หุ่นยนต์ปลากระเบน ยิงเป้าด้วยพลังงานศักย์

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้ดูคลิปวิดีโอหุ่นยนต์ปลากระเบนจิ๋วที่ทำจากเซลกล้ามเนื้อหัวใจ มีโครงกระดูกทำด้วยทอง และเมื่อโดนแสงจะขยับว่ายน้ำ ได้ดูการขยับของกล้ามเนื้อสัตว์พึ่งตายหลายแบบเมื่อโดนเกลือเช่นปลาหมึก ขากบ และปลา ได้เล่นเกมที่ต่อยอดมาจากปรากฎการณ์พลังงานศักย์โน้มถ่วง (ความสูง) เปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ (ความเร็ว) โดยทำการปล่อยลูกแก้วจากที่สูง ปรับทิศทางที่ลูกแก้ววิ่งออกมาจากท่อพลาสติกให้ลูกแก้วลอยไปโดนกลองที่เป็นเป้า เด็กอนุบาลสามก็ได้เล่นคล้ายๆประถมแต่เล่นเป็นรถไฟเหาะแบบสัปดาห์ที่แล้วเป็นส่วนใหญ่ครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ คราวที่แล้วเรื่อง “ภาพลวงตา: สี่เหลี่ยมหรือวงกลม ของเล่นรถไฟเหาะตีลังกา กระเด้งบอลสูงเกินคาด” ครับ)

เด็กประถมได้ดูคลิปวิดีโอหุ่นยนต์ปลากระเบนจิ๋วครับ:

คนทำเขาเอาเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจหนู (เอามาจากตัวอ่อนอายุ 2 วัน) มาจัดเรียงเป็นลวดลายบนโครงกระดูกที่ทำจากทองหุ้มซิลิโคน เซลล์เหล่านี้ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมให้หดตัวเมื่อโดนแสง ดังนั้นเมื่อเอาแสงส่องเป็นจังหวะ เซลล์กล้ามเนื้อก็จะหดตัว แล้วกระเด้งกลับไปที่เดิมด้วยความยืดหยุ่นของโครงกระดูกทอง ถ้าแสงด้านซ้ายขวากระพริบไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อด้านซ้ายขวาก็จะหดตัวเป็นจังหวะไม่เท่ากัน ทำให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้

ผู้วิจัยมีโครงการวิจัยเรื่องสร้างหัวใจเทียมมานาน หุ่นยนต์ปลากระเบนนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งในงานวิจัยของเขาครับ ลองอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่นะครับ

ผมเอาคลิปนี้มาให้เด็กๆดูเพื่อให้เด็กๆมีความคิดจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆในโลกครับ ของที่ดีที่สุดในโลกทั้งหลายยังไม่เกิดครับ อนาคตจะดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อชาวโลกแก้ปัญหาต่างๆและประดิษฐ์นู่นนี่ไปเรื่อยๆ และหยุดคิดว่าของดีๆทั้งหลายเคยมีมาหมดแล้วครับ Continue reading หุ่นยนต์ปลากระเบน ยิงเป้าด้วยพลังงานศักย์

สอนวิทย์มัธยม 1: ความร้อนจากกระแสไฟฟ้า ลองต่อ LED เล่นกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมาเด็กๆได้ทำความคุ้นเคยกับ กระแสไฟฟ้า (I) แรงดันไฟฟ้า (V) ความต้านทาน (R) และความร้อนที่เกิดขึ้นจากการไหลของกระแส I ผ่านความต้านทาน R ครับ

ผมให้เด็กๆทบทวนการต่อความต้านทานเข้าด้วยกันทั้งแบบอนุกรมและขนาน ให้เขาลองวัดค่าความต้านทานจริงๆ ให้เห็น Rรวม = R1 + R2 +… + Rn สำหรับอนุกรม และ 1/Rรวม = 1/R1 + 1/R2 +… + 1/Rn สำหรับขนาน

IMG_9446

ผมเอาฟอยล์อลูมิเนียมมาตัดเป็นเส้นยาวๆ ให้เด็กๆคิดว่าทำอย่างไรให้ความต้านทานเพิ่มขึ้น (เอาหลายเส้นมาต่อกันให้ยาวๆขึ้นไปอีก หรือตัดให้ขนาดความกว้างเส้นลดลง ) ทำอย่างไรให้ความต้านทานลดลง (หรือเอาหลายเส้นมาทบกันให้มีเนื้ออลูมิเนียมเยอะๆหรือตัดแถบอลูมิเนียมให้กว้างๆ หรือตัดให้สั้นๆ)

เราสังเกตว่าเวลาไฟฟ้าวิ่งผ่านฟอยล์อลูมิเนียมจะเกิดความร้อน ผมแนะนำให้เด็กๆรู้จักกำลังไฟฟ้าที่เปลี่ยนเป็นความร้อน (Joule Heating) โดยกำลังไฟฟ้าคือพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยเวลา มีหน่วยเป็นวัตต์ ถ้ากำหนดให้กำลังไฟฟ้าคือ P จะได้ความสัมพันธ์ว่า P = V2/R = I2R = VI เด็กๆได้ทดลองคำนวณวัตต์เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านแถบอลูมิเนียมครับ: Continue reading สอนวิทย์มัธยม 1: ความร้อนจากกระแสไฟฟ้า ลองต่อ LED เล่นกัน

ภาพลวงตา: สี่เหลี่ยมหรือวงกลม ของเล่นรถไฟเหาะตีลังกา กระเด้งบอลสูงเกินคาด

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้ดูวิดีโอภาพลวงตาที่เงาในกระจกไม่เหมือนกับตัวจริงและคำอธิบายว่าทำอย่างไร ได้เห็นการเปลี่ยนความสูงเป็นความเร็ว ได้เล่นปล่อยลูกแก้วในท่อพลาสติกใสๆจากที่สูงเป็นการจำลองรถไฟเหาะตีลังกา เด็กประถมปลายได้เริ่มรู้จักพลังงานศักย์โน้มถ่วงและพลังงานจลน์ เด็กอนุบาลสามได้เล่นลูกบอลที่กระเด้งสูงเกินคาดครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ คราวที่แล้วเรื่อง “ทานตะวันหันตามดวงอาทิตย์อย่างไร ไฟฟ้าและความร้อน ของเบาชนะของหนัก” ครับ)

เด็กประถมได้ดูภาพลวงตานี้ครับ เอาวัตถุไปวางหน้ากระจกแต่ภาพสะท้อนในกระจกดูไม่เหมือนวัตถุ:

ผมให้เด็กๆพยายามเดาเพื่ออธิบายว่ามันเกิดได้อย่างไรครับ เด็กๆสงสัยกระจกว่าเบี้ยวหรือเปล่า มีการตัดต่อวิดีโอหรือเปล่า วัตถุมันนิ่มหรือเปล่า รูปทรงของวัตถุมันบิดเบี้ยวหรือเปล่า

หลังจากเด็กๆได้พยายามคิดคำอธิบายแล้ว ผมก็ให้ดูวิดีโอที่ Captain Disillusion เฉลยไว้ครับ: Continue reading ภาพลวงตา: สี่เหลี่ยมหรือวงกลม ของเล่นรถไฟเหาะตีลังกา กระเด้งบอลสูงเกินคาด

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)