100-200 ประเทศ และจำนวนคนเฉลี่ยต่อประเทศเป็นหลัก 10-100 ล้านแบบประเทศไทย จำนวนคนบนโลกน่าจะประมาณ 1,000-20,000 ล้านคน แล้วผมก็บอกเด็กๆว่าจำนวนคนบนโลกตอนนี้จะมีประมาณ 7,000 ล้านคนครับ จากนั้นผมก็ให้เด็กๆดูจำนวนคนในประเทศต่างๆจากเว็บ Worldometers พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 20 พอดีครับ:
ผมให้เด็กๆดูวิดีโอนี้เกี่ยวกับการเพิ่มของประชากร และจำนวนประชากรในที่ต่างๆบนโลกครับ:
จำนวนคนพึ่งมาเพิ่มมากๆในร้อยสองร้อยปีที่แล้วนี่เองครับ
จากนั้นผมถามเด็กๆประถมปลายว่าจำได้ไหมเราเคยเล่นถ้วยพลาสติกร่อนเพราะการหมุนของมัน เด็กๆจำได้ ผมเลยให้เด็กๆดูคลิปที่มีคนใช้หลักการเดียวกันสร้างเครื่องบินบังคับที่ไม่มีปีก แต่ใช้ถังไก่ KFC หมุนๆให้เกิดแรงยกครับ:
สำหรับเด็กทั้งประถมต้นและปลาย เราลองกดลูกโป่งด้วยเข็มหนึ่งเล่ม และเข็มหลายๆเล่มครับ พบว่ากดด้วยเข็มหลายๆเล่มแตกยากกว่ามาก เราลองวัดน้ำหนักที่กดโดยเอาเข็มตั้งไว้บนตาชั่ง แล้วเอาลูกโป่งกดทบลงไปแล้วเราก็ดูว่าน้ำหนักกดที่ตาชั่งเท่ากับเท่าไรครับ:
ผมลองให้เด็กเอามือแตะเข็มแทนลูกโป่งด้วยครับ ทุกคนรู้สึกได้ว่าเวลามีเข็มเยอะๆแล้วไม่เจ็บเลย เด็กๆอธิบายได้ว่าเวลามีเข็มเยอะๆมันจะช่วยกันแบ่งน้ำหนักที่กดลงไป แรงกดแต่ละเข็มก็น้อยลง ลูกโป่งเลยแตกยากขึ้นครับ
สำหรับเด็กอนุบาล 3/1 ผมสอนให้เล่นของเล่นตระกูลเสือไต่ถังครับ เอาลูกแก้วกลมๆไปใส่ใว้ในกาละมังกลมๆ หรือในขวดกลมๆ แล้วเหวี่ยงๆให้ลูกแก้ววิ่งรอบๆภายในภาชนะ เมื่อหยุดแกว่ง ลูกแก้วก็ยังจะวิ่งไปรอบๆอีกสักพักหนึ่งครับ ถ้าเราหมุนเร็วเกินลูกแก้วจะกระเด็นออกจากกาละมังได้ ให้เด็กๆสังเกตว่าเมื่อลูกแก้วหลุดออกมา มันเคลื่อนที่อย่างไร (วิ่งเป็นเส้นตรงหรือวิ่งโค้งๆ? วิ่งไปทิศทางไหน?) เมื่อลูกแก้ววิ่งเร็วขึ้นมันขึ้นมาสูงกว่าหรือต่ำกว่า ผมเคยบันทึกวิธีเล่นไว้ในอดีตแล้วในคลิปนี้ครับ:
เมื่อเด็กๆรู้วิธีเล่นแล้ว ก็แยกย้ายกันหัดเล่นเองครับ: