วิทย์ประถม: สมดุล, คานทุ่นแรง, สะกดจิตไก่

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ประถมต้นได้เรียนรู้เรื่องการทรงตัว และหัดเล่นกลตั้งกระป๋องเอียงๆ ประถมปลายได้เรียนรู้เรื่องการสะกดจิตไก่และเครื่องทุ่นแรงประเภทคานครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือเสกวิญญาณออกมาจากพิรามิดครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

เราคุยกันเรื่องจุดศูนย์ถ่วงกันต่อจากคราวที่แล้ว (วิทย์ประถม: เรียนรู้เรื่องสมดุลและจุดศูนย์ถ่วง) สำหรับเด็กประถมต้นผมอธิบายให้ฟังว่าเมื่อเรายืนอยู่ เท้าของเราจะอยู่ใต้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย

เราทำการทดลองโดยไปยืนให้ส้นเท้าและหลังติดกับผนัง แล้วพยายามก้มลงเก็บของที่พื้นโดยไม่งอเข่า เราจะล้มเมื่อพยายามทำอย่างนั้น เพราะเมื่อเราก้มโดยที่เราไม่สามารถขยับน้ำหนักไปข้างหลัง (เพราะหลังติดกำแพงอยู่) จุดศูนย์ถ่วงของเราจะล้ำไปข้างหน้า อยู่ข้างหน้าเท้าของเรา แล้วตัวเราก็จะเริ่มเสียสมดุลย์แล้วล้มในที่สุด:

ถ้าเราสังเกตเวลาเราก้มตัวเก็บของ เราจะมีบางส่วนของร่างกายอยู่แนวหลังเท้าและบางส่วนอยู่แนวหน้าเท้าเสมอ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะล้มเนื่องจากจุดศูนย์ถ่วงอยู่นอกบริเวณรับน้ำหนักที่เท้าครับ

จากนั้นผมก็เล่นกลตั้งกระป๋องให้เด็กๆดู:

วิธีทำก็คือใส่น้ำเข้าไปในกระป๋องบ้าง ประมาณ 1/8 กระป๋อง  แล้วจับกระป๋องเอียงให้ก้นที่ตัดเฉียงๆของมันทาบกับพื้น น้ำจะเป็นตัวถ่วงให้มันตั้งอยู่ได้ครับ พอเฉลยเสร็จผมก็ใส่น้ำเข้าไปทีละนิดให้เด็กๆเห็นว่าถ้าใส่น้ำน้อยไปกระป๋องก็ล้ม ถ้าใส่มากไปกระป๋องก็ล้ม ต้องใส่น้ำอยู่ประมาณพอดีๆแล้วจะตั้งกระป๋องได้

เด็กๆแยกย้ายหัดเล่นกันครับ:

สำหรับเด็กประถมปลาย เนื่องจากเด็กๆมีโปรเจ็กเลี้ยงไก่ ผมจึงให้ดูวิธีสะกดจิตไก่ตามคลิปสองอันนี้ บอกว่าเด็กๆควรไปทดลองทำดู:

จากนั้นผมให้เด็กๆรู้จักเครื่องทุ่นแรงที่เรียกว่าคานกันครับ ตอนแรกผมให้เด็กๆพยายามช่วยกันยกให้ตัวผมสูงขึ้นจากพื้น:

เด็กๆพบว่าขยับตัวผมได้ยากมากๆ แต่พอเอาท่อเหล็กมาทำเป็นคานงัด เด็กแต่ละคนก็สามารถยกให้ตัวผมสูงขึ้นมาจากพื้นได้

ผมเอารูปคานทั้งสามแบบให้เด็กๆดู:

จากนั้นผมให้เด็กๆผลัดกันขึ้นมาทดลองเปรียบเทียบแรงที่จับคานประเภท 1 ให้สังเกตว่าถ้าจะจับให้คานทรงตัวอยู่บนจุดหมุน จะต้องออกแรงด้านที่ใกล้จุดหมุนมากกว่าด้านที่ไกล ให้เด็กๆจำความรู้สึกนี้เอาไว้:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.