อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ
ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ
(คราวที่แล้วเรื่องวัดความถี่เสียงด้วยไมโครโฟน คอมพิวเตอร์ และโปรแกรม Spectrum Analyzer และเล่นแก้วน้ำร้องเพลงกับเด็กอนุบาลครับ)
วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เราคุยกันเรื่องหัวใจ หัดจับชีพจรและวัดความดันกันสำหรับเด็กประถม สำหรับเด็กอนุบาลเราเล่นของเล่นนักดำน้ำ (Cartesian Diver) กันครับ
เด็กๆประถมทุกคนรู้จักว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่สูบฉีดเลือด เราทุกคนมีหัวใจด้วยกันทั้งสิ้น สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทุกตัวก็มี สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายๆแบบก็มี (เช่นไส้เดือน ปลาหมีก)
เด็กๆหลายๆคนรู้ว่าหัวใจคนมีสี่ห้อง (นกและจรเข้ก็มีเหมือนกัน) แต่เวลาเด็กๆวาดรูปหัวใจเขาจะวาดแบบเหมือนๆกันเป็นรูป ♡ ซึ่งไม่เหมือนของจริง ผมจึงให้เด็กๆดูว่าหัวใจคนจริงๆหน้าตาเป็นอย่างไรดังในวิดีโอคลิปนี้ครับ:
นอกจากนี้เด็กก็ได้เห็นภาพการเต้นของหัวใจจริงๆในห้องผ่าตัด โดยเห็นว่าหัวใจมีเยื่อหุ้มหัวใจอยู่ใต้กระดูกหน้าอกที่เชื่อมซี่โครงด้านหน้า บางคนดูคลิปแล้วหวาดเสียวแต่ผมก็บอกว่ามันเป็นเรื่องปกติ เราทุกคนต่างก็มีหัวใจในหน้าอกเต้นอย่างนี้ทั้งนั้น:
จากนั้นผมก็ถามเด็กๆว่าหัวใจอยู่ตรงไหน เด็กๆหลายคนบอกว่าอยู่ทางซ้ายของหน้าอกพร้อมเอามือไปวางไว้ใต้นมข้างซ้าย ผมจึงบอกเด็กๆว่าจริงๆแล้วหัวใจอยู่แถวๆตรงกลางระหว่างนมแต่หัวใจมันรีๆโดยที่ด้านซ้ายมันใหญ่กว่าด้านขวาจึงทำให้คนบอกต่อๆกันว่าหัวใจอยู่ด้านซ้าย (คือมันค่อนไปทางซ้าย แต่ไม่ได้ไปด้านซ้ายมากๆ นอกจากนี้คนจำนวนน้อยสักหนึ่งในหมื่นสองหมื่นคนจะมีหัวใจที่กลับข้าง เยื้องๆไปด้านขวาแทน)
ผมให้เด็กป.3-5ดูคลิปนี้เพื่อให้เห็นภาพการไหลเวียนของเลือดที่ถูกปั้มผ่านหัวใจ:
ปกติเราจะแบ่งเรียกเลือดแดงเลือดดำ ทำให้เราคิดว่าเลือดดำมีสีดำ ถ้าจะเรียกให้เห็นภาพเราน่าจะเรียกว่าเลือดแดงกับเลือดแดงสดมากกว่า เพราะสิ่งที่เราเรียกว่าเลือดดำนั้นก็มีสีแดง เพียงแต่สิ่งที่เราเรียกว่าเลือดแดงนั้นมีสีแดงสดกว่าเท่านั้นเอง ที่เราเส้นเลือดดำเป็นสีดำๆม่วงๆนั้นก็เพราะว่ามันอยู่ใต้ผิวหนังและมีเส้นเลือดห่อเลือดทำให้เรานึกว่าเลือดมีสีดำ
เด็กป.3-5 รู้ว่าเลือดดำต่างกับเลือดแดงที่เลือดแดงมีออกซิเจนมากกว่า เลือดแดงจะรับออกซิเจนจากปอดแล้ววิ่งไปตามเส้นเลือดแล้วแจกจ่ายออกซิเจนและสารอาหารให้แก่เซลล์ต่างๆในร่างกาย แล้วรับคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียจากเซลล์แล้วกลายเป็นเลือดดำ ในวิดีโอคลิปข้างต้นเราจะเห็นเลือดแดงถูกขับดันจากหัวใจห้องซ้ายล่างออกไปตามเส้นเลือดที่กระจายไปทั่วตัว เลือดดำที่ไหลกลับมาจะมาเข้าที่หัวใจห้องขวาบน แล้วถูกห้องขวาล่างขับดันไปที่ปอด ปอดถ่ายเทออกซิเจนให้เลือดดำกลายเป็นเลือดแดงแล้วไหลเข้าห้องซ้ายบน แล้วห้องซ้ายล่างก็ขับเลือดแดงออกไปยังร่างกายอีก
จากนั้นเราก็ลองจับชีพจรโดยใช้นิ้วชี้+กลาง+นางแตะบริเวณคอข้างๆลูกกระเดือก หรือที่ใกล้ข้อมือด้านโคนนิ้วโป้ง เด็กที่ไม่เคยจับชีพจรก็ตื่นเต้นกันใหญ่ที่ได้รู้สึกการเต้นของหัวใจผ่านการเคลื่อนไหวของเลือดตรงบริเวณที่เราจับชีพจร ผมถามเด็กๆว่าคิดว่ามีคนที่มีชีวิตได้โดยไม่มีชีพจรไหม เด็กๆบอกว่าไม่ได้เพราะต้องมีหัวใจเต้น ผมจึงบอกว่ามีบางคนผ่าตัดใส่หัวใจเทียมที่เป็นเครื่องสูบน้ำเล็กๆแทนที่จะเป็นหัวใจเทียมที่เต้นเป็นจังหวะ เลือดจึงไหลผ่านเส้นเลือดต่างๆอย่างสม่ำเสมอเหมือนน้ำไหลจากก๊อกน้ำ ไม่ไหลเป็นจังหวะ ดังนั้นคนเหล่านี้จึงไม่มีชีพจร
จับชีพจรที่คอ |
จับชีพจรที่ข้อมือ |
นอกจากนี้โรงพยาบาลบางโพและคุณย่าแฉล้มให้พวกเรายืมอุปกรณ์การแพทย์ส่วนเกินมาทดลอง พวกเราจึงได้ทดลองฟังเสียงหัวใจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าสเต็ทโตสโคป (Stethoscope) หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่าหูฟังหมอ ได้สังเกตว่าปากรูหูของเราจะเฉียงไปทางด้านหน้า ได้เห็นการวัดความดันด้วยเครื่องมือที่ใช้น้ำหนักของปรอทวัดความดันที่เรียกว่า Sphygmomanometer โดยได้เห็นระดับปรอทขยับตามการเต้นของหัวใจ และได้วัดความดันและจำนวนครั้งที่หัวใจเต้นต่อนาทีด้วยเครื่องวัดความดันแบบดิจิตอลที่ต่อกับไอโฟน เด็กๆก็ตื่นเต้นสนุกสนานกันพอดู
ทดลองใช้สเต็ทโตสโคป |
วัดความดันด้วยเครื่องวัดดิจิตอลติดกับไอโฟน |
สำหรับเด็กๆอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมได้เอาของเล่นที่เรียกว่านักดำน้ำหรือคาร์ทีเชียนไดเวอร์ (Cartesian Diver) มาให้เด็กๆเล่นกัน ผมเคยเขียนวิธีประดิษฐ์ไว้แล้วที่ ‘ของเล่น “นักดำน้ำ” สำหรับเด็กๆอนุบาล 2+3 และประถม 1+2+3’ นะครับ ถ้าไม่เคยทำควรลองทำดูครับ ใช้เวลาไม่กี่นาที เด็กๆเล่นกันสนุกดี
เด็กอนุบาลเล่นของเล่นนักดำน้ำ |
ต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ
เครื่องวัดความดัน รุ่นนี้ก็ดีครับ ราคคาถูกด้วยใช้งานก็ง่ายกดปุ่มเดียววัดค่าความดันโลหิตได้เลย
คลิปตัวอย่างการใช้งาน เครื่องวัดความดัน ครับ
https://youtu.be/nEdAlqiVWhI