Category Archives: science class

วิทย์ม.ต้น: Framing Effect, ทดลองวัดความยาวต่างๆกัน

วันนี้เด็กๆเรียนเรื่อง framing effect จากหนังสือ The Art of Thinking Clearly โดยคุณ Rolf Dobelli ให้ระวังว่าเรามักจะถูกชักจูงให้ตัดสินใจด้วยวิธีที่ข้อมูลถูกนำเสนอให้เรา คือแม้ว่าข้อมูลจะเหมือนกัน แต่ถ้าถูกนำเสนอด้วยวิธีต่างกัน เราก็อาจจะรู้สึกต่างกัน และตัดสินใจตามความรู้สึกได้

ผมยกตัวอย่างจอวิเศษที่แอปเปิ้ลพึ่งประกาศ (Pro Display XDR) ที่ประกาศว่าราคา $5,000 แต่ถ้าต้องการขาตั้งด้วยต้องจ่ายเพิ่ม $1,000 เทียบกับว่าถ้าประกาศว่าราคา $6,000 แต่ถ้าไม่เอาขาตั้งจะลดราคาไป $1,000 คนส่วนใหญ่จะพบว่าแบบที่สองฟังดูดีกว่ามากทั้งๆที่มูลค่าทางการเงินต่างๆเหมือนกันเปี๊ยบเลย

จากนั้นเด็กๆก็หัดวัดความยาวต่างๆเช่นขนาดกว้างxยาวของกระดาษ A4, ความยาวของท่อพลาสติกโค้งๆงอๆ, ความยาวระหว่างปลายนิ้วโป้งถึงปลายนิ้วชี้และถึงปลายนิ้วกลางเมื่อยึดเต็มที่, ส่วนสูง, ระยะระหว่างปลายนิ้วกลางทั้งสองข้างเมื่อเหยียดให้กว้างที่สุด, และความยาวระยะก้าวเดิน

การวัดขนาดกระดาษ A4 และท่อพลาสติกโค้งๆงอๆเป็นแบบฝึกหัดให้เด็กๆเห็นว่าตัวเลขที่เราวัดมีความไม่แน่นอนเสมอ ขึ้นกับวิธีวัดและความระมัดระวัง และเราสามารถเอาข้อมูลการวัดหลายๆอันมาหาค่าเฉลี่ยให้ได้คำตอบที่ใกล้ความจริงมากขึ้น ในอนาคตเราจะคุยกันเรื่องค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนกันครับ

การวัดขนาดต่างๆในร่างกายและก้าวเดินมีไว้เผื่อใช้เทียบวัดระยะต่างๆเมื่อเราไม่มีเครื่องมือวัดดีๆครับ เช่นเราสามารถเดินนับก้าวแล้วประมาณระยะทางทั้งหมดที่เราเดินได้ หรือใช้แขนหรือมือของเราวัดระยะสั้นๆได้ ในอนาคตเราจะพูดคุยกันเรื่องตรีโกณมิติอีกที

อัลบั้มบรรยากาศชั้นเรียนอยู่ที่นี่ครับ

วิทย์ม.ต้น: เขียนโปรแกรมไพธอนนับจำนวนครั้งที่ตัวอักษรอยู่ในข้อความ, โปรแกรมทายตัวเลข

ผมให้เด็กม.2-3 ไปเขียนโปรแกรมนับจำนวนครั้งว่าตัวอักษรแต่ละตัวในข้อความเกิดขึ้นกี่ครั้งเช่น ถ้าข้อความคือ “hello” โปรแกรมก็ควรนับมาว่า h เกิด 1 ครั้ง, e เกิด 1 ครั้ง, l เกิด 2 ครั้ง, และ o เกิด 1 ครั้ง โดยให้เด็กหัดใช้ดิกชันนารี

ผมเขียนโปรแกรมเฉลยให้เด็กๆดู ให้เด็กๆรู้จักใช้ “, ‘, “””, ”’ เพื่อกำหนดข้อความสตริงในไพธอน ให้เด็กรู้จักการอ้างอิงแต่ละตัวอักษรในสตริงด้วยวิธี for i in string, รู้จักวิธีดูว่ามีคีย์ k ในดิกชันนารีหรือยังด้วย if k in dictionary, รู้จักแสดงผลในดิกชันนารีตามลำดับคีย์หรือตามลำดับค่าของมันด้วย sorted(d), sorted(d, key = d.get), sorted(d, key = get, reverse = True) ได้รู้จักฟังก์ชั่น ord( ) และ chr( ) สำหรับการบ้านครั้งต่อไป

โหลด Jupyter Notebook ที่บันทึกการเฉลยที่นี่ครับ

ตัวอย่างหน้าตาการสอนเป็นประมาณนี้ครับ:

สำหรับเด็กๆม.1 เราเขียนโปรแกรมทายตัวเลขกันโดยที่คราวนี้ให้คอมพิวเตอร์เล่นกับตัวเองโดยที่คนไม่ต้องเข้าไปทาย เราให้คอมพิวเตอร์ทายตัวเลขโดยทายตรงกลางระหว่างค่าน้อยสุดที่เป็นไปได้และค่ามากสุดที่เป็นไปได้วนไปเรื่อยๆโดยทุกครั้งที่ทายช่วงที่เป็นไปได้จะหดลงเหลือขนาดแค่ครึ่งหนึ่งของช่วงที่เป็นไปได้ก่อนทายครับ

โหลด Jupyter Notebook ดูได้ที่นี่ครับ

หน้าตาจะเป็นประมาณนี้ครับ:

วัดความดันโลหิตกัน, กลน้ำไม่หก

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมและอนุบาลสามมาครับ เด็กประถมหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล และได้รู้จักและวัดความดันโลหิตกัน เด็กๆอนุบาลสามได้เล่นกลน้ำไม่หกจากแรงดันอากาศและแรงตึงผิวของน้ำครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “เรียนรู้เรื่องชีพจรและหัวใจ” ครับ ลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมต้นได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือสะกดจิตให้แข็งแรง:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

เด็กประถมปลายได้ดูวิธีเบนความสนใจ (misdirection) ในกลนี้ด้วยครับ:

หลังจากดูกลเสร็จแล้ว เราก็คุยกันเรื่องร่างกายของเราต่อ ผมอธิบายให้เด็กๆฟังว่าเวลาหัวใจเราเต้น มันจะบีบตัวและคลายตัวสลับกันไป ตอนหัวใจบีบตัว เลือดแดงจะถูกบีบให้วิ่งไปทั่วร่างกาย ความดันเลือดในเส้นเลือดตอนนี้จะสูง ความดันนี้เรียกว่าความดัน systole (ซิสโตล) ผู้ใหญ่ปกติควรจะมีความดัน systole ประมาณไม่เกิน 120 มิลิเมตรปรอท เมื่อหัวใจคลายตัว ความดันในเส้นเลือดจะลดลง ความดันนี้เรียกว่า diastole (ไดแอสโตล) ผู้ใหญ่ปกติควรมีความดัน diastole ประมาณไม่เกิน 80 มิลลิเมตรปรอท

หลักการของการวัดความดันก็คือเราจะเอาถุงลม (cuff) มารัดต้นแขนแล้วอัดลมเข้าไปด้วยความดันที่สูงขึ้นเรื่อยๆจนถุงลมบีบต้นแขนเราจนเส้นเลือดปิด เลือดไหลผ่านไม่ได้ จากนั้นถุงลมจะระบายลมออกช้าๆให้ความดันลดลงช้าๆ เมื่อความดันลมลดถึงระดับหนึ่ง ความดันโลหิตตอนหัวใจบีบตัวจะมากพอที่จะดันให้เส้นเลือดเปิดและเลือดไหลผ่านได้ เราสังเกตว่าเลือดไหลผ่านได้โดยมีอุปกรณ์ฟังเสียง ความดันถุงลมตอนที่เริ่มได้ยินเสียงจะมีค่าเท่ากับความดัน systole

ตราบใดที่ความดันลมอยู่ระหว่างความดัน systole และ diastole เราจะได้ยินเสียงเส้นเลือดเปิดปิดตามจังหวะหัวใจบีบตัว เมื่อความดันลมลดลงเรื่อยๆจนน้อยกว่าความดัน diastole เส้นเลือดจะเปิดตลอด แล้วเราก็จะไม่ได้ยินเสียง

ภาพจาก http://howstufffwork.blogspot.com/2013/07/how-does-sphygmomanometer-blood.html

หลังจากเด็กๆรู้ว่าเครื่องวัดความดันโลหิตทำงานอย่างไรเราก็วัดความดันกันครับ

รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการวัดความดันโลหิตอ่านได้ที่วัดความดันโลหิตอย่างไรให้แม่นยำ และเรื่องความดันโลหิตทั่วไปในวิดีโอนี้นะครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสามทับหนึ่งโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมให้ทดลองหัดเล่นกลน้ำไม่หกจากแก้วและน้ำไม่ผ่านตะแกรงครับ

วิธีทำกลน้ำไม่หกจากแก้วก็คือเอาแก้วใส่น้ำ เอาแผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งเรียบๆมาปิด แล้วกลับแก้วให้คว่ำลง แผ่นพลาสติกหรือแผ่นโฟมบางๆหรือกระดาษแข็งที่ปิดไว้ก็จะติดอยู่และน้ำก็ไม่หกจากแก้วครับ

สำหรับกลน้ำไม่ไหลผ่านตะแกรง เราเอาตะแกรงร่อนแป้งที่เป็นรูๆมาให้เด็กๆทุกคนดูว่ามีรู เทน้ำใส่ก็ไหลผ่าน เป่าก็มีลมผ่าน แล้วเอาน้ำใส่แก้ว เอาตะแกรงวางข้างบน เอามือปิดด้านบนของตะแกรงให้คลุมปากแก้วด้านล่างไว้ แล้วพลิกเร็วๆให้แก้วใส่น้ำคว่ำอยู่ด้านบนตะแกรง เราจะพบว่าน้ำในแก้วไม่ไหลผ่านตะแกรงลงมาครับ ทั้งนี้ก็เพราะน้ำที่ติดกับตะแกรงมีแรงตึงผิวไม่แตกออกเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ ทำให้ความดันอากาศภายนอกต้านไว้ไม่ให้น้ำไหลออกมาครับ ผมเคยทำคลิปวิธีทำไว้ที่ช่องเด็กจิ๋วและดร.โก้ครับ:

กลทั้งสองแบบมีหลักการคล้ายกันที่ว่าอากาศภายนอกแก้วมีความดันมากพอที่จะ รับน้ำหนักน้ำไม่ให้หกออกมาครับ ในกรณีตะแกรงจะใช้แรงตึงผิวของน้ำรับแรงจากความดันอากาศแทนแผ่นพลาสติกในอีกกรณีหนึ่งครับ

หลังจากทำเสร็จ เด็กๆชอบมาเล่นเป่าให้น้ำรั่วกันมากครับ: