ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดเมฆ และเราได้ทำเมฆในขวดกัน เด็กประถมปลายได้ฟังผมเล่าเรื่องยาน Voyager และภาพถ่าย Pale Blue Dot รวมถึงวงโคจร James Webb Space Telescope ด้วย
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้มีกลงอช้อน:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ
ผมถามเด็กๆว่าเมฆเกิดมาได้อย่างไร เด็กๆก็ตอบกันว่าต้องมีไอน้ำ ผมก็บอกว่าถูกแล้วต้องมีไอน้ำ แต่ปกติเราจะไม่เห็นไอน้ำ แล้วเราเห็นเมฆขาวๆได้อย่างไร เด็กๆบอกว่าเราก็เห็นไอน้ำขาวๆลอยออกมาจากน้ำร้อนๆหรือต้มน้ำนะ ผมบอกว่าสิ่งที่เราเห็นสีขาวๆนั้น เป็นหยดน้ำเล็กๆที่เกิดจากไอน้ำเย็นตัวลงแล้วควบแน่นเป็นหยดน้ำ เมฆก็เช่นกัน เกิดจากการที่ไอน้ำลอยขึ้นไปสูงๆแล้วควบแน่นเป็นหยดน้ำเล็กๆสะท้อนแสงสีขาวอยู่ในท้องฟ้านั่นเอง
มีข้อมูลเกี่ยวกับเมฆในคลิปสั้นๆนี้เผื่อเด็กๆต้องการฝึกใช้ภาษาด้วยครับ:
หลักการธรรมชาติอีกอย่างก็คือ เมื่อเราอัดอากาศให้มีความดันเพิ่มขึ้น อุณหภูมิอากาศจะสูงขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าเราให้อากาศขยายตัว อุณหภูมิของมันก็จะต่ำลง ถ้าเราสามารถให้อากาศขยายตัวอย่างรวดเร็วให้ความดันลดอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิมันก็จะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกันครับ
ใช้หลักการที่ว่าอากาศขยายตัวจะเย็นมาสร้างเมฆในขวดครับ โดยเอาน้ำหรือแอลกอฮอล์เล็กน้อยใส่ขวดใส อัดอากาศเข้าไปให้ความดันสูงๆ อุณหภูมิในขวดก็จะสูงขึ้นด้วยตามความดันทำให้มีน้ำหรือแอลกอฮอล์ระเหยเป็นไอมากขึ้น เมื่อเปิดปากขวดให้อากาศวิ่งออกอย่างรวดเร็ว ความดันข้างในก็จะลดลง อุณหภูมิก็ลดลงอย่างรวดเร็วด้วย ไอน้ำหรือไอแอลกอฮอล์ก็จะควบแน่นกลายเป็นละอองเล็กๆลอยอยู่ในขวด เป็นเมฆหมอกให้เราเห็น เมฆในท้องฟ้าก็เกิดแบบประมาณนี้ โดยไอน้ำลอยขึ้นไปสูงๆแล้วเย็นลงควบแน่นเป็นเมฆครับ ตอนอัดอากาศและตอนปล่อยอากาศเราลองวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์อินฟราเรดด้วยครับ พบว่าอุณหภูมิต่างกันประมาณ 4-7 องศาเซลเซียส
ผมเคยบันทึกวิธีทำไว้ในคลิปเหล่านี้ครับ อันนี้ทำด้วยน้ำเย็น:
อันนี้ทำด้วยแอลกอฮอล์:
อันนี้เปรียบเทียบระหว่างทำด้วยน้ำ ทำด้วยแอลกอฮอล์ และแบบใช้ขวดเปล่า:
สำหรับเด็กประถมปลาย ผมเล่าเรื่องเกี่ยวกับยาน Voyager และภาพถ่าย Pale Blue Dot ด้วยข้อมูลจากลิงก์ Voyager 1’s Pale Blue Dot และคลิป Pale Blue Dot อ่านโดย Carl Sagan (ซับไทย) และเรื่องวงโคจรของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ด้วยลิงก์ Webb Orbit
คลิปบรรยากาศกิจกรรมวันนี้ครับ:
วันนี้เราพูดคุยกันเรื่องการเกิดเมฆ และทดลองทำเมฆในขวดกันครับ
Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, 29 November 2022