เครื่องมือที่ใช้เสียงความถี่สูง, วัดคาบลูกตุ้มแกว่ง, จรวด Nerf

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ประถมต้นได้ดูเครื่องมือทำความสะอาด และเครื่องทำหมอกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ประถมปลายได้พยายามวัดคาบการแกว่งของลูกตุ้มความยาวต่างๆ พยายามหาว่าความยาวเท่าไรทำให้คาบเท่ากับ 0.5, 1, 2 วินาที อนุบาลสามได้เล่นของเล่นจากความดันอากาศคือจรวดกระสุนโฟม Nerf ครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ความถี่เสียงที่หูฟังได้, ความถี่ธรรมชาติของวัตถุ, กลน้ำไม่หก” ครับ ลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมต้นได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือกลคนเข้าทรง:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

เด็กๆประถมต้นได้รู้จักการประยุกต์ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงๆ (ultrasonic) สองแบบครับ แบบแรกเป็นเครื่องทำความสะอาดด้วยคลื่นเสียง (ultrasonic cleaning) หลักการทำงานก็คือมีการส่งผ่านคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านเข้าไปในน้ำหรือสารละลาย ทำให้เกิดบริเวณสุญญากาศเล็กๆเต็มไปหมด (cavitation) เนื่องจากน้ำถูกคลื่นพาให้เคลื่อนที่ไปมา เมื่อคลื่นวิ่งผ่านไปน้ำก็วิ่งกลับมาบริเวณสุญญากาศเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนเป็นการระเบิดเล็กๆทำให้ฝุ่นผงคราบสกปรกกระเด็นออกจากพื้นผิววัสดุที่เราต้องการทำความสะอาดครับ

คลิปตัวอย่างการทำความสะอาดแว่นตาด้วยคลื่นเสียง จะเห็นไขมันและสิ่งสกปรกหลุดลอยออกมาจากแว่นครับ:

ตัวอย่างการประยุกต์อันที่สองคือเครื่องสร้างหมอกด้วยคลื่นเสียงครับ คลื่นเสียงความถี่สูงๆจากแหล่งกำเนิดที่จุ่มไว้ในน้ำทำให้เกิดคลื่นที่ผิวน้ำ คลื่นขนาดเล็กๆบนผิวน้ำสามารถทำให้หยดน้ำเล็กๆถูกบีบให้หลุดออกมาเป็นหมอกได้ครับ

ภาพจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6468117/

หน้าตาหมอกที่เกิดขึ้นเป็นแบบนี้ครับ:

เด็กประถมปลายได้ทำการทดลองเรื่องการสั่นการแกว่งต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยคราวนี้ให้สังเกตการแกว่งของลูกตุ้มที่ทำจากด้ายผูกกับน๊อตเหล็กหกเหลี่ยมครับ เด็กๆเห็นว่าความยาวของลูกตุ้ม (วัดจากปลายด้ายที่เราจับไว้ถึงตรงกลางน๊อตที่ผูกด้าย) กับคาบการแกว่ง (เวลาในการแกว่งให้ครบรอบหนึ่งครั้ง) มีความสัมพันธ์กันครับ ถ้าความยาวเท่ากันคาบจะเท่ากัน ถ้าความยาวมากคาบจะนาน ถ้าความยาวน้อยคาบจะไม่นาน

ข้อมูลคาบการแกว่งของลูกตุ้มขนาดต่างๆที่ช่วยกันวัดระหว่างป. 4-6 และม.1-3 ครับ
ลองเอาข้อมูลมาวาดกราฟเพื่อหาค่า g (ความเร่งจากแรงโน้มถ่วงที่ผิวโลก) ได้ g = 9.76 ± 0.05 เมตรต่อวินาทีกำลังสองครับ

สำหรับเด็กอนุบาลสามบ้านพลอยภูมิ ผมให้เอากระสุนโฟมปืน Nerf มาใส่ปากหลอดฉีดยาให้แน่นพอประมาณแล้วกดหลอดฉีดยา อากาศในหลอดจะเล็กลงจนความดันภายในสูงพอที่จะทำให้กระสุนโฟมหลุดกระเด็นออกไป แล้วก็ให้เขาพยายามยิงให้โดนเป้าต่างๆครับ เป็นการเล่นกับความดันอากาศต่อจากคราวก่อน

วิทย์ม.ต้น: Omission Bias, Trolley Problem, วัดคาบการแกว่งลูกตุ้ม

วันนี้เด็กๆเรียนเรื่อง omission bias จากหนังสือ The Art of Thinking Clearly โดยคุณ Rolf Dobelli  ที่เรามักจะอยากอยู่เฉยๆไม่แทรกแซงเหตุการที่กำลังเกิดตรงหน้า โดยเราไปโฟกัสว่าถ้าเราเข้าไปแทรกแซงแล้วเกิดผลร้ายขึ้นมา มันจะแย่กว่าอยู่เฉยๆแล้วเกิดผลร้ายครับ เช่นคนบางคนไม่ให้ลูกฉีดวัคซีนเพราะกลัวผลข้างเคียงหลังจากฉีด ทั้งๆที่ถ้าอยู่เฉยๆไม่ฉีด ลูกจะมีโอกาสป่วยจากโรคและมีผลเสียมากกว่าครับ

จากนั้นผมก็แนะนำให้เด็กๆรู้จัก Trolley Problem ครับ คือมีรถรางวิ่งมาตามราง ถ้าวิ่งตรงไปเรื่อยๆจะชนคน 5 คนที่นอนทับรางทำให้คนตาย 5 คน ถ้ามีคนสลับรางให้เลี้ยว รถรางจะเปลี่ยนทางวิ่งไปชนคนตาย 1 คน ถ้าเราอยู่ที่สวิทช์สลับราง เราจะทำอย่างไร

ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Trolley_problemโดย McGeddon [CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)]

จากนั้นเด็กๆก็ลงมือวัดขนาดและคาบการแกว่งของลูกตุ้ม (pendulum) ที่ทำจากน๊อตหกเหลี่ยมกับเส้นด้ายครับ ให้เด็กๆเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนต่างๆในการทำการทดลอง และให้เห็นว่าถ้าความยาวของลูกตุ้มเพิ่มขึ้นสี่เท่า คาบการแกว่งจะเพิ่มเป็นสองเท่าครับ (ภาพกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

การรักษาแบบโฮมิโอพาธี (Homeopathy)

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆเรื่องวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องการรักษาแบบโฮมิโอพาธีครับ (สรุปก็คือ 1. “ยา” ที่ใช้เจือจางมากๆจนไม่มีผลการรักษาเหมือนกินน้ำเปล่า 2. อาจดีทางใจแบบยาปลอมหรือ placebo 3. ถ้าเชื่อใช้กับโรคร้ายแรงอาจตายได้เพราะมันรักษาโรคไม่ได้จริงๆ)  เลยเอาลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ:

Homeopathy คืออะไร และทำไมคุณไม่ควรถูกหลอกให้ใช้

Why you can’t trust homeopathy?

ตัวอย่างงานวิจัยเรื่องนี้: http://www.skepdic.com/homeo.html#studies

คลิป Homeopathy Explained – Gentle Healing or Reckless Fraud?

Homeopathy โดยคุณหมอ Ben Goldacre:

สืบเนื่องกับข่าวในประเทศไทยครับ:

เสียงจากรายการ Sci-Tech ใน ThaiPBS Radio เรื่องการรักษาแบบโฮมิโอพาธีครับ: https://www.thaipbsradio.com/track/7629/Homeopathy+การรักษาทางเลือก+ดีจริงหรือ%3F/

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)