ทำวงล้อภาพยนตร์

 

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ http://kostuff.blogspot.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องจุดศูนย์ถ่วงและกลเลี้ยงส้อมด้วยไม้จิ้มฟันอยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องทำวงล้อภาพยนตร์ครับ

เนื่องจากในสัปดาห์หน้าจะมีวิทยากรที่มาสอนเด็กๆเรื่องการทำภาพยนตร์แบบ Stop-Motion วันนี้ผมเลยมาปูพื้นเด็กๆเรื่องภาพยนตร์และทำไมเราจึงเห็นภาพเคลื่อนไหวได้ครับ ผมไปหาข้อมูลเกี่ยวกับของเล่นหรือกิจกรรมที่จะเอามาเล่นกับเด็กๆได้ แล้วบังเอิญไปพบขุมสมบัติที่ http://www.sciencetoymaker.org/ ครับ ถ้าว่างๆลองเข้าไปดูนะครับ มีของเล่นที่เด็กๆประดิษฐ์เองได้มากมาย น่าสนใจมากๆครับ

ก่อนที่จะเข้าเรื่องวันนี้ ผมเอาวิดีโอจาก Science Toy Maker มาให้เด็กๆดูครับ เป็นเรื่องเครื่องร่อนทำจากโฟมที่เราสามารถบังคับให้ลอยได้ด้วยแผ่นกระดาษแข็งแผ่นใหญ่ๆ หรือถ้าชำนาญแล้วสามารถบังคับได้ด้วยศีรษะหรือฝ่ามือครับ!  ผมบอกเด็กๆว่าเราจะหาทางทำกันในอนาคต:

จากนั้นผมก็เข้าเรื่องของวันนี้ ผมถามเด็กๆว่ารู้ไหมว่าเวลาเราดูหนังดูทีวี ทำไมเราจึงเห็นภาพเคลื่อนไหวได้ เด็กๆคิดไม่ออกว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้นครับ ผมก็ยังไม่เฉลย แต่ให้เด็กๆดูวิดีโอคลิปจาก YouTube ที่เป็นภาพสโลโมชั่น และภาพ Time-lapse ครับ เพื่อให้เห็นว่าเราสามารถเห็นสิ่งต่างๆช้าลงหรือเร็วขึ้นได้ด้วย ตัวอย่างคลิปวิดีโอที่เด็กๆได้ดูครับ:

ผมบอกเด็กๆว่าการที่เราเห็นสิ่งต่างๆเคลื่อนไหวในภาพยนตร์ได้นั้น เป็นเพราะเวลาเอาภาพนิ่งหลายๆภาพที่ค่อยๆต่างทีละนิดมาเรียงให้ดูในเวลาสั้นๆ ตาและสมองเราจะแปลความหมายเชื่อมโยงภาพเหล่านั้นเป็นการเคลื่อนไหว ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราดูหนังในโรงหนัง เราจะเห็นภาพ 24 ภาพในหนึ่งวินาที ถ้าเราดูทีวีเราจะเห็นภาพ 25 หรือ 30 ภาพต่อวินาที ภาพแต่ละภาพเป็นภาพนิ่ง แต่พอมาเรียงกันแล้วดูต่อเนื่องเราจะแปลความเองว่ามีการเคลื่อนไหว

ภาพสโลโมชั่นสร้างจากการที่เวลาถ่ายภาพมา จะถ่ายภาพต่อวินาทีมากกว่าตอนเอามาดู เช่นถ้าถ่าย 3,000 ภาพต่อวินาที แล้วเอามาดูที่ 30 ภาพต่อวินาที เราจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างช้าลง 3,000/30 = 100 เท่า

ในทางกลับกัน ถ้าเราถ่ายภาพต่อวินาทีน้อยกว่าตอนเอามาดู เช่นตอนถ่ายถ่ายหนึ่งภาพต่อวินาที แล้วมาดูที่ 30 ภาพต่อวินาที เราก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเร็วขึ้น 30/1 = 30 เท่า

จากนั้นผมก็บอกเด็กๆว่าเราจะมาประดิษฐ์ของเล่นที่คนสมัยก่อนเมื่อประมาณ 180 ปีที่แล้วสร้างขึ้นเพื่อทำภาพเคลื่อนไหวดูกัน เจ้าของชิ้นนี้เรียกว่าวงล้อภาพยนตร์หรือ phenakistoscope เด็กๆสามารถสร้างได้ในเวลาสัก 10-20 นาที

วัสดุที่ต้องเตรียมก็มี 1. กระดาษ A4  2. กระดาษแข็งขนาดใหญ่พอที่จะตัดเป็นวงกลมขนาดประมาณ 8 นิ้วได้  3. กาว  4. ไม้จิ้มฟัน หรือคลิปหนีบกระดาษ หรือแท่งอะไรกลมๆเล็กๆ  5. กระจก

วิธีทำก็คือไปโหลดไฟล์นี้มา แล้วพิมพ์ลงบนกระดาษ A4 โดยบอกพรินเตอร์ว่าให้ขยายภาพจนเต็มกระดาษ  หน้าตาของวงกลมในไฟล์จะเป็นอย่างนี้:

 

จากนั้นเราก็ตัดวงกลมนี้ไปแปะบนกระดาษแข็งด้วยกาว แล้วก็ตัดกระดาษแข็งตามรูปวงกลม แล้วก็ตัดส่วนซี่ดำๆที่อยู่บนขอบทั้ง 12 ซี่ออกด้วย เราจะได้มองลอดผ่านซี่ต่างๆได้ด้วย

แล้วเราก็วาดรูปทั้งหมด 12 รูปให้อยู่ระหว่างซี่ทั้ง 12 ซี่  รูปแต่ละรูปควรจะต่างกับรูปติดกันไม่มากนัก รูปแรกและรูปสุดท้ายซึ่งอยู่ติดกันก็ควรไม่ต่างกันมากด้วย เวลาทำเป็นภาพยนตร์ภาพจะได้ไม่กระตุกมาก  ถ้าไม่แน่ใจว่าจะวาดอะไร สามารถโหลดภาพที่มีคนทำไว้แล้วหลายแบบที่เว็บ http://www.sciencetoymaker.org/movie/index.html ครับ ส่วนบนจะมีลิงค์ให้โหลดภาพต่างๆมาพิมพ์บนกระดาษ A4

จากนั้นก็เจาะรูตรงกลางวงกลม แล้วสอดไม้จิ้มฟันหรือลวดคลิปหนีบกระดาษเข้าไปให้เป็นแกนหมุน วงล้อที่ทำเสร็จแล้วจะมีหน้าตาทำนองนี้ครับ:

 

จากนั้นเราก็เอาเจ้าวงล้อไปหน้ากระจก เอาด้านที่มีภาพทั้งสิบสองภาพเข้าหากระจก จับไม้จิ้มฟันเป็นแกนหมุน แล้วก็จับขอบวงล้อปั่นให้หมุน แล้วเราก็มองภาพสะท้อนในกระจกผ่านซี่ที่ขั้นระหว่างภาพครับ จะเห็นภาพเคลื่อนไหวเป็นภาพยนตร์ ลองดูคลิปที่ถ่ายมาครับ:

ถ้าเราไม่มองภาพผ่านซี่เล็กๆเราจะเห็นภาพทั้งสิบสองภาพรวมกันไปหมด ดูไม่รู้เรื่อง แต่การที่เรามองผ่านซี่เล็กๆนั้น เราจะมีเวลานิดเดียวในการเห็น (เหมือนกับกล้องที่ชัตเตอร์ไวๆ) เราจึงเห็นภาพนิ่งๆอยู่ ไม่เห็นภาพเบลอร์ เนื่องจากแผ่นวงล้อหมุนเร็ว เราก็จะเห็นภาพในตำแหน่งต่อไปเมื่อซี่อันต่อไปวิ่งมาถึง เราก็เห็นภาพนิ่งอีกอันแต่เป็นอันถัดไปจากอันที่แล้ว เราจะเห็นภาพถัดไปเรื่อยๆทุกครั้งที่ล้อหมุนให้เราเห็นผ่านซี่เล็กๆแต่ละอัน สมองเราก็จะรวมภาพทั้งหลายเข้าด้วยกันเป็นภาพยนตร์ต่อเนื่องให้เราเห็นครับ

ถ้าหมุนเร็ว หมุนช้า หรือหมุนกลับทาง เราก็จะเห็นภาพยนตร์วิ่งเร็ว วิ่งช้า หรือวิ่งกลับหลังครับ ของเล่นนี้ทำง่าย และน่าสนุกสำหรับเด็กๆครับ ถ้าเด็กคนไหนวาดรูปเก่งๆ เขาจะได้สร้างสรรค์เต็มที่เลยครับ

ก่อนหมดเวลา ผมเสริมว่าภาพยนตร์สามมิติหรือทีวีสามมิติทำงานอย่างไร ผมให้เด็กๆเอานิ้วชี้ทั้งสองนิ้วมาเรียงกันเป็นแนวเส้นตรงกับปลายจมูก ให้ห่างจากปลายจมูกและห่างระหว่างนิ้วนิดหน่อย จากนั้นก็หลับตาซ้ายขวาสลับไปมา ให้สังเกตว่าภาพที่ตาซ้ายกับตาขวาเห็นจะไม่เหมือนกัน หลักการนี้ถูกไปใช้ในการสร้างภาพยนตร์สามมิติ คือที่จอจะมีภาพซ้อนกันอยู่สองภาพ ภาพหนึ่งสำหรับตาซ้ายและอีกภาพหนึ่งสำหรับตาขวา จากนั้นเราก็จะใช้อุปกรณ์เช่นแว่นที่จะแยกภาพเข้าสู่ตาให้ถูกต้อง เมื่อสองตาเห็นภาพไม่เหมือนกันแล้ว สมองก็จะแปลความว่าอะไรอยู่หน้าอะไรอยู่หลัง กลายเป็นภาพสามมิตินั่นเอง

เล็งกันแบบนี้ครับ

ต่อไปเป็นภาพบรรยากาศการเรียนการสอนและตัวอย่างการจดบันทึกครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่ครับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.