Category Archives: สอนเด็กๆ

วิทย์ม.ต้น: ทฤษฎีสมคบคิด, ทดลองยกของด้วยลม

วันนี้เราคุยกันเรื่องต่างๆต่อไปนี้ครับ:

1. เราดูคลิปต้นชั่วโมงรอให้ทุกคนมาครบกันเรื่องการทำเหมืองในอวกาศ ซึ่งอาจจะเป็นธุรกิจในอนาคตตอนเด็กๆอายุมากขึ้น:

ในคลิปมีการพูดถึงการแยกธาตุต่างๆด้วย centrifuge เด็กๆจึงได้รู้จักเครื่อง centrifuge ที่ใช้ปั่นแยกของที่มีความหนาแน่นต่างๆกัน เช่นแบบในแล็บ:

หรือแบบไม่ใช้ไฟฟ้า แต่ใช้เชือกและมือปั่น:

2. ตัวอย่างทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) เช่นเรื่องคนเชื่อว่าโลกแบน หรือคนไม่เชื่อว่ามีการไปดวงจันทร์มาแล้ว เด็กๆสามารถเข้าไปดูลิงก์ที่ผมรวมไว้ที่ “ลิงก์เรื่องมนุษย์เคยไปดวงจันทร์(หรือเปล่า?)” เช่นคลิปการปล่อยค้อนและขนนกให้ตกลงสู่พื้นอันนี้:

เด็กๆได้รู้จักกระจก retroreflectors ที่สะท้อนแสงกลับไปในทิศทางเดิม มีทั่วไปหมดเช่นฝังไว้ตามถนน ติดไว้ที่รถจักรยาน หมวก เสื้อ รองเท้า เพื่อให้สังเกตได้ง่ายๆเมื่อมีแสงไฟตกกระทบ นอกจากนี้ยังมี retroreflectors ขนาดใหญ่วางไว้ที่ดวงจันทร์เพื่อใช้สะท้อนแสงเลเซอร์ที่ยิงไปจากโลกอีกด้วย

3. ตัวอย่างทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าพิรามิดสร้างโดยมนุษย์ต่างดาว เราทำความรู้จักพิรามิดและทำไมถึงถูกสร้างโดยคนสมัยโบราณ ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว:

4. เด็กๆได้ทดลองเป่าลมเข้าไปในถุงเพื่อยกน้ำหนักต่างๆที่มากเกินคาดครับ

ถุงลมยกน้ำหนักมากๆได้ก็เพราะว่าขนาดพื้นที่ของถุงมีขนาดใหญ่พอ เมื่อเป่าลมเข้าไปทำให้ถุงมีความดันอากาศ ผิวของถุงก็ช่วยกันพยุงน้ำหนักที่กดทับอยู่ ยิ่งถุงใหญ่เท่าไร (และถ้าวัสดุของถุงมีความทนทานพอ ไม่แตกหรือรั่วเสียก่อน) ถุงก็จะสามารถยกน้ำหนักได้มากขึ้นเท่านั้น (แต่ก็ต้องแลกด้วยปริมาณอากาศที่ต้องเป่าเข้าไปมากขึ้นเมื่อเทียบกับถุงเล็ก) น้ำหนักที่ยกได้เท่ากับพื้นที่คูณกับความดันอากาศนั่นเอง

หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการทำงานของยางรถยนต์ ยางรถมีความทนทานมากสามารถอัดอากาศความดันสูงๆเข้าไปได้เยอะๆ ทำให้ยางสามารถรับน้ำหนักรถเป็นตันๆได้ครับ

คลิปอธิบายกิจกรรมและการทดลองของเราครับ:

เมื่อหลายปีมาแล้วผมเคยทำกิจกรรมทำนองนี้มาแล้วครับ คลิปนั้นจะเห็นการยกคนที่นั่งอยู่ชัดเจน:

วิทย์ม.ต้น: Zeno’s Paradoxes, Infinite Series, เล่นกับความเฉื่อย

วันนี้เราคุยเรื่องเหล่านี้กันครับ

1. ผมพูดคุยกับเด็กๆเรื่องความเฉื่อย และเด็กๆได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับความเฉื่อยเหมือนในคลิปที่ลิงก์นี้ครับ

2. ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าแรงโน้มถ่วงดึงให้ดวงดาวโคจรกันเป็นวงรี ให้เด็กๆดูแบบจำลองที่ Newtonian Orbit และ Dance of Comets ที่เป็นโปรแกรมภาษา Scratch

หน้าตา Dance of Comets เป็นประมาณนี้ครับ

3. ผมยกตัวอย่าง Zeno’s Paradox มาหนึ่งอันคือถ้าเราจะเดินทางจากจุด A ไปจุด B เราต้องเดินทางไปครึ่งทางก่อน แล้วก็เดินทางไปอีกครึ่งทางของที่เหลือ แล้วก็เดินทางไปอีกครึ่งทางของที่เหลือ อย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่รู้จบ แล้วทำไมเราถึงเดินทางจาก A ไป B ได้ ระยะทางที่เดินรวมๆกันจะเป็นเท่าไร พอเด็กๆงงสักพักเราก็ลองบวกระยะทางกัน โดยให้ระยะทางจาก A ถึง B เท่ากับ 1 หน่วย ระยะทางทั้งหมดที่เดินก็คือ 1/2 + 1/4 + 1/8 + 1/16 + 1/32 + …

เด็กๆลองบวกในสเปรดชีตจะได้คำตอบเท่ากับ 1 ถาม Wolfram Alpha ก็ได้คำตอบเท่ากับ 1 และผมแสดงวิธีทำด้วยมือก็ได้คำตอบเท่ากับ 1

ให้ Wolfram Alpha หาค่าของ 1/2 + 1/4 + 1/8 + … ให้ครับ
คำนวณ 1/2 + 1/4 + 1/8 + 1/16 + … ด้วยมือ ตั้งชื่อให้ผลรวมคือ S แล้วหาว่า S ต้องมีค่าเท่าไร

4. ความจริงสิ่งที่เราสนใจคือเราสามารถเคลื่อนที่จาก A ไป B ได้ไหม เราจึงควรดูว่าเราใช้เวลาเท่าไรในการเคลื่อนที่จาก A ไป B สมมุติว่าเราเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ v เวลาที่ใช้ทั้งหมดก็คือ 1/(2v) + 1/(4v) + 1/(8v) + … ซึ่งเท่ากับ 1/v เป็นเวลาที่เป็นไปได้ถ้า v มีค่าเป็นบวก

5. เรื่องประหลาดที่เด็กๆได้เห็นวันนี้คือถ้าเราบวกอะไรเข้าไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด บางทีผลรวมก็เป็นตัวเลขที่เรารู้จักถ้าสิ่งที่เราบวกเข้าไปเรื่อยๆมีขนาดเล็กลงเร็วพอ เช่น 1/2 + 1/4 + 1/8 + … = 1 หรือ 1/3 + 1/9 + 1/27 + 1/81 + … = 1/2 หรือ 1 + 2/3 + (2/3)^2 + (2/3)^3 +… = 3

6. แต่ถ้าสิ่งที่เราบวกเข้าไปเรื่อยๆไม่เล็กลงเร็วพอ ผลรวมก็อาจไม่มีค่าแน่นอน อาจโตไม่จำกัด เช่น 1 + 1/2 + 1/3 + 1/4 + … จะมีขนาดไม่จำกัด

7. เด็กๆทดลองบวกเลขพวกนี้ทั้งในสเปรดชีต และทดลองถาม Wolfram Alpha ดู ตัวอย่างสเปรดชีตมีที่นี่และที่นี่ครับ

วิทย์ประถม: ความเฉื่อย, ตอกและงัดตะปู, คานดีดคานงัด

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ประถมต้นได้ทดลองเล่นกับความเฉื่อย ประถมปลายหัดตอกและงัดตะปู เรียนรู้เรื่องคาน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือเสกให้คนลอยครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ผมเล่าเรื่องการระเบิดของแอมโมเนียมไนเตรตที่เมืองเบรุตสัปดาห์ที่แล้วให้เด็กๆฟังด้วยข้อมูลจาก “วิทย์ม.ต้น: หัดเป็นนักสืบโคนันจากวิดีโอระเบิดในเบรุต, เปรียบเทียบระเบิดนิวเคลียร์, ทดลองทำให้กระป๋องสมดุล” และภาพข้างล่างนี้ครับ:

ภาพจาก https://www.compoundchem.com/2020/08/05/ammonium-nitrate/

จากนั้นผมคุยกับเด็กประถมต้นเรื่องความเฉื่อย

“ความเฉื่อย” หรือ Inertia (อ่านว่า อิ-เนอร์-เชียะ) เป็นคุณสมบัติของวัตถุทุกๆอย่างครับ เป็นคุณสมบัติของวัตถุต่างๆที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของมัน ถ้าอยู่เฉยๆก็จะอยู่เฉยๆไปเรื่อยๆจนมีอะไรมาทำอะไรกับมัน ถ้าเคลื่อนที่อยู่แล้วก็ไม่อยากหยุด ไม่อยากวิ่งเร็วขึ้นหรือช้าลง ไม่อยากเลี้ยว ถ้าจะทำให้หยุด หรือเร็วขึ้นช้าลง หรือเลี้ยว ก็ต้องมีแรงมากระทำกับมัน เราเรียกปริมาณความเฉื่อยของวัตถุแต่ละชิ้นว่า “มวล” ของวัตถุ

บนโลก เราพูดถึงนำ้หนักซึ่งคือแรงดึงดูดระหว่างมวลของโลกและมวลของวัตถุ เราเรียกแรงดึงดูดระหว่างมวลนี้ว่าแรงโน้มถ่วง วัตถุไหนมวลมากน้ำหนักที่ชั่งที่ผิวโลกก็หนักมาก

ในอวกาศไกลๆจากโลก แม้ว่าวัตถุนั้นจะมีน้ำหนักน้อยมากๆ (เพราะน้ำหนักคือแรงดึงดูดจากโลกมีค่าน้อยลงเมื่อห่างจากโลก) มวลหรือความเฉื่อยของมันก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม และทำให้วัตถุไม่อยากเปลี่ยนแปลงการหยุดนิ่งหรือเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของมัน ถ้าจะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีแรงอะไรไปผลักดันดูดดึงมัน

สำหรับกลความเฉื่อยของเหรียญ เราเอากระดาษขนาดแบ็งค์ยี่สิบมาวางบนปากขวดแก้ว แล้วเอาเหรียญสักสองสามเหรียญทับไว้ แล้วให้เด็กๆพยายามเอากระดาษออกมาโดยไม่จับเหรียญ และให้เหรียญอยู่บนขวดเหมือนเดิมครับ

เฉลยคือ เราเอานิ้วชี้และนิ้วกลางไปแตะน้ำให้ชื้นๆนิดหน่อย แล้วใช้สองนิ้วนั้นตีเร็วๆที่กระดาษ กระดาษจะติดนิ้วออกมาอย่างรวดเร็ว แต่เหรียญมีความเฉื่อยอยู่ไม่อยากขยับไปไหน จึงอยู่ที่ปากขวดเหมือนเดิม

อีกการทดลองหนึ่งก็คือก็เอากระดาษแข็งหรือไม้ไอติมไปวางปิดปากถ้วยพลาสติก แล้วเอาเหรียญไปวางไว้ข้างบน ถ้าเราเคาะหรือดีดกระดาษแข็งในแนวนอน เหรียญก็จะไม่ค่อยขยับ ถ้าจะขยับนิดหน่อยก็เพราะความฝืดจากกระดาษ ถ้าเราดีดกระดาษแข็งเร็วพอ กระดาษก็จะกระเด็นไป ขณะที่เหรียญตั้งอยู่ที่เดิม แล้วก็ตกลงไปในถ้วย ถ้าเราเลื่อนกระดาษช้าๆ แรงเสียดทานจากกระดาษก็จะเพียงพอที่จะลากเหรียญไปด้วย แต่เมื่อเราดีดกระดาษออกไปอย่างรวดเร็ว แรงเสียดทานจากกระดาษไม่เพียงพอที่จะพาเหรียญให้ติดไปกับกระดาษได้ เหรียญจึงอยู่เกือบๆที่เดิม และเมื่อไม่มีกระดาษรองอยู่ โลกก็ดึงดูดเหรียญให้ตกลงไปในถ้วย

คลิปการทดลองจะเป็นประมาณนี้ครับ:

เด็กๆแยกย้ายทดลองกันครับ:

สำหรับเด็กประถมปลาย เราคุยกันเรื่องเครื่องทุ่นแรงต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้ผมให้หัดตอกและงัดตะปู การงัดตะปูเป็นการใช้คานเป็นเครื่องทุ่นแรงครับ

ผมก็สาธิตวิธีการตอกตะปูเข้าไปในไม้ให้ดู ให้เด็กๆพยายามดึงตะปูออกด้วยมือเปล่าซึ่งเด็กๆก็ไม่สามารถดึงออกได้ แล้วผมก็สาธิตการถอนตะปูโดยใช้ค้อนงัดออก

ผมอธิบายให้เด็กๆฟังว่าการงัดตะปูด้วยค้อนเป็นตัวอย่างหนึ่งของเครื่องทุ่นแรงที่เรียกว่าคาน โดยหลักการก็คือเราต้องมีแท่งอะไรแข็งๆที่ขยับรอบๆจุดๆหนึ่งที่เรียกว่าจุดหมุน โดยที่เราจะจับแท่งนี้สักตำแหน่งแล้วออกแรง โดยที่สิ่งที่เราพยายามถอนหรือยกจะติดกับคานอีกตำแหน่งหนึ่ง ถ้าระยะทางจากมือเราไปยังจุดหมุนยาวกว่าระยะจากสิ่งที่เราจะถอนหรือยกไปยังจุดหมุน คานก็จะผ่อนแรงเราให้เราใช้แรงน้อยลง

ภาพจาก https://etc.usf.edu/clipart/67200/67264/67264_proportions.htm

ยกตัวอย่างเช่นในรูปข้างบน ระยะทางจากตะปูที่เราจะถอนไปยังจุดหมุน (d) น้อยกว่าระยะทางจากจุดหมุนไปที่มือเราจับด้ามค้อน (D) ประมาณห้าเท่า ค้อนก็ทำหน้าที่ผ่อนแรงเราไปห้าเท่าทำให้เรางัดตะปูออกมาโดยไม่ยากเท่าไร

การผ่อนแรงนี้ไม่ได้มาฟรีๆ เราออกแรงน้อยลงก็จริง แต่ต้องขยับเป็นระยะทางมากขึ้นเพื่อแลกกับการออกแรงน้อยลง

พอเด็กๆรู้วิธีก็แยกย้ายกันทดลองเองครับ: