Category Archives: General Science Info

ลิงก์เรื่องการขาดแคลนน้ำจืด

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องการขาดแคลนน้ำจืด เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. แม้ว่าผิวโลกจะถูกปกคลุมด้วยน้ำถึงประมาณ 2/3 หรือ 70% แต่ปริมาณน้ำจริงๆไม่ได้มากมายอะไรเมื่อเทียบกับขนาดโลก มหาสมุทรมีความลึกเฉลี่ย 4 กิโลเมตร (ลึกสุดประมาณ 10 กิโลเมตร) ถ้าจำลองลูกโลกให้มีเป็นลูกกลมๆสูงเท่าๆกับคน มหาสมุทรจะลึกแค่ไม่ถึง 1 มิลลิเมตร
  2. น้ำ 97% เป็นน้ำเค็ม 2% เป็นน้ำแข็ง 1%เป็นน้ำจืดที่คน พืช สัตว์บกใช้ในการดำรงชีวิต
  3. จำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และฤดูกาลที่แปรปรวนจากภาวะโลกร้อนทำให้หลายๆแห่งบนโลกขาดแคลนน้ำจืด ในประเทศไทยยังไม่รุนแรงแต่เราไม่ควรประมาท
  4. น้ำจืดส่วนใหญ่ใช้ในการเกษตรกรรมปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 70% (ที่เหลือคือใช้ดื่ม ทำอาหาร ทำความสะอาด 10% ใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน 10% ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ 10%)
  5. ถ้าพัฒนาเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงจะแก้ปัญหาน้ำจืดไปได้มาก พัฒนาโดยการคัดเลือกพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อย หรือเติบโตด้วยน้ำกร่อยน้ำเค็มได้ และทำการเกษตรใช้น้ำหยดอย่างที่หลายๆประเทศเช่นอิสราเอลทำ
  6. น้ำเสียน้ำทิ้งรวมถึงขยะเปียกสามารถจัดการแยกน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วยหลายๆวิธีเช่นให้ดินและทรายช่วยกรอง หรือป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าเผาขยะกลั่นน้ำและสร้างวัสดุก่อสร้างจากซาก หรือใช้พืชต่างๆช่วยกรองเช่นที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  7. การสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วไปก็ช่วยกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้และเติมระดับน้ำบาดาลใต้ดิน
  8. ลดการกินสัตว์ กินพืชให้มากขึ้นก็เป็นสิ่งที่แต่ละคนทำได้และมีผลกับการใช้น้ำจืดในเกษตรอุตสาหกรรม
  9. มีเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืด (อิสราเอล สิงคโปร์ สหรัฐใช้ในเชิงอุตสาหกรรมแล้ว) หลักการจะเหมือนเครื่องกรองน้ำ RO ตามบ้าน แต่ใหญ่ขึ้นเป็นโรงงาน กรณีที่ดีสุดตามทฤษฎี(ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่)ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างน้อยประมาณ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมงเพื่อสร้างน้ำจืด 1 ลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อทำจริงๆใช้ประมาณ 3-5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อน้ำจืด 1 ลูกบาศก์เมตร ถ้าใช้พลังงานหมุนเวียนเช่นจากแสงอาทิตย์เพื่อการนี้ได้จะดีมาก

ลิงก์ที่น่าสนใจ:

โครงการแหลมผักเบี้ยบำบัดน้ำเสีย:

การสูบน้ำบาดาลมาใช้มากๆทำให้แผ่นดินทรุด เช่นที่เมืองเม็กซิโกซิตี้:

https://www.youtube.com/watch?v=-sra_-ykV7c

ตัวอย่างวิธีเติมน้ำใต้ดิน (แต่จริงๆอาจจะไม่ต้องทำแบบนี้เพราะผลลัพธ์อาจไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายและค่าดูแลรักษา):

ตัวอย่างโรงงานไฟฟ้าขยะที่สร้างน้ำจืดและวัสดุก่อสร้าง:

อีกตัวอย่างโรงงานสร้างน้ำจืดจากขยะครับ:

มูลนิธิ Solar Impulse ที่เกี่ยวกับเรื่องขาดแคลนน้ำ

สรุปปัญหาเรื่องน้ำจืดน้ำสะอาด

วิธีที่อิสราเอลจัดการเรื่องขาดแคลนน้ำ

วิธีที่สิงคโปรจัดการเรื่องขาดแคลนน้ำ

ตัวอย่างวิธีทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดแบบต่างๆ

สไลด์ที่หน่วยงานความมั่นคงสหรัฐทำเกี่ยวกับเรื่องนี้

ลิงก์เรื่องกินเจและมังสวิรัติในเชิงโภชนาการ

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องกินเจและมังสวิรัติในเชิงโภชนาการ เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. มังสวิรัติคือไม่กินเนื้อสัตว์ (แต่บางคนกินนม/ไข่) กินเจคือไม่กินเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (แต่บางคนกินหอยนางรม) และไม่กินพืชบางชนิด
  2. การกินเจ/มังสวิรัตินานๆอาจมีความเสี่ยงเรื่องขาดสารอาหารบางชนิดเช่นวิตามิน B12 ธาตุเหล็ก วิตามิน D แคลเซียม สังกะสี แมกนีเซียม กรดไขมันโอเมก้าสาม กรดอมิโนบางชนิด
  3. ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถบรรเทาได้โดยการวางแผนการทานพืชผักที่มีสารอาหารเหล่านี้มากๆ ทานพืชผักให้หลากหลาย เต้าหู้ ถั่วและเห็ดนาๆชนิด โปรตีนเกษตรที่มีการเสริมสารอาหารบางชนิด (หรือถ้าไม่ซีเรียสนักก็เสริมด้วยนม ไข่ ชีส ปลาเป็นบางโอกาส)
  4. ความเสี่ยงอีกอย่างคือกินอาหารตามรสชาติ ถ้ากินอาหารเจหรือมังสวิรัติที่ปรุงรสเข้มข้นด้วยเกลือ ซีอิ๊ว น้ำตาล หรือผัดทอดด้วยน้ำมันจำนวนมาก หรือทานแป้งมากเกินไป ก็อาจจะน้ำหนักเกินและป่วยได้ด้วยโรคที่เกี่ยวกับความอ้วน
  5. ถ้ากินเนื้อสัตว์ในปริมาณน้อยๆ ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ชอบรสชาติของเนื้อสัตว์จึงมักจะกินมากเกินไป ปกติในหนึ่งวันไม่ควรกินเนื้อเกิน 0.5-1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ลิงก์ที่น่าสนใจ:

เล่าเรื่องกินเจ:

องค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการสำหรับทุกช่วงวัย โดยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ

ความรู้เรื่องโปรตีนเกษตร

ตัวอย่างการกินสู้โลกร้อน

มังสวิรัติช่วยโลกอย่างไร:

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทุกคนกินแบบมังสวิรัติ:

ความรู้เบื้องต้นในการกินมังสวิรัติ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเนื้อสัตว์:

ลิงก์เรื่องเนื้อสังเคราะห์

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องเนื้อสังเคราะห์ เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. ตอนนี้มีความพยายามที่จะสังเคราะห์เนื้อขึ้นมาจากพืช (plant-based meat) และสังเคราะห์เนื้อขึ้นมาจากเซลล์สัตว์โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์เป็นตัวๆ (cultured meat, lab-grown meat, clean meat) เพื่อทดแทนเนื้อที่มาจากการเลี้ยงและฆ่าสัตว์
  2. ทำกันอย่างนี้เพราะคาดว่าความต้องการเนื้อในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีกมากๆจากประชากรโลกที่หลุดพ้นจากความยากจน และการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมไม่น่าจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน
  3. การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมใช้ทรัพยากรมาก ทั้งพื้นที่เลี้ยง พื้นที่ปลูกอาหารสัตว์ น้ำที่ต้องใช้ รวมถึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามา (ตอนนี้ปล่อยออกมาพอๆกับระบบคมนาคมทั้งหมด) หวังว่าจะลดทรัพยากรต่างๆเหล่านี้ได้อย่างน้อยสิบเท่าถ้าสังเคราะห์อาหารมาทดแทนสำเร็จ
  4. หวังว่าจะทำออกมาได้ดีต่อสุขภาพ (แม้ว่าตอนนี้ถ้าจะให้อร่อยก็ไม่ได้ดีต่อสุขภาพนักเพราะมีไขมันและโซเดียมสูง แต่ไม่มีคอเลสตอรอล)
  5. ถ้าทำสำเร็จและแพร่หลาย สัตว์ที่เราเลี้ยงไว้เพื่อกินอาจลดจำนวนลงอย่างมากมาย บางอย่างอาจสูญพันธุ์ไป
  6. เท่าที่ทดลองผลิตภัณฑ์เนื้อสังเคราะห์จากพืช (แฮมเบอร์เกอร์และสเต๊กเนื้อบด) พบว่าหน้าตาคล้ายเนื้อ กลิ่นเหมือน รสชาติใช้ได้ แต่เมื่อเคี้ยวจะพบว่าความต้านทานการเคี้ยวยังแตกต่างจากเนื้อสัตว์ ยังปรับปรุงได้อีกมาก
  7. เนื้อสังเคราะห์จากพืชมีขายมากขึ้นเรื่อยๆในราคาประมาณสองเท่าของเนื้อจากสัตว์ (ผลิตไม่ทันขาย) มีบริษัทอย่างน้อยสองบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว เนื้อสังเคราะห์จากเซลล์ยังมีต้นทุนสูงอยู่ (หลายพันถึงหลายแสนบาทต่อกิโล) ยังไม่มีขายแพร่หลาย
  8. นักวิจัยด้านอาหารและการเกษตรไทยอาจจะสร้างนวัตกรรมด้านนี้เข้าสู่ตลาดโลกได้

ลิงก์ที่น่าสนใจ:

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเนื้อสังเคราะห์: Clean Meat vs. Plant-Based Meat: What You Need to Know About Sustainable Burgers

ตัวอย่างแฮมเบอร์เกอร์ที่ทำจากพืชครับ:

ตัวอย่างการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเซลล์สัตว์ให้กลายเป็นชิ้นเนื้อครับ: