วันนี้ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมฝึกคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล จากนั้นก็ทดลองเกี่ยวกับแรงลอยตัว ประถมต้นให้เปรียบเทียบน้ำหนักลูกตุ้มในอากาศและเมื่อจุ่มในน้ำว่าถือแบบไหนหนักกว่า ประถมปลายได้คำนวณปริมาตรลูกตุ้มทรงกลมแล้วดูน้ำหนักที่น้อยลงเมื่อจุ่มลงไปในน้ำ จะเห็นได้ว่าน้ำหนักที่น้อยลงไปเท่ากับน้ำหนักน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยปริมาตรลูกตุ้ม เด็กอนุบาลสามได้เล่นท่อกระดาษม้วนจากกระดาษ A4 ที่สามารถรับน้ำหนักได้มากมายเกินคาด (รับน้ำหนักได้ประมาณพันเท่าน้ำหนักกระดาษ)
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “แรงลอยตัว วัดปริมาตรด้วยการชั่งน้ำหนัก กระดาษจอมพลัง” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลเหล่านี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ อันแรกเป็นการย้ายร่างจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งครับ:
อีกอันคือหนีจากเครื่องบดไม้ครับ:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
เด็กๆประถมต้นได้สังเกตว่าถ้าเราแขวนของหนักๆไว้กับตาชั่งแล้วจุ่มไปในน้ำ น้ำหนักจะลดลงครับ วันนี้เราเอาลูกเปตองหนักเกือบๆ 600 กรัมมาจุ่มน้ำกันครับ เด็กๆทดลองแขวนจากนิ้วด้วย เขาสังเกตได้ว่าเมื่อจุ่มลูกเปตองลงไปในน้ำ นิ้วเขาจะเจ็บน้อยลงแสดงว่าน้ำหนักที่ห้อยจากนิ้วลดลง
เด็กประถมปลายเรียนรู้การคำนวณปริมาตรของลูกเปตองและสังเกตว่าน้ำหนักที่ลดลงไปเมื่อลูกเปตองจุ่มน้ำเท่ากับน้ำหนักน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยลูกเปตองด้วยครับ ลูกเปตองมีรัศมี 3.5 เซ็นติเมตร จึงมีปริมาตรเท่ากับ 4/3 π r3 เท่ากับประมาณ 180 ซีซี น้ำที่มีปริมาตรเท่ากันจะมีน้ำหนัก 180 กรัม สอดคล้องกับน้ำหนักลูกเปตองเหนือน้ำเท่ากับ 565 กรัม และน้ำหนักเมื่อจุ่มน้ำเท่ากับ 385 กรัม (ต่างกัน 565-385 = 180 กรัม = น้ำหนักน้ำที่ถูกแทนที่ = แรงลอยตัวจากน้ำที่พยุงลูกเปตอง = น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นที่ตาชั่งที่รองภาชนะใส่น้ำ)
สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมให้เล่นท่อกระดาษทรงพลังครับ วิธีทำก็ในคลิปนี้ครับ:
ผมให้เอาท่อกระดาษห้าท่อมาวางใต้แผ่นพลาสติกแข็งๆ ทำให้มันดูเหมือนโต๊ะเล็กๆ แล้วให้เด็กๆค่อยๆเอาของเล่นบล็อกไม้มาวางกันทีละคนๆ ดูว่ามันรับน้ำหนักได้แค่ไหน
ใส่จนหมดกล่องก็ยังรับน้ำหนักได้ จึงเอากล่องอื่นๆมาวางซ้อนรวมถึงเก้าอี้ไม้อีกตัวด้วย ก็ยังไม่ล้ม
สุดท้ายเลยเอาโต๊ไม้มาวางทับ แล้วเอากล่องทั้งหมดรวมกับแบ็คแพ็คหนักๆของผมด้วยครับ
ต่อมาผมเอาแกนกระดาษทิชชู่หลายๆอันมาต่อเป็นฐานแล้วอุ้มเด็กๆให้ไปยืนกันข้างบน เด็กๆสนุกสนานกิ๊วก๊าวกันใหญ่
หลังจากเล่นเสร็จแล้ว ผมอธิบายเพิ่มเติมโดยถามเด็กๆว่าใครรู้บ้างกระดาษทำมาจากอะไร เด็กๆหลายคนก็รู้ว่าทำมาจากไม้ ผมก็เล่าเรื่องคร่าวๆว่าคนเอาต้นไม้ไปย่อยเป็นชิ้นเล็กๆผสมน้ำและสารเคมีกัดสีให้ขาว แล้วเอาลูกกลิ้งมารีดเอาน้ำออก แล้วเราก็ได้กระดาษแผ่นบางๆขาวๆ ผมบอกว่าดังนั้นจริงๆแล้วแผ่นกระดาษก็เหมือนไม้ที่บางมากๆ ถ้าเราเอามาม้วนแน่นๆ มันก็จะแข็งและรับน้ำหนักได้มากครับ
ผมเคยทำคลิปเรื่องนี้ไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร. โก้บน YouTube ด้วยครับ เชิญชมนะครับ: