Category Archives: science class

วิทย์ประถม: ปลูกวัคซีนกันถูกหลอกง่ายๆ

วันนี้ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ ทุกครั้งที่เปิดเรียนผมจะทำกิจกรรมปลูกวัคซีนกันถูกหลอกให้เด็กๆ ผมเอาภาพลวงตาและเสียงลวงหูมาให้เด็กๆดูและฟังเพื่อให้รู้ว่าสมองของเราทำงานผิดพลาดได้ง่ายๆ ดังนั้นเมื่อจะเชื่ออะไรต้องระมัดระวัง ต้องดูหลักฐานและกลไกต่างๆว่าน่าจะเป็นจริงหรือไม่ครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “เล่นเรื่องจุดศูนย์ถ่วง หัดวัดความดันโลหิต” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นผมให้เด็กๆดูของแปลกประจำสัปดาห์ครับ คราวนี้คือคลิปนี้ครับ:

อุปกรณ์นี้เรียกว่า Flyboard Air มีเครื่องยนต์เจ็ตขับเคลื่อน ทำให้คนสามารถลอยไปมาได้ เด็กดูแล้วตื่นเต้นกันมาก ผมให้เด็กๆคิดว่ามันปลอดภัยไหม และถ้าอันตรายจะทำให้ปลอดภัยขึ้นอย่างไร

ต่อจากนั้นผมก็ให้เด็กๆดูโต๊ะในวิดีโอนี้ ให้ดูว่าอันไหนยาวกว่าครับ:

ทุกคนเห็นว่าโต๊ะด้านซ้ายยาวกว่า แต่เมื่อเราวัดขนาดดูแล้ว ปรากฏว่ามันมีขนาดเท่ากันเป๊ะเลยครับ ผมพิมพ์รูปโต๊ะทั้งสองบนกระดาษแจกให้เด็กๆไปวัดและเทียบกันด้วยครับ ภาพนี้นะครับ:

จาก http://smart-kit.com/s868/optical-illusion-tables/

ภาพลวงตาอันต่อไปคือหอนาฬิกาบิ๊กเบนครับ:

จาก https://richardwiseman.wordpress.com/2010/02/24/big-ben-illusion/

ดูเหมือนว่าอันขวาเอียงมากกว่าอันซ้าย แต่ถ้าพิมพ์บนกระดาษแล้วตัดมาเทียบกันมันจะเอียงเท่าๆกันครับ ที่เราเห็นอย่างนี้ก็เพราะว่าสมองคิดว่าทั้งสองภาพรวมกันเป็นภาพของหอนาฬิกาสองอันคู่กัน และเมื่อเรามองหอนาฬิกาจริงๆตั้งคู่กันอยู่ เราจะเห็นยอดของมันลู่เข้าหากัน (เรื่อง perspective) เมื่อเราไม่เห็นมันลู่เข้าหากัน เราจึงคิดว่าหอด้านขวาต้องเอียงอยู่แน่ๆ  ปรากฏการณ์นี้แสดงถึงการที่สมองตีความหมายตามสมมุติฐาน(หรือโปรแกรม)ที่มีอยู่แล้วในสมอง ไม่ใช่เห็นในสิ่งที่เป็น

ปรากฏการณ์เดียวกันนี้อธิบายภาพถนนที่ดูเอียงไม่เหมือนกันทั้งๆที่เป็นภาพเดียวกันทั้งซ้ายขวาด้วยครับ:

จาก https://www.womansworld.com/posts/road-optical-illusion-153381

อีกภาพหนึ่งเรียกว่า Cafe wall illusion ดังนี้ครับ:

จาก http://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-4772156/Caf-wall-illusion-makes-straight-lines-look-slanted.html

แถบสีฟ้าในภาพมันขนานกันนะครับ แต่เรามองมันดูเอียงๆลู่เข้าลู่ออกไม่ขนาน ผมถามเด็กว่าจะเช็คยังไงดี เด็กๆก็ลองวัดระยะห่างของแถบด้านซ้ายและด้านขวา และพบว่ามันเท่ากันครับ นอกจากนี้ถ้าเรามองภาพนี้จากข้างๆจะเห็นว่าแถบสีฟ้ามันขนานกันครับ

ผมแถมให้เด็กๆดูภาพหน้าไอน์สไตน์ผสมมาริลีน มอนโรครับ ถ้าหรี่ๆตาให้ภาพมัวๆหรือมองจากไกลๆจะเห็นหน้ามาริลีน มอนโร (หน้าผู้หญิง) ถ้ามองชัดๆหรือมองใกล้ๆจะเห็นหน้าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (หน้าผู้ชาย):

จาก https://www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/health-news/monroe-or-einstein-optical-illusion-you-may-need-glasses-if-you-see-a-hollywood-actress-rather-than-10154295.html

สำหรับเด็กประถมปลาย นอกจากได้เล่นกับภาพลวงตาข้างบนแล้ว ยังได้ฟังเสียง Yanny vs. Laurel ด้วยครับ:

คนแต่ละคนจะได้ยินคนละคำ ขึ้นกับได้ยินเสียงความถี่สูงหรือความถี่ต่ำเท่าไร หูฟังและลำโพงที่ใช้ก็มีผลครับ ที่เว็บ The New York Times มีให้ปรับปริมาณความถี่เสียงสูงเสียงต่ำด้วยครับ เชิญไปเล่นที่ https://www.nytimes.com/interactive/2018/05/16/upshot/audio-clip-yanny-laurel-debate.html

นอกจากนี้ก็มีเสียงที่ฟังเป็นคำว่า Brainstorm หรือ Green needle ได้ขึ้นกับว่าเราพูดคำไหนในใจเราด้วยครับ ที่ลิงก์นี้ครับ: https://www.reddit.com/r/blackmagicfuckery/comments/8jxzee/you_can_hear_brainstorm_or_green_needle_based_on/

 

วิทย์ม.ต้น: หัดโปรแกรมด้วย Scratch

วันนี้เด็กม.ต้นได้หัดเขียนโปรแกรมด้วย Scratch กันครับ ผมให้เด็กๆสร้างบัญชีผู้ใช้สำหรับตนเอง โปรแกรมต่างๆที่สร้างจะได้ไม่หายไปไหน 

เด็กๆหลายๆคนได้ลองเล่นมาบ้างแล้วหลังจากที่ผมแนะนำให้รู้จักเมื่อวันพุธ วันนี้ผมให้เด็กๆทำ Tutorial ต่างๆที่อยู่บนหน้า Getting Started เพื่อให้เด็กๆรู้จักว่าคำสั่งต่างๆมีอะไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้าง

แม้ว่า Scratch จะมีคำสั่งต่างๆเป็นภาษาไทยด้วย แต่ผมก็บอกเด็กๆให้ใช้แบบภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะเด็กๆโตแล้ว และควรเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษให้ได้ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้จะไม่สามารถค้นคว้าเรื่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างที่ควรจะเป็น จึงควรหัดครับ

ขณะที่เด็กๆทดลองทำสิ่งต่างๆใน Scratch เมื่อติดขัดหรือมีปัญหา ผมก็จะให้เด็กๆปรึกษากันพยายามแก้ปัญหา นอกจากบางกรณีที่ผมต้องลงไปช่วย แต่อยากให้เด็กๆเรียนรู้ด้วยตัวเองและจากเพื่อนๆมากที่สุด เพราะเป็นทักษะสำคัญให้กล้าที่จะเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆไม่ต้องรอให้ใครมาสอนครับ

การบ้านสำหรับศุกร์หน้าคือให้สร้างอะไรที่เด็กแต่ละคนคิดว่าเจ๋งด้วย Scratch แล้วเอามาดูกันในอีกหนึ่งสัปดาห์ครับ

 

วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep. 1, เริ่มหัดสั่งงานคอมพิวเตอร์

วันนี้ที่กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม เด็กๆม.ต้นได้ดูรายการ Cosmos: A Spacetime Odyssey ตอนที่ 1 กันครับ รายการหาดูได้จาก Netflix นะครับ มีซับไทย (ถ้ายังไม่ได้เป็นสมาชิก สามารถลองดูฟรีได้หนึ่งเดือนครับ มีสารคดีน่าสนใจเยอะดี)

เด็กๆได้รู้จักว่าหลักการสำคัญทางวิทยาศาสตร์คือ “Test ideas by experiment and observation, build on those ideas that pass the test, reject the ones that fail, follow the evidence wherever it leads and question everything.” หรือ “ทดสอบแนวคิดโดยการทดลองและการสังเกต ต่อยอดแนวคิดที่ผ่านการทดสอบแล้ว ปฏิเสธแนวคิดที่ล้มเหลว ติดตามข้อพิสูจน์ไม่ว่ามันจะนำไปที่ไหนก็ตาม และตั้งคำถามทุกอย่าง (อย่าเชื่อง่าย)” หลักการนี้ทำให้เราเข้าใจความจริงว่าธรรมชาติทำงานอย่างไรได้มากขึ้นเรื่อยๆ

เด็กๆได้เริ่มเข้าใจขนาดและอายุของจักรวาล เราอยู่บนโลกซึ่งเป็นดาวเคราะห์เล็กๆที่อยู่ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์หนึ่งในดาวนับแสนล้านดวงในกาแล็กซี่ทางช้างเผือก ทางช้างเผือกเป็นหนึ่งในนับแสนล้านกาแล็กซี่ที่อยู่ในจักรวาลที่เราสังเกตเห็น

เด็กๆได้รู้จักการวัดระยะทางเป็นปีแสง ซึ่งเท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางในสุญญากาศเป็นเวลาหนึ่งปี เท่ากับประมาณ 9-10 ล้านล้านกิโลเมตร (แสงเดินทางได้ประมาณ 3 แสนกิโลเมตรในหนึ่งวินาที และเป็นความเร็วสูงสุดเท่าที่เรารู้ในจักรวาลเรา)

อายุจักรวาลประมาณ 13,800 ล้านปี และเราพยายามเข้าใจเวลายาวๆโดยบีบให้เวลาทั้ง 13,800 ล้านปีมาอยู่ในปฏิทินปีเดียว โดยให้วันที่ 1 มกราคือจุดเริ่มต้นของจักรวาลของเรา และเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคือปัจจุบัน วิธีนี้เรียกว่า Cosmic Calendar ด้วยวิธีนี้ 1 วันในปฏิทินเท่ากับประมาณ 40 ล้าน ปี 1 เดือนในปฏิทินเท่ากับประมาณพันล้านปี ด้วยอัตราส่วนในปฏิทินมนุษย์พึ่งเริ่มเขียนหนังสือสิบกว่าวินาทีก่อนเที่ยงคืนครับ (ลองกดเข้าไปดูเหตุการณ์สำคัญต่างๆว่าอยู่ในปฏิทินวันไหนนะครับ เข้าไปที่เว็บเต็มของเขาเพื่อดูรายละเอียดได้ด้วยครับ)

By Efbrazil, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=18385338

ลิงก์เพิ่มเติมสำหรับให้นักเรียนไปศึกษาเพิ่มเติมครับ (ในวิดีโอแรกมีข้อผิดพลาดว่าขนาดจักรวาลคือ 13,000 ล้านปีแสง จริงๆน่าจะใกล้ๆ 92,000 ล้านปีแสง เพราะการขยายตัวของจักรวาลด้วยครับ):

เวลาครึ่งชั่วโมงสุดท้ายเด็กๆได้รู้จัก Scratch สำหรับหัดเขียนโปรแกรมกันครับ แนะนำให้เด็กๆไปสร้างบัญชีไว้ (กด Join Scratch) และลองเล่น Tutorial แล้วในอนาคตเราจะเรียนรู้เรื่องการสั่งงานให้คอมพิวเตอร์ทำงานให้ครับ