Category Archives: มัธยม

วิทย์ม.ต้น: คลิปน่าสนใจ, เรื่องลึกลับและความงมงาย, หาทางวัดความเร็วลูกแก้ว

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. เราดูคลิปการทดลองอันตรายที่เอาไฟฟ้ามาช็อตสิ่งต่างๆ (ห้ามเล่นเองที่บ้านนะครับ ตายได้ถ้าทำผิดพลาด):

2. ฝากโจทย์นี้ไปให้เด็กๆพยายามคิดกันครับ:

3. คุยกันถึงบท “หมูหลงทาง: ความมืดบอดทางปัญญา” จากหนังสือปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล เรื่องพวกนี้ครับ:

  • ความเชื่อเรื่องการบนบาน
  • ความเชื่อเรื่องพระเครื่อง
  • ความเชื่อเรื่องสีดำ
  • การถอดวิญญาณ
  • ญาณพิเศษและการมองเห็นอนาคต
  • นอสตราดามุส
  • ยูริ เกลเลอร์
  • แอตแลนติส
  • สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา
  • สัตว์ประหลาดแห่งทะเลสาบล็อคเนสส์
  • เยติกับไอ้ตีนโต

4. รู้จักคุณ James Randi ผู้เปิดโปง”ผู้วิเศษ”ที่หลอกลวงชาวบ้าน แนะนำดูคลิปเหล่านี้ถ้าสนใจครับ:

https://www.youtube.com/watch?v=uk1MtPuyGBc
คลิปเปิดโปงผู้วิเศษในอินเดีย ตอน 1 จากทั้งหมด 5 ตอน มีลิงก์ตอนอื่นๆใน About เวลาดูที่ YouTube กดดูซับได้ที่ปุ่ม CC นะครับ

5. ดูคลิปและรูปสิ่งลึกลับกัน เช่นบิ๊กฟุต:

คลิปบิ๊กฟุต
คลิปบิ๊กฟุตแบบปรับให้ดูง่ายขึ้น

6. ผมเล่าเรื่อง sine และ cosine และความสัมพันธ์กับวงกลมหน่วย (unit circle) ให้ดู Animation ที่ https://www.desmos.com/calculator/cpb0oammx7

กดดู animation ได้ที่ https://www.desmos.com/calculator/cpb0oammx7 ครับ

7. ให้เด็กดูตัวอย่างการวาดวงกลมและรูปอื่นๆด้วย sine และ cosine ที่ผมเขียนโปรแกรมภาษา Scratch ไว้ที่ https://scratch.mit.edu/projects/430118715/editor/

ถ้าเด็กๆสนใจเรื่องวงกลมและตรีโกณมิติ เชิญดูคลิปนี้ต่อได้ครับ:

8. จากนั้นเด็กๆก็สังเกตการเคลื่อนที่เป็นวงกลมของลูกแก้ว ผมให้เด็กๆพยายามหาทางวัดความเร็วของลูกแก้วกัน ตอนนี้เราคิดว่าจะถ่ายวิดีโอการเคลื่อนที่แล้วเอาไปใส่โปรแกรม Tracker เพื่อวัดสิ่งต่างๆกัน ตัวอย่างไฟล์วิดีโอถ่ายที่ 240 เฟรมต่อวินาทีโหลดได้ที่นี่ครับ

วิทย์ม.ต้น: หัดไพธอน (Flow Control), หัด Scratch (ให้บวกเลข, ประมาณค่าพาย Pi)

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. คลาสรุ่นพี่ เรียน Python จากหนังสือฟรีบนเว็บชื่อ Automate the Boring Stuff with Python โดยเขียนโปรแกรมใน Mu-Editor เราคุยกันเรื่อง Boolean values, comparison operator, Boolean operators, flow control, if-else, while, break, continue, for loop, range, import, sys.exit()

2. คลาสรุ่นพี่ได้เล่นเกมทายเลขช่วง 1-100 ถ้ารู้ว่าคำตอบมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ทายไป จะไม่ต้องทายเกินกว่า 7 ครั้ง เพราะถ้าเราแบ่งครึ่งช่วงที่เป็นไปได้เรื่อยๆช่วงใหญ่ๆ 1-100 จะหดลงเหลือช่วงขนาด 1 ในไม่เกิน 7 ครั้ง ทั้งนี้เพราะ 2 ** 7 = 128 ซึ่งมากกว่า 100

ทำนองเดียวกัน การทาย 10 ครั้งจะสามารถทายเลขในช่วง 1-1024 หรือทาย 20 ครั้งจะสามารถทายเลขในช่วง 1-1,048,576

3. รู้จักใช้เว็บ http://pythontutor.com/visualize.html เพื่อกดดูการทำงานทีละขั้นตอนของโปรแกรมไพธอนที่เราเขียน

การบ้านคือไปอ่านและพิมพ์ตาม Chapter 3 ต่อและแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเขียนโปรแกรมไพธอนครับ: 1) โจทย์ข้อ 1 ของ Project Euler และ 2) ถ้าเขียนเลข 7 หลักโดยใช้ตัวเลข 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 ทุกตัว ตัวละหนึ่งครั้ง โอกาสที่เลข 7 หลักที่เขียนจะหารลงตัวด้วย 11 เท่ากับเท่าไร (ยกตัวอย่างเช่น 1235476, 2345761, และ 7645132 หารด้วย 11 ลงตัว แต่ 1234567, 234716, หรือ 7645123 หาร 11 ไม่ลงตัว)

3. คลาสรุ่นน้องหัดสอน Scratch ให้คำนวณตัวเลขให้เรา เช่นหาค่า 1+2+3+…+100, บวกเลขคี่บวกที่ไม่เกิน 100, หาค่าของ 1+1/2+1/4+1/8+…+1/1024, และประมาณค่า π (พาย) = 4/1 – 4/3 + 4/5 – 4/7 + 4/9 – 4/11 +…

บวกเลข 1, 2, 3…, 100 ตัวอย่างนี้อยู่ที่ https://scratch.mit.edu/projects/431724939/
บวกเลขคี่ 1, 3, 5, …, 99 ตัวอย่างนี้อยู่ที่ https://scratch.mit.edu/projects/431728786/
บวกเลข 1/1 + 1/2 + 1/4 + 1/8 + 1/16 + … + 1/1024 ตัวอย่างนี้อยู่ที่ https://scratch.mit.edu/projects/431731894/
ประมาณค่า π ด้วยสูตร Gregory-Liebniz (https://en.wikipedia.org/wiki/Leibniz_formula_for_π ):
π = 4/1 – 4/3 + 4/5 – 4/7 + 4/9 – 4/11 +…
ตัวอย่างนี้อยู่ที่  https://scratch.mit.edu/projects/431738509/

4. คลาสรุ่นน้องได้รู้จักเว็บหาวันเกิดตัวเองใน π ที่ https://www.piday.org/find-birthday-in-pi/

การบ้านรุ่นน้องคือให้ไปสั่งให้ Scratch คำนวณค่า π  จากสูตรนี้ดูครับ:

วิทย์ม.ต้น: เผ่าและชาติ, Dunbar’s Number, แนะนำเว็บปัญหาฝึกสมอง, เล่นกับลม (Coanda และ Magnus Effects)

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ

1. มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่กันเป็นกลุ่ม มีประโยชน์เรื่องแบ่งงานกันทำและการร่วมมือกันเรื่องต่างๆ ขนาดของกลุ่มอาจจะมีประมาณหลักสิบถึงร้อยเมื่อสมัยมนุษย์ยังไม่มีเกษตรกรรม จำนวนคนในกลุ่มอาจถูกจำกัดด้วยความสามารถของสมองในการเก็บข้อมูลรายละเอียดว่าสมาชิกของกลุ่มแต่ละคนเป็นอย่างไร และสมาชิกแต่ละคนมีความสัมพันธ์อย่างไรกับคนอื่นๆ มีนักมนุษยวิทยาชื่อ Robin Dunbar เสนอว่าสมองคนอาจจะมีข้อจำกัดทำนองนี้ทำให้เรารู้จักคนแบบลึกซื้งได้ประมาณอย่างมาก 150 คน (อาจจะประมาณ 100-200) มีคนเรียกตัวเลขนี้ว่า Dunbar’s Number

คลิปสำหรับเด็กๆที่สนใจครับ:

2. เมื่อมนุษย์มีเกษตรกรรม กลุ่มคนขยายใหญ่ขึ้นอย่างมาก กลายเป็นเผ่า หัวเมือง และชาติ สมาชิกไม่รู้จักกันอย่างลึกซึ้งเท่าตอนเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่อยู่ด้วยกันด้วยด้วยข้อตกลงร่วมกันเช่น ประเพณี, กฏหมาย, ความรักชาติ, ศาสนา ทำให้รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน

3. คนเราในยุคปัจจุบันยังแสดงความรักเผ่าตนเองและเห็นเผ่าอื่นแตกต่างหรือต่ำกว่าเผ่าตน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆเช่นเหยียดผิว (racism), ไม่ชอบคนต่างเผ่า/ชาติ (xenophobia), อคติด้านศาสนา ความคิดเหล่านี้อาจเคยมีประโยชน์เมื่อมนุษย์ยังอยู่ในสังคมเล็กๆ และสงครามระหว่างกลุ่มแพร่หลาย แต่ในโลกปัจจุบันที่คนทั้งโลกติดต่อกันได้ง่ายและไม่นิยมสงคราม ความคิดเหล่านี้ก็ล้าสมัยไป

4. ความรักชาติและความคลั่งศาสนาก็มีทั้งประโยชน์และโทษ สมัยที่คนตัดสินเรื่องต่างๆด้วยกำลัง กลุ่มที่รักชาติมากๆหรือคลั่งศาสนามากๆก็จะได้เปรียบ ในยุคที่คนไม่นิยมตัดสินด้วยกำลัง ประโยชน์เหล่านี้ก็ลดลงไป และอาจมีโทษมากขึ้นเพราะทำให้คนสามารถทำเรื่องป่าเถื่อนโดยการอ้างความชอบธรรมว่าทำไปเพราะรักชาติหรือเพราะศาสนาบอกว่าควรทำ

5. ผมแนะนำให้เด็กๆที่สนใจหาหนังสือ Chimpanzee Politics โดย Frans de Waal มาอ่านเพื่อเปิดโลกทัศน์เมื่อมีโอกาสในอนาคต

6. ผมแนะนำเว็บฝึกสมองสำหรับเด็กๆที่สนใจชื่อ Mind Your Decisions ยกตัวอย่างปัญหาเช่น:

7. เวลาที่เหลือเด็กๆเล่นเป่าเทียนตามไปตามผิวสิ่งกีดขวางกันครับ:

เราอาศัยปรากฏการณ์ที่ของไหลเช่นลมหรือน้ำชอบวิ่งไปตามผิวสิ่งกีดขวาง (Coandă effect) เนื่องจากเรามองไม่เห็นสายลม (แม้ว่าจะรู้สึกได้) เราจึงดูสายน้ำแทนครับ มันทำตัวคล้ายๆกัน:

8. ผมมีของเล่นอีกอันให้เด็กๆเล่นกันคือถ้วยบิน มันอาศัยหลักการที่ว่าเวลาลูกบอลหรือทรงกระบอกหมุนๆวิ่งผ่านอากาศ แรงเสียดทานระหว่างอากาศและลูกบอลจะทำให้อากาศด้านหนึ่งเลี้ยวเข้าหาหลังลูกบอลมากกว่าอีกด้านหนึ่ง โดยด้านที่ผิวลูกบอลหมุนไปทางเดียวกับอากาศที่วิ่งผ่านลูกบอล (ก็คือทิศตรงข้ามกับทิศทางการเคลื่อนที่ของลูกบอลนั่นเอง) จะทำให้อากาศเลี้ยวมากกว่า ทำให้ลูกบอลโดนดึงไปทางนั้นครับ

ลูกบอลหรือทรงกระบอกที่หมุนๆ เมื่อวิ่งผ่านอากาศจะเกิดแรงยกหรือแรงกดขึ้นกับทิศทางการหมุนครับ แรงนี้เรียกว่าแรงแมกนัส (Magnus Force) แรงเกิดจากการเลี้ยงของอากาศที่วิ่งผ่านผิวลูกบอลไม่เท่ากันขึ้นกับว่าโดนด้านไหนของลูกบอลที่หมุนๆอยู่ (ภาพจาก wikipedia)

เราเห็นปรากฎการณ์นี้ในกีฬาหลายๆอย่างเช่นฟุตบอล เทนนิส ปิงปอง เบสบอล หรือกีฬาอะไรก็ตามที่มีลูกบอลหมุนๆวิ่งผ่านอากาศครับ ในปืน BB ยิงกระสุนพลาสติกก็ใช้เทคนิคนี้ให้กระสุนวิ่งหมุนแบบ back-spin ให้ลอยอยู่นานๆ เรียกว่า hop-up ครับ

วิธีประดิษฐ์ก็คือเอาถ้วยพลาสติกสองอันมาติดกันที่ก้นถ้วย แล้วใช้หนังยางดีดออกไปให้หมุนๆ เราสามารถทำให้ถ้วยพุ่งตกลงพื้นเร็วๆหรือให้ถ้วยร่อนอยู่ในอากาศนานๆขึ้นกับว่าเราทำให้หมุนแบบไหน แบบ top-spin หรือ back-spin ครับ ดูวิธีทำในวิดีโอที่เคยบันทึกไว้ในอดีตเลยครับ:

9. นอกจากนี้ผมยังแสดงตัวอย่างประมาณพื้นที่สังเคราะห์แสงถ้าเราไม่ต้องการกินสัตว์หรือพืชด้วยครับ ลองประมาณว่าต้องมีพื้นที่รับแสงเท่าไร สรุปคือต้องพื้นที่มากเกินไปถ้าเราจะดำรงชีวิตแบบขยับไปมาอย่างที่เราเป็นครับ:

10. บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ครับ:

เด็กๆเป่าเทียนโดยให้ลมวิ่งไปตามผิวสิ่งกีดขวางกันครับ

Posted by Pongskorn Saipetch on Wednesday, September 30, 2020