ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมและอนุบาลสามมาครับ เด็กประถมได้หัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล และได้เล่นเครื่องทุ่นแรงใช้ลมยกของหนักๆ อนุบาลสามได้เล่นตะเกียบลม
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมประถมอยู่ที่นี่ กิจกรรมอนุบาลสามอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือเสกให้รถรางหายไปครับ:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
ต่อไปผมให้เด็กๆรู้จักการใช้ลม (นิวแมติกส์) หรือของเหลว (ไฮดรอลิกส์) เป็นเครื่องทุ่นแรงยกของหนักๆครับ วันนี้เราเล่นกับลมก่อน ถ้าเราเป่าลมใส่ถุงพลาสติกใช้ยกของต่างๆ เราพบว่ามีแรงยกมากกว่าที่เราคาดคิด
ถุงลมยกน้ำหนักมากๆได้ก็เพราะว่าขนาดพื้นที่ของถุงมีขนาดใหญ่พอ เมื่อเป่าลมเข้าไปทำให้ถุงมีความดันอากาศ ผิวของถุงก็ช่วยกันพยุงน้ำหนักที่กดทับอยู่ ยิ่งถุงใหญ่เท่าไร (และถ้าวัสดุของถุงมีความทนทานพอ ไม่แตกหรือรั่วเสียก่อน) ถุงก็จะสามารถยกน้ำหนักได้มากขึ้นเท่านั้น (แต่ก็ต้องแลกด้วยปริมาณอากาศที่ต้องเป่าเข้าไปมากขึ้นเมื่อเทียบกับถุงเล็ก) น้ำหนักที่ยกได้เท่ากับพื้นที่คูณกับความดันอากาศนั่นเอง หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการทำงานของยางรถยนต์ ยางรถมีความทนทานมากสามารถอัดอากาศความดันสูงๆเข้าไปได้เยอะๆ ทำให้ยางสามารถรับน้ำหนักรถเป็นตันๆได้ครับ
คลิปตอนสอนวิธีให้เด็กๆทำตามครับ:
เด็กๆพอรู้วิธีก็แยกย้ายกันเล่น:
ผมมีคลิปทำนองนี้กับเด็กๆชั้นอื่นด้วยครับ:
สำหรับเด็กอนุบาลสามบ้านพลอยภูมิ เราเล่น “ตะเกียบลม” กันครับ
ผมสอนให้เล่นตะเกียบลมที่ใช้หลักการที่ว่าเมื่อลมวิ่งไปตามผิวโค้งๆของลูกบอล กระแสลมจะโอบล้อมลูกบอลและดึงให้ลูกบอลอยู่ในกระแสลมนั้น ทำให้เราสามารถเลี้ยงลูกปิงปองด้วยเครื่องเป่าผมหรือลูกบอลชายหาดด้วยเครื่องเป่าใบไม้ได้ สามารถเอียงกระแสลมไปมาให้ลูกบอลลอยตามก็ได้ครับ
วิธีเล่นผมเคยบันทึกไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:
เนื่องจากเรามองไม่เห็นสายลม (แม้ว่าจะรู้สึกได้) เราก็สามารถดูสายน้ำแทนครับ มันทำตัวคล้ายๆกัน:
การที่สายลมหรือสายน้ำวิ่งไปตามผิวโค้งๆของลูกโป่ง (หรือลูกบอลต่างๆที่เราใช้) และดูดลูกโป่งจะเปรียบเสมือนสายลมหรือสายน้ำทำตัวเป็นตะเกียบล่องหน คีบลูกโป่งไว้ครับ ปรากฎการณ์ที่ของไหล (สายลมหรือสายน้ำ) ชอบวิ่งไปตามผิววัตถุอย่างนี้มีชื่อว่า Coanda Effect ครับ
ถ้าสายลมแรงพอ เช่นออกมาจากเครื่องอัดลมความดันสูง แรงลมสามารถ “คีบ” ไขควงให้ลอยอยู่ได้ด้วยครับ:
พอเด็กๆรู้วิธีเล่นก็แยกย้ายกันเล่นเองครับ: