ขนาดของอากาศร้อนอากาศเย็น ความดันและความเร็วอากาศ กลน้ำไม่หก

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมต้นได้พยายามเดาว่ากลสองสามอันเป็นอย่างไร ได้สังเกตการขยายตัวและหดตัวของอากาศในขวดพลาสติกปิดเมื่ออากาศร้อนและเย็น เด็กประถมปลายได้ดูคลิปการจับแมลงมากินเป็นอาหาร (เป็นก้อนๆคล้ายเบอร์เกอร์) ได้ทดลองเป่าลมเข้าถุงพลาสติกแบบเอาปากจ่อและเป่าจากไกลๆ พบว่าเป่าจากไกลๆจะพาอากาศรอบๆมาด้วยทำให้เป่าเร็วขึ้น เนื่องจากหลักการที่ว่าบริเวณไหนลมวิ่งเร็ว ความดันอากาศแถวนั้นจะต่ำ ทำให้อากาศจากที่อื่นที่ความดันสูงกว่าวิ่งเข้ามาด้วย เด็กอนุบาลสามได้หัดเล่นกลน้ำไม่หกโดยเอาแก้วใส่น้ำแล้วเอาแผ่นพลาสติกหรือตะแกรงมีรูปิดปากแก้วแล้วคว่ำแก้ว พบว่าน้ำไม่หกออกมาเพราะความดันอากาศและแรงตึงผิวของน้ำ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “เปิดเทอมใหม่เราเริ่มด้วยภาพลวงตา” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมต้น ผมให้ดูกลสามอันแรกในคลิปข้างล่างนี้ครับ ให้ดูเฉพาะส่วนเล่นกลก่อนแล้วหยุดคลิปไว้ยังไม่ดูเฉลย ให้เด็กๆเดากันว่ากลแต่ละอันทำอย่างไร ให้เด็กๆฝึกคิดและกล้าเดาครับ พอทายกันเยอะๆแล้วก็ค่อยดูเฉลยกัน:

https://www.youtube.com/watch?v=qwpxBeoWqjo

จากนั้นก็ให้เด็กดูของแปลกๆครับ ในแอฟริกามีแมลง (midge) หน้าตาคล้ายๆยุงแต่ไม่กัดคนจำนวนเยอะมาก:

ชาวบ้านเลยไปจับกันด้วยหม้อหรือกระทะชุบน้ำหรือน้ำมัน แล้วเอามาทอดกินเป็นแหล่งโปรตีนซะเลย

จากนั้นก็มีกิจกรรมดูกันว่าเมื่ออากาศร้อน มันจะขยายตัว และเมื่ออากาศเย็นมันจะหดตัวครับ เราเล่นด้วยขวดพลาสติกใส่น้ำร้อนรอสักครึ่งนาทีแล้วปิดฝาให้แน่นครับ เรารอเพื่อให้อากาศได้รับความร้อนจากน้ำร้อนแล้วขยายตัวล้นออกไปจากขวดบ้าง พอปิดฝาให้แน่นแล้วรอต่อไปให้อากาศเย็นลง มันจะหดตัวแล้วดึงให้ขวดยุบลงมาครับ ถ้าน้ำยังร้อนอยู่แล้วเราเขย่า อากาศจะร้อนตามและขยายตัว ดันให้ขวดป่องอีกครับ ทำสลับกันไปมาได้ เล่นเป็นกลก็ได้ครับ ดูในคลิปนะครับ:

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้ดูคลิปเบอร์เกอร์แมลงเหมือนประถมต้น แล้วก็ทำการทดลองกันครับ ผมให้เด็กๆเป่าลมใส่ถุงพลาสติกบางๆ (อย่างที่มีห่อผักผลไม้ในห้างสรรพสินค้าเช่นท๊อปส์) โดยให้เอาปากจ่อกับถุงแล้วนับว่าเป่ากี่ครั้งถุงถึงจะโป่ง เป่ากันใหญ่แบบนี้ครับ:

พอเป่าแบบปากติดถุงเสร็จ ก็ให้ลองเป่าใหม่โดยเป่าห่างๆจากปากถุงมาสักหน่อย สัก 1 ฟุตก็ได้ครับ ปรากฎว่าถุงโป่งเร็วกว่ามาก (เป่าติดปากถุงอาจจะเป่า 3-4 ครั้ง เป่าห่างจากปากถุงเป่าครั้งเดียว)

ผมก็ให้เด็กๆเดาว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ครับ ฝึกให้เด็กๆกล้าคิดกล้าเดาครับ

หลังจากเด็กๆเดาเสร็จ ผมก็เฉลยว่าเวลาลมวิ่งเร็วๆ ความดันอากาศแถวนั้นมันจะต่ำกว่ารอบๆ ทำให้อากาศรอบๆที่ความดันสูงกว่าไหลเข้ามาแถวนั้น แล้วก็วิ่งตามสายลมไป ทำให้ปริมาณลมที่วิ่งไปข้างหน้ามากกว่าลมที่ออกมาจากการเป่าด้วยปากโดยตรงครับ

หลักการเดียวกันสามารถใช้สูบน้ำขึ้นมาได้ด้วยครับ ตอนผมเด็กๆจะมีกระบอกฉีดยาฆ่าแมลงที่ใช้หลักการนี้ ผมจำลองด้วยหลอดกาแฟครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสามทับสอง โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมให้ทดลองหัดเล่นกลน้ำไม่หกจากแก้วและน้ำไม่ผ่านตะแกรงครับ

วิธีทำกลน้ำไม่หกจากแก้วก็คือเอาแก้วใส่น้ำ เอาแผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งเรียบๆมาปิด แล้วกลับแก้วให้คว่ำลง แผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งที่ปิดไว้ก็จะติดอยู่และน้ำก็ไม่หกจากแก้วครับ:

สำหรับกลน้ำไม่ไหลผ่านตะแกรง เราเอาตะแกรงร่อนแป้งที่เป็นรูๆมาให้เด็กๆทุกคนดูว่ามีรู เทน้ำใส่ก็ไหลผ่าน เป่าก็มีลมผ่าน แล้วเอาน้ำใส่แก้ว เอาตะแกรงวางข้างบน เอามือปิดด้านบนของตะแกรงให้คลุมปากแก้วด้านล่างไว้ แล้วพลิกเร็วๆให้แก้วใส่น้ำคว่ำอยู่ด้านบนตะแกรง เราจะพบว่าน้ำในแก้วไม่ไหลผ่านตะแกรงลงมาครับ ทั้งนี้ก็เพราะน้ำที่ติดกับตะแกรงมีแรงตึงผิวไม่แตกออกเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ ทำให้ความดันอากาศภายนอกต้านไว้ไม่ให้น้ำไหลออกมาครับ ผมเคยทำคลิปวิธีทำไว้ที่ช่องเด็กจิ๋วและดร.โก้ครับ:

เด็กๆเล่นกันใหญ่ครับ (สีฟ้าๆคือตะแกรงพลาสติกนะครับ):

กลทั้งสองแบบมีหลักการคล้ายกันที่ว่าอากาศภายนอกแก้วมีความดันมากพอที่จะรับน้ำหนักน้ำไม่ให้หกออกมาครับ ในกรณีตะแกรงจะใช้แรงตึงผิวของน้ำรับแรงจากความดันอากาศแทนแผ่นพลาสติกในอีกกรณีหนึ่งครับ

One thought on “ขนาดของอากาศร้อนอากาศเย็น ความดันและความเร็วอากาศ กลน้ำไม่หก”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.