ภาพยนตร์ทำงานอย่างไร วงล้อภาพยนตร์ จรวดหลอดฉีดยา

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมไห้หัดอธิบายมายากลเป็นการฝึกคิดแบบวิทยาศาสตร์ ได้เรียนรู้ว่าภาพยนตร์เกิดจากการแสดงภาพนิ่งจำนวนมากในเวลาน้อยๆ (เช่น 24, 30, 60 ภาพต่อวินาที) แล้วสมองตีความว่ามีการเคลื่อนไหว เด็กประถมต้นได้เล่นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าวงล้อภาพยนตร์ ประถมปลายได้ทั้งเล่นและหัดสร้างด้วย อนุบาลสามได้เล่นจรวดโฟมติดหลอดฉีดยากันครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “เป่าลูกดอกอย่างไรไปไกลๆ เล่นแข่ง Strandbeest แม่แรงเพิ่มพลัง” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือกลเสกให้คนย้ายที่จากที่หนี่งไปอีกที่หนึ่งครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

สำหรับเด็กประถมผมถามรู้ไหมว่าเราเห็นภาพยนตร์เคลื่อนไหวได้อย่างไรในโรงหนังหรือบนทีวี เด็กหลายๆคนคิดว่าต้องมีหลายๆภาพวิ่งให้เราดูแน่เลย ผมเลยเอาวิดีโอคลิปขึ้นมาเปิดให้ดู จับให้วิดีโอหยุดแล้วค่อยๆขยับดูภาพต่อไปเรื่อยๆ เด็กๆจึงเข้าใจว่าการที่เราเห็นสิ่งต่างๆเคลื่อนไหวในภาพยนตร์ได้นั้น เป็นเพราะเวลาเอาภาพนิ่งหลายๆภาพที่ค่อยๆต่างทีละนิดมาเรียงให้ดูในเวลาสั้นๆ ตาและสมองเราจะแปลความหมายเชื่อมโยงภาพเหล่านั้นเป็นการเคลื่อนไหว

ผมยกตัวอย่างให้เด็กฟังว่าถ้าเราดูหนังในโรงหนัง เราจะเห็นภาพ 24 ภาพในหนึ่งวินาที ถ้าเราดูทีวีเราจะเห็นภาพ 25 หรือ 30 ภาพต่อวินาที ภาพแต่ละภาพเป็นภาพนิ่ง แต่พอมาเรียงกันแล้วดูต่อเนื่องเราจะแปลความเองว่ามีการเคลื่อนไหว

ภาพสโลโมชั่นสร้างจากการที่เวลาถ่ายภาพมา จะถ่ายภาพต่อวินาทีมากกว่าตอนเอามาดู เช่นถ้าถ่าย 3,000 ภาพต่อวินาที แล้วเอามาดูที่ 30 ภาพต่อวินาที เราจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างช้าลง 3,000/30 = 100 เท่า

ในทางกลับกัน ถ้าเราถ่ายภาพต่อวินาทีน้อยกว่าตอนเอามาดู เช่นตอนถ่ายถ่ายหนึ่งภาพต่อวินาที แล้วมาดูที่ 30 ภาพต่อวินาที เราก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเร็วขึ้น 30/1 = 30 เท่า

จากนั้นผมก็บอกเด็กๆว่าเราจะมาประดิษฐ์ของเล่นที่คนสมัยก่อนเมื่อประมาเกือบสองร้อยปีที่แล้วสร้างขึ้นเพื่อทำภาพเคลื่อนไหวดูกัน ของเล่นนี้เรียกว่าวงล้อภาพยนตร์ (movie wheel หรือ phenakistoscope) เด็กๆสามารถสร้างได้ในเวลาสัก 10-20 นาที

วัสดุที่ต้องเตรียมก็มี 1. กระดาษ A4  2. กระดาษแข็งขนาดใหญ่พอที่จะตัดเป็นวงกลมขนาดประมาณ 8 นิ้วได้  3. กาว  4. ไม้จิ้มฟัน หรือคลิปหนีบกระดาษ หรือแท่งอะไรกลมๆเล็กๆ  5. ชิ้นโฟมหรือฟองน้ำแข็งเล็กๆ 6. เทปกาว 7. กระจก

วิธีทำก็คือไปโหลดไฟล์นี้มา แล้วพิมพ์ลงบนกระดาษ A4 โดยบอกพรินเตอร์ว่าให้ขยายภาพจนเต็มกระดาษ  หน้าตาของวงกลมในไฟล์จะเป็นอย่างนี้:

จากนั้นเราก็ตัดวงกลมนี้ไปแปะบนกระดาษแข็งด้วยกาว แล้วก็ตัดกระดาษแข็งตามรูปวงกลม แล้วก็ตัดส่วนซี่ดำๆที่อยู่บนขอบทั้ง 12 ซี่ออกด้วย เราจะได้มองลอดผ่านซี่ต่างๆได้ด้วย

แล้วเราก็วาดรูปทั้งหมด 12 รูปให้อยู่ระหว่างซี่ทั้ง 12 ซี่  รูปแต่ละรูปควรจะต่างกับรูปติดกันไม่มากนัก รูปแรกและรูปสุดท้ายซึ่งอยู่ติดกันก็ควรไม่ต่างกันมากด้วย เวลาทำเป็นภาพยนตร์ภาพจะได้ไม่กระตุกมาก  ถ้าไม่แน่ใจว่าจะวาดอะไร สามารถโหลดภาพที่มีคนทำไว้แล้วหลายแบบที่เว็บ http://www.sciencetoymaker.org/movie/index.html ครับ ส่วนบนจะมีลิงค์ให้โหลดภาพต่างๆมาพิมพ์บนกระดาษ A4

จากนั้นก็เจาะรูตรงกลางวงกลม เอาชิ้นโฟมไปติดด้านหลังของรู แล้วสอดไม้จิ้มฟันหรือลวดคลิปหนีบกระดาษเข้าไปให้เป็นแกนหมุน เอาเจ้าวงล้อไปหน้ากระจก เอาด้านที่มีภาพทั้งสิบสองภาพเข้าหากระจก จับไม้จิ้มฟันเป็นแกนหมุน แล้วก็จับขอบวงล้อปั่นให้หมุน แล้วเราก็มองภาพสะท้อนในกระจกผ่านซี่ที่ขั้นระหว่างภาพครับ จะเห็นภาพเคลื่อนไหวเป็นภาพยนตร์

ถ้าเราไม่มองภาพผ่านซี่เล็กๆเราจะเห็นภาพทั้งสิบสองภาพรวมกันไปหมด ดูไม่รู้เรื่อง แต่การที่เรามองผ่านซี่เล็กๆนั้น เราจะมีเวลานิดเดียวในการเห็น (เหมือนกับกล้องที่ชัตเตอร์ไวๆ) เราจึงเห็นภาพนิ่งๆอยู่ ไม่เห็นภาพเบลอร์ เนื่องจากแผ่นวงล้อหมุนเร็ว เราก็จะเห็นภาพในตำแหน่งต่อไปเมื่อซี่อันต่อไปวิ่งมาถึง เราก็เห็นภาพนิ่งอีกอันแต่เป็นอันถัดไปจากอันที่แล้ว เราจะเห็นภาพถัดไปเรื่อยๆทุกครั้งที่ล้อหมุนให้เราเห็นผ่านซี่เล็กๆแต่ละอัน สมองเราก็จะรวมภาพทั้งหลายเข้าด้วยกันเป็นภาพยนตร์ต่อเนื่องให้เราเห็นครับ

ถ้าหมุนเร็ว หมุนช้า หรือหมุนกลับทาง เราก็จะเห็นภาพยนตร์วิ่งเร็ว วิ่งช้า หรือวิ่งกลับหลังครับ ของเล่นนี้ทำง่าย และน่าสนุกสำหรับเด็กๆครับ ถ้าเด็กคนไหนวาดรูปเก่งๆ เขาจะได้สร้างสรรค์เต็มที่เลยครับ

ผมอัดคลิปวิธีทำไว้ให้ทำตามด้วยครับ:

เด็กประถมต้นได้เล่นกับวงล้อที่ผมเตรียมมา เด็กประถมปลายได้ประดิษฐ์เองครับ

สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมให้สังเกตว่าเวลาผมปิดปากหลอดฉีดยา เราจะกดให้อากาศภายในเล็กลงได้ แต่จะมีแรงดันที่จะดันให้ก้านหลอดขยับกลับที่เดิม ถ้าขณะที่กดก้านหลอดเข้าไปแล้วเราปล่อยนิ้วจากปากหลอด จะมีอากาศวิ่งออกมาจากปากหลอดได้ยินเป็นเสียงฟิ๊ดเร็วๆ เราจึงทำของเล่นจากการสังเกตนี้ได้ แทนที่เราจะเอานิ้วอุดปากหลอดไว้ เราก็เอากระสุนโฟมมาปิดให้แน่นพอประมาณแทน พอกดหลอดฉีดยา อากาศในหลอดจะเล็กลงจนความดันภายในสูงพอที่จะทำให้กระสุนโฟมหลุดกระเด็นออกไปได้เป็นจรวดเล็กๆ

เด็กๆเล่นกันสนุกสนานดีครับ:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.