วันพุธสัปดาห์นี้เด็กๆมัธยมต้นเรียนเรื่อง effort justification จากหนังสือ The Art of Thinking Clearly โดยคุณ Rolf Dobelli ที่เรามักจะให้ค่าทางจิตใจสูงกว่าที่ควรกับสิ่งที่เราต้องใช้ความพยายามอย่างมากกับมัน ตัวอย่างเช่น IKEA effect ที่เราชอบเฟอร์นิเจอร์ที่เราประกอบเองมากกว่าเพราะเราลงแรงประกอบมัน อีกตัวอย่างก็เช่นประเพณีรับน้องในสถาบันต่างๆที่สร้างความลำบากต่างๆให้สมาชิกใหม่ทำให้สมาชิกมีความเหนียวแน่นกับสถาบันมากขึ้น
จากนั้นเราก็คุยกันถึงอนาคตของมนุษยชาติ เป็นตอนจบของ Big History Project ครับ
พอพูดถึงอนาคตของมนุษยชาติ ผมก็แนะนำให้เด็กๆรู้จักกับ Fermi Paradox ที่สงสัยว่าทำไมเรายังไม่พบหลักฐานสิ่งมีชีวิตนอกโลกทั้งๆที่มีจำนวนดาวมากมายกว่าจำนวนเม็ดทรายบนโลกเป็นพันเป็นหมื่นเท่า อีกทั้งจักรวาลก็มีอายุเป็นหมื่นล้านปีแล้ว ถ้ามนุษย์ต่างดาวมีเวลาสักไม่กี่ล้านปีก็น่าจะมีหลักฐานอยู่ทั่วๆทางช้างเผือกแล้ว
ไม่แน่ว่าถ้าเผ่าพันธุ์เราไม่สูญพันธ์ุในเวลาสักพันสองพันปีข้างหน้า ลูกหลานเราอาจจะเริ่มได้เดินทางไปอยู่ตามดาวต่างๆนอกระบบสุริยะ และในเวลาไม่กี่ล้านปีอาจอยู่เต็มทางช้างเผือกก็ได้
ผมให้เด็กๆซาบซึ้งกับระยะทางมหาศาลระหว่างดวงดาวและความเร็วของแสงที่เร็วมากเมื่อเทียบกับตัวเราแต่ช้ามากๆเมื่อเทียบกับระยะทางระหว่างดวงดาวโดยให้ดูคลิปเหล่านี้:
ขณะที่เด็กๆนั่งรอแสงให้วิ่งจากดวงอาทิตย์มาที่ดาวพุธ ศุกร์ และโลกในวิดีโอข้างบน ผมเปรียบเทียบให้เด็กฟังว่าบนจอทีวีขนาดใหญ่ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์จะมีขนาดประมาณครึ่งเมตรและแสงใช้เวลาเดินทาง 8 นาทีกว่าๆ ดาวฤกษ์ใกล้สุดจะอยู่แถวๆพัทยาและแสงใช้เวลา 4 ปี
เวลาที่เหลือผมแนะนำให้เด็กๆรู้จักการคำนวณค่าเฉลี่ย (mean) และค่าเบี่ยงเบนของค่าเฉลี่ย (standard error of the mean, SEM) จากข้อมูลการตกของเหรียญในกระปุกหลุมดำ และแนะนำวิธีวัดและเก็บข้อมูลให้มีคุณภาพดีขึ้นและตรวจสอบแหล่งข้อมูลได้ดีขึ้นครับ เราคงจะคุยกันเรื่องทำนองนี้ต่อในอนาคตเมื่อหัดทดลองและเก็บข้อมูลต่างๆต่อไป
ภาพและวิดีโอบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ: