Category Archives: สอนเด็กๆ

วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep.1 ที่อยู่ของเราในจักรวาล

วันนี้เราคุยกันผ่าน Google Meet หลังจากเด็กๆได้ไปดูสารคดี Cosmos ตอนที่ 1 ที่บ้านระหว่างสัปดาห์ที่แล้ว (ตอน Standing Up in The Milky Way)

หลักการสำคัญทางวิทยาศาสตร์คือ “Test ideas by experiment and observation, build on those ideas that pass the test, reject the ones that fail, follow the evidence wherever it leads and question everything.” หรือ “ทดสอบแนวคิดโดยการทดลองและการสังเกต ต่อยอดแนวคิดที่ผ่านการทดสอบแล้ว ปฏิเสธแนวคิดที่ล้มเหลว ติดตามข้อพิสูจน์ไม่ว่ามันจะนำไปที่ไหนก็ตาม และตั้งคำถามทุกอย่าง (อย่าเชื่อง่าย)” หลักการนี้ทำให้เราเข้าใจความจริงว่าธรรมชาติทำงานอย่างไรได้มากขึ้นเรื่อยๆ

เราอยู่บนโลกซึ่งเป็นดาวเคราะห์เล็กๆที่อยู่ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์หนึ่งในดาวนับแสนล้านดวงในกาแล็กซี่ทางช้างเผือก ทางช้างเผือกเป็นหนึ่งในนับแสนล้านกาแล็กซี่ที่อยู่ในจักรวาลที่เราสังเกตเห็น

รู้จักการวัดระยะทางเป็นปีแสง ซึ่งเท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางในสุญญากาศเป็นเวลาหนึ่งปี เท่ากับประมาณ 10 ล้านล้านกิโลเมตร (แสงเดินทางได้ประมาณ 3 แสนกิโลเมตรในหนึ่งวินาที และเป็นความเร็วสูงสุดของการเคลื่อนที่เท่าที่เรารู้ในจักรวาลเรา)

อายุจักรวาลประมาณ 13,800 ล้านปี และเราพยายามเข้าใจเวลายาวๆโดยบีบให้เวลาทั้ง 13,800 ล้านปีมาอยู่ในปฏิทินปีเดียว โดยให้วันที่ 1 มกราคือจุดเริ่มต้นของจักรวาลของเรา และเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคือปัจจุบัน วิธีนี้เรียกว่า Cosmic Calendar ด้วยวิธีนี้ 1 วันในปฏิทินเท่ากับประมาณ 40 ล้าน ปี 1 เดือนในปฏิทินเท่ากับประมาณพันล้านปี ด้วยอัตราส่วนในปฏิทินมนุษย์พึ่งเริ่มเขียนหนังสือสิบกว่าวินาทีก่อนเที่ยงคืนครับ (ลองกดเข้าไปดูเหตุการณ์สำคัญต่างๆว่าอยู่ในปฏิทินวันไหนนะครับ เข้าไปที่เว็บเต็มของเขาเพื่อดูรายละเอียดได้ด้วยครับ)

ลิงก์แนะนำ ฝึกภาษา สะสมความรู้รอบตัว เกี่ยวกับ episode นี้:

1. Cosmic Calendar: http://www.cosmiccalendar.net กดดูรายละเอียดประวัติจักรวาลเรา

2. Light seconds, light years, light centuries: How to measure extreme distances:

3. Distances: Crash Course Astronomy #25:

4. ภาพ Hubble Deep Fields ภาพถ่ายกาแล็กซีนับพันที่อยู่ในพื้นที่บังได้ด้วยเม็ดข้าวสารที่ปลายนิ้ว: https://hubblesite.org/contents/articles/hubble-deep-fields

5. How we know the Universe is ancient:

6. Professor Dave Explains astronomy playlist สำหรับค่อยๆดูสะสมไปเรื่อยๆ: https://www.youtube.com/watch?v=i8U9ZjRXClI&list=PLybg94GvOJ9E9BcCODbTNw2xU4b1cWSi6

วิทย์ม.ต้น: เกริ่นถึงวิทยาศาสตร์

วันนี้คุยกับเด็กๆมัธยมต้นเรื่องวิทยาศาสตร์ เขียนสรุปไว้นิดนึงครับ

อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญของวิทยาศาสตร์คือ

1. วิทยาศาสตร์คือกระบวนการคิด ตรวจสอบ พยายามเข้าใจความจริงต่างๆรอบตัว

2. มนุษยชาติพัฒนาอย่างรวดเร็วเมื่อตระหนักว่าความรู้ความเชื่อต่างๆที่มีอาจจะผิด แล้วหาทางแก้ว่าทำอย่างไรจะรู้ความจริง จะใกล้ความจริงมากขึ้นอีก พบว่าการคิดแบบวิทยาศาสตร์ใช้ได้ผลดี

3. คิดแบบวิทยาศาสตร์คือ พยายามอธิบายสิ่งที่ไม่รู้ด้วยการเดา-หาทางตรวจสอบการเดาของเราด้วยการทดลองหรือการสังเกต-พยายามหาว่าการเดาของเราผิดได้อย่างไร-เปลี่ยนการเดาหรือคำอธิบายเมื่อมันถูกแย้งโดยการทดลองหรือการสังเกตที่มีคุณภาพ-ทำต่อไปเรื่อยๆสำหรับคำอธิบายที่ยังไม่ดีพอ

4. ความรู้ที่เราสะสมด้วยขบวนการทางวิทยาศาสตร์จะ _ผิด_ เสมอ แต่จะผิดน้อยลงเรื่อยๆเมื่อเรารู้ตัวว่าผิดตรงไหน แล้วหาทางเข้าใจให้ดีขึ้น

ยกตัวอย่าง astrology (โหราศาสตร์) และ astronomy (ดาราศาสตร์) ที่มีจุดเริ่มเดียวกันเมื่อหลายพันปีที่แล้ว เวลาผ่านไปถึงปัจจุบัน โหราศาสตร์ไม่ได้พัฒนาความถูกต้องขึ้นเลย แต่ดาราศาสตร์ทำให้เราส่งยานอวกาศ หรือตรวจสอบการชนกันของหลุมดำได้

วิทย์ม.ต้น: รู้จักและเล่น Van de Graaff Generator และ Stirling Engine

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1.รู้จักเครื่องสร้างไฟฟ้าสถิตแรงดันสูงที่เรียกว่า Van de Graaff generator ซึ่งผลิตไฟฟ้าสถิตด้วยการเสียดสีระหว่างสายพานและแกนหมุน แนะนำให้ดูลิงก์เหล่านี้ครับ:

Van de Graaff Generator: Hints, Demos, & Activities

2. รู้จัก Triboelectric series ที่ไว้ดูว่าเอาวัสดุอะไรมาถูกันแลัวจะมีไฟฟ้าสถิตมากๆ

3. รู้จักเครื่องจักรที่ทำงานด้วยความร้อน อาศัยอุณหภูมิที่ต่างกันทำให้อากาศขยายตัวและหดตัวสลับกันไป เปลี่ยนเป็นการหมุนได้ เรียกว่าเครื่องจักรสเตอร์ลิ่ง (Stirling engine)

มันเป็นอุปกรณ์ที่อาศัยหลักการที่ว่าก๊าซขยายตัวเมื่อร้อนและหดตัวเมื่อเย็น ถ้าทำให้ก๊าซขยายตัวและหดตัวเป็นจังหวะต่อเนื่องกันไป ก็สามารถเอามาทำให้ลูกสูบขยับและใช้งานได้ เครื่องจักรตระกูลนี้ถูกประดิษฐ์เมื่อประมาณปีค.ศ. 1816 โดย Robert Stirling ครับ

เครื่องจักรประเภทนี้จะต้องมีส่วนหนึ่งที่ร้อนกว่าอีกส่วนหนึ่งเพื่อให้ก๊าซได้รับความร้อนจากส่วนที่ร้อนแล้วขยายตัว แล้วไปคายความร้อนที่ส่วนที่เย็นกว่า แล้วก๊าซจะได้หดตัว แล้วก๊าซก็ต้องไปรับความร้อนจากส่วนที่ร้อนใหม่ เป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆครับ

ดูคลิปอธิบายการทำงานครับ:

เมื่อก่อนตอนยังไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้า เจ้าพวกนี้จะเป็นเครื่องจักรทำงานให้คนเช่นเป็นเครื่องสูบน้ำครับ ในปัจจุบันก็มีใช้อยู่เช่นในเรือดำน้ำบางชนิดเพื่อปั่นไฟเข้าแบตเตอรี่สำหรับขับเคลื่อน หรือบางที่ก็ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์มาป้อนเข้าเจ้าเครื่องนี้ ให้มันหมุนปั่นไฟให้

4. ลิงก์แนะนำครับ:

5. บรรยากาศกิจกรรมครับ:

กิจกรรมวิทย์ม.ต้น รู้จักและเล่น Van de Graaff generator และ Stirling engine

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, March 23, 2021