Tag Archives: วิทย์ม.ต้น

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สองอัน, เปรียบเทียบการตกกรวยกระดาษและลูกบอล

วันนี้สำหรับมัธยมต้นพวกเราคุยกันเรื่อง cognitive biases ที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Confirmation Bias และ Authority Bias

Confirmation Bias คือเราค้นหาและเชื่อแต่หลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อที่เราอยากให้เป็นจริง ไม่ค่อยให้น้ำหนักกับหลักฐานที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเรา การคิดแบบนี้ทำให้เรามีอวิชชาผิดๆได้เยอะมากเพราะจะยึดติดกับความเชื่อผิดๆไม่ตรงกับความเป็นจริงได้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายที่ขัดแย้งความเชื่อของเรา

อันนี้เป็นเกมเกี่ยวกับ confirmation bias ครับ:

Authority Bias  คือการที่เราเชื่อหรือให้น้ำหนักความเห็นของ “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้นำ” มากเกินไป แม้ว่าจะมีหลักฐานว่าท่านเหล่านั้นมีความเห็นที่ผิดก็ตาม อันนี้รวมไปถึงความเชื่อในหนังสือ คัมภีร์ และ เรืองเล่าต่างๆที่คนคิดว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยครับ

จากนั้นเด็กๆได้เปรียบเทียบการตกของลูกบาสและกรวยกระดาษกันครับ เราถ่ายวิดีโอการตกแล้วใช้โปรแกรม Tracker มาหาตำแหน่งและความเร็วที่เวลาต่างๆกันครับ

กราฟระดับความสูงกรวยกระดาษที่ตกลงมาครับ (y vs. t)
กราฟระดับความสูงกรวยกระดาษที่ตกลงมาครับ (y vs. t) จะเห็นว่าอัตราการตกตอนหลังตกแบบความเร็วคงที่  คือความชันของกราฟคงที่
กราฟความเร็วในแนวดิ่งของกรวยกระดาษที่ตกลงมาครับ (V_y vs. t)
กราฟความเร็วในแนวดิ่งของกรวยกระดาษที่ตกลงมาครับ (V_y vs. t) เห็นว่าตอนหลังๆความเร็ว V_y มีค่าประมาณ -1.8 เมตรต่อวินาที
กราฟระดับความสูงลูกบาสที่ตกลงมาครับ (y vs. t)
กราฟระดับความสูงลูกบาสที่ตกลงมาครับ (y vs. t) ความเร็วการตกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆคือความชันชันมากขึ้นเรื่อยๆ
กราฟความเร็วในแนวดิ่งของลูกบาสที่ตกลงมาครับ (V_y vs. t)
กราฟความเร็วในแนวดิ่งของลูกบาสที่ตกลงมาครับ (V_y vs. t) จะเห็นว่าความเร็วตกเร็วขึ้นเรื่อยๆ ความเร็วยังไม่คงที่
ความเร็วในแนวดิ่งของลูกบาสที่ตกลง จะเห็นว่าตกเร็วมากขึ้นเรื่อยๆด้วยอัตราคงที่
ความเร็วในแนวดิ่งของลูกบาสที่ตกลง จะเห็นว่าตกเร็วมากขึ้นเรื่อยๆด้วยอัตราคงที่

เด็กๆได้รู้จัก “ความเร็วสุดท้าย” หรือ terminal velocity เมื่อแรงต้านอากาศมีค่าพอดีกับน้ำหนักวัตถุพอดี คือปกติแรงต้านอากาศจะเพิ่มขึ้นเมื่อความเร็วการตกของวัตถุเพิ่มขึ้น ถ้าวัตถุยังตกไม่เร็วพอ น้ำหนักก็จะยังมากกว่าแรงต้านอากาศ วัตถุก็จะตกเร็วขึ้นอีก ถ้าวัตถุตกเร็วพอจะทำให้แรงต้านอากาศหักล้างกับน้ำหนักวัตถุพอดี ทำให้วัตถุตกต่อไปด้วยความเร็วสุดท้ายอันนั้น 

ดูคลิป terminal velocity ครับ:

ถ้าไม่เคยใช้ Tracker มาก่อน ลองดูวิธีใช้จากวิดีโอเหล่านี้นะครับ:

ผมเคยใช้ Tracker ศึกษาการกระเด้งของลูกปิงปองในอดีตครับ:

 

 

วิทย์ม.ต้น: แนะนำเว็บ PyMOTW-3, Skillshare.com, และ Brilliant.org

สำหรับวิทย์ม.ต้นวันนี้ ผมแนะนำเว็บที่น่าจะมีประโยชน์สำหรับเด็กๆ 3 เว็บ แล้วให้เขาทำแบบฝึกหัดที่  Repl.it ต่อไป

เว็บแรกคือ Python 3 Module of the Week เป็นเว็บที่มีตัวอย่างการใช้งานโมดูลไพธอนสำหรับงานต่างๆ ให้เด็กๆเข้าไปดูว่าจะใช้งานอะไรได้บ้าง และให้เขาพิมพ์/ก็อปปี้ตัวอย่างมาทดลองและดัดแปลงใน Jupyter Notebook ของเขาเอง

เว็บที่สองคือ Skillshare.com ที่มีคอร์สออนไลน์สอนทักษะต่างๆให้เลือกมากมาย เช่นหัดวาดรูป หัดถ่ายภาพ หัดเขียนหนังสือ ฯลฯ จะต่างจากคอร์สออนไลน์อื่นๆที่เน้นด้านวิชาการเป็นส่วนใหญ่

เว็บที่สามคือ Brilliant.org ที่มีปัญหาย่อยๆให้เราค่อยๆตอบแล้วเราก็จะเรียนรู้เรื่องต่างๆที่เราสนใจ อันนี้จะเน้นพวกวิทย์ คณิต ตรรกะ รวมถึงเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เช่น Neural Network และ Machine Learning

จากนั้นเด็กๆก็ลองดูเว็บที่แนะนำและทำแบบฝึกหัดที่ Repl.it ต่อครับ

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สามอัน, ปล่อยกรวยกระดาษให้ตกสู่พื้น

วันนี้พวกเราคุยกันเรื่อง cognitive biases ที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ มี Social Proof,  Sunk Cost Fallacy, และ Reciprocity

Social Proof (“ใครๆเขาก็ทำกัน”) คือการทำตามๆกัน ทำตามคนส่วนใหญ่ ในหลายๆกรณีก็มีประโยชน์เช่นเมื่อไปต่างเมืองแล้วเราสังเกตว่าคนแถวนั้นกินร้านอาหารใด แต่หลายๆครั้งก็มีโทษเช่นแห่ซื้อหุ้นตอนหุ้นขึ้น หรือเข้าไปในระบบขายตรงแบบพีรามิดเพื่อหวังรวย  นอกจากนี้เราจะสังเกตว่าหลายๆองค์กรจัดการเราโดยอาศัย social proof เช่นรายการตลกมีเสียงหัวเราะแทรกให้เราหัวเราะตาม การชุมนุมหรือประขุมต่างๆที่มีหน้าม้าคอยชักนำให้เราทำตาม

Sunk Cost Fallacy (“เสียดายต้นทุนจม”) คือการที่เราให้ความสำคัญมากเกินไปกับสิ่งที่เราจ่ายไปแล้ว เอาคืนมาไม่ได้ (สิ่งต่างๆอาจเป็นเงิน เวลา ความรัก ฯลฯ) แทนที่จะดูว่าควรจะทำอะไรต่อไปโดยให้ความสำคัญกับอนาคตแทน เช่นเราจ่ายเงินค่าบุฟเฟ่ต์ไปแล้วจึงตะกละกินเยอะมากๆทั้งๆที่กินมากเกินไปก็เป็นทุกข์เพิ่ม แทนที่จะกินพอดีๆให้มีความสุขที่สุด หรือไม่ยอมลุกออกจากโรงหนังที่เราซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังห่วยแล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทน หรือซื้อหุ้นราคาแพงแล้วติดดอย แต่ทิ้งไว้ไม่ขายทิ้งเอาเงินไปทำอย่างอื่นที่ดีกว่าโดยคิดว่าถ้ายังไม่ขายก็ไม่ขาดทุน 

Reciprocity (“บุญคุณต้องทดแทนความแค้นต้องชำระ”) คือการที่เราอยากตอบแทนคนที่ทำอะไรให้เรา จริงๆแล้วสิ่งนี้มักจะมีผลดีกับสัตว์สังคมเช่นพวกเรา แต่เราก็อาจถูกจัดการให้ทำสิ่งที่ไม่ค่อยมีเหตุผลนัก เช่นเมื่อเรารับของแจกฟรีในซูเปอร์มาเก็ตจะทำให้เราอยากซื้อของของผู้แจกมากขึ้น องค์กรบริจาคต่างๆส่งของขวัญมาให้แล้วค่อยขอเงินบริจาคของเราในอนาคต หรือการคิดแก้แค้นเรื่องต่างๆจนเสียเวลาเสียโอกาสที่ดีไป

จากนั้นเราก็ทำการทดลองปล่อยกรวยกระดาษให้ตกสู่พื้นกันครับ ผมเอากรวยกระดาษสองอันที่แหลมเท่าๆกัน ทำจากกระดาษชิ้นเดียวกัน แต่อันหนึ่งใหญ่กว่า อีกอันเล็กกว่า มาให้เด็กๆทายว่าถ้าปล่อยให้ตกพร้อมๆกัน อันไหนจะตกถึงพื้นก่อน คนที่ทายว่าอันเล็กตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันต้านอากาศมากกว่าน่าจะตกลงช้ากว่า คนที่ทายว่าอันใหญ่ตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันหนักกว่า มันน่าจะตกลงมาถึงพื้นก่อน ผลเป็นอย่างในคลิปครับ:

จากนั้นเด็กๆก็ทำกรวยของตัวเอง พบว่าความแหลมมีผลว่าอันไหนตกเร็วกว่า ครับ