สัปดาห์นี้เราทำกิจกรรมสร้างแบตเตอรี่กันครับ ทำแล้วลองวัดแรงดันไฟฟ้าเป็นโวลท์ และกระแสที่จ่ายได้เป็นแอมป์
แต่ก่อนที่จะคุยเรื่องแบตเตอรี่ เราดูคลิปวิดีโอสองคลิปครับ คลิปแรกเป็นการระเบิดของจรวด Falcon 9 เด็กๆดูคลิปกันแล้วพยายามคิดว่าจรวดอยู่ห่างจากกล้องเท่าไร:
ผมถามเด็กๆว่าจำได้ไหมว่าเวลาเห็นฟ้าแลบก่อนได้ยินเสียงแสดงว่าแสงเดินทางได้เร็วกว่าเสียง จริงๆแสงเดินทางเร็วกว่าเสียงร่วมๆล้านเท่า ดังนั้นช่วงเวลาระหว่างการเห็นแสงและการได้ยินเสียงก็คือเวลาที่เสียงใช้เดินทางมาถึงเรานั่นเอง
ในคลิปวิดีโอข้างบน เราเห็นแสงระเบิดที่เวลา 1:11 นาที และได้ยินเสียงเมื่อ 1:24 นาที ดังนั้นเสียงใช้เวลาเดินทางประมาณ 13 วินาทีด้วยความเร็วประมาณ 340 เมตรต่อวินาที ระยะทางที่เสียงเดินทางมาก็เท่ากับประมาณ (13 วินาที) x ( 340 เมตร/วินาที) = 4,420 เมตร หรือประมาณ 4 กิโลเมตร
อีกคลิปที่เด็กๆดูคือกลอันนี้ครับ ให้ดูครึ่งแรกก่อนแล้วให้คิดเสนอไอเดียกันว่าทำอย่างไรก่อนจะดูครึ่งหลังที่เป็นการเฉลย:
อันนี้เป็นการฝึกให้เด็กๆกล้าคิดกล้าเดาแล้วตรวจสอบคำตอบครับ จะได้ค้นพบความจริงต่างๆได้เองในอนาคต
ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าแบตเตอรี่เป็นแหล่งปล่อยไฟฟ้าจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมี มีส่วนประกอบคือ ขั้วบวก (Cathode) ขั้วบวก (Anode) และอิเล็กโตรไลท์ (Electrolytes) ขั้วไฟฟ้าทั้งสองเรียกรวมๆกันว่า Electrodes ความจริงคำว่า Cathode และ Anode มีความหมายกว้างกว่านี้ แต่สำหรับแบตเตอรี่เราเรียกขั้วบวกและขั้วลบว่า Cathode และ Anode ได้
แบตเตอรี่ถูกประดิษฐ์เมื่อประมาณปีค.ศ. 1800 โดย Alessandro Volta เราจึงตั้งชื่อหน่วยแรงดันไฟฟ้าว่าโวลท์ตามชื่อเขาครับ
เราทดลองสร้างแบตเตอรี่แบบง่ายๆโดยเอาตัวนำไฟฟ้าสองชนิดมาเป็นขั้วไฟฟ้า แล้วจุ่มลงไปในน้ำอิเล็กโตรไลท์แบบต่างๆแล้วลองวัดแรงดันไฟฟ้าว่าได้กี่โวลท์ครับ อิเล็กโตรไลท์ที่ใช้ก็มีแอลกอฮอลล้างแผล (Alcohol) ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซ์ด 3% (H2O2) น้ำเกลือ (เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ+น้ำหนึ่งถ้วย) น้ำเกลือ x 2 (เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ+น้ำหนึ่งถ้วย) น้ำส้มสายชูกลั่น 5% ส่วนตัวนำที่มาทำเป็นขั้วก็มีอลูมิเนียม (Al) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) ตะปูเคลือบสังกะสี ไส้ดินสอดำมาก (4B) และไส้ดินสอสีอ่อน ได้ผลดังนี้ครับ:
Electrolyte | Cathode | Anode | Voltage (V) |
Alcohol | Al | Al | 0.044 |
Alcohol | Cu | Zn | 0.66 |
Alcohol | Cu | ตะปู | 0.71 |
Alcohol | ตะปู | ไส้ดินสอ (สีอ่อน) | 0.73 |
Alcohol | ไส้ดินสอ (4B) | Al | 0.58 |
Alcohol | ไส้ดินสอ (4B) | ตะปู | 0.75 |
H2O2 | Cu | Al | 0.7 |
H2O2 | Cu | Zn | 1.03 |
H2O2 | Cu | Zn | 1.032 |
H2O2 | Cu | Zn | 1.04 |
H2O2 | Cu | ตะปู | 0.95 |
H2O2 | Cu | ตะปู | 0.996 |
H2O2 | Cu | ไส้ดินสอ (4B) | 0.11 |
H2O2 | ตะปู | Zn | 0.07 |
H2O2 | ไส้ดินสอ (4B) | ตะปู | 0.77 |
น้ำเกลือ | Al | ตะปู | 0.22 |
น้ำเกลือ | Cu | Al | 0.52 |
น้ำเกลือ | Cu | Zn | 0.77 |
น้ำเกลือ | CU | ตะปู | 0.75 |
น้ำเกลือ | Zn | ตะปู | 0.02 |
น้ำเกลือ | ไส้ดินสอ (สีอ่อน) | Zn | 0.92 |
น้ำเกลือ x 2 | Cu | Al | 0.5 |
น้ำเกลือ x 2 | Cu | Zn | 0.75 |
น้ำเกลือ x 2 | Cu | ตะปู | 0.73 |
น้ำเกลือ x 2 | ไส้ดินสอ (สีอ่อน) | ตะปู | 1.05 |
น้ำส้มสายชู | Cu | Al | 0.483 |
น้ำส้มสายชู | Cu | Zn | 1.005 |
น้ำส้มสายชู | Cu | ตะปู | 0.96 |
น้ำส้มสายชู | Cu | ตะปู | 0.994 |
น้ำส้มสายชู | ไส้ดินสอ (2B) | Cu | 0.232 |
เราวัดกระแสไฟฟ้าเป็นไมโครแอมป์ (μA) สำหรับแบ็ตเตอรี่ที่ใช้น้ำเกลือเป็นอิเล็กโตรไลท์ด้วยครับ พบว่าทองแดง+สังกะสีให้กระแสมากสุดที่ 700 ไมโครแอมป์:
Electrolyte | Cathode | Anode | Voltage (V) | Current (μA) |
น้ำเกลือ | Cu | Zn | 0.77 | 700 |
น้ำเกลือ | ไส้ดินสอ (สีอ่อน) | Cu | 0.2 | 3 |
น้ำเกลือ | ไส้ดินสอ (4B) | Cu | 0.4 | 0.7 |
น้ำเกลือ | Cu | Al | 0.51 | 300 |
น้ำเกลือ | ไส้ดินสอ (สีอ่อน) | Al | 0.818 | 40 |
น้ำเกลือ | Al | Zn | 0.26 | 130 |
เราเรียนรู้เรื่องการต่อแบตเตอรี่แบบอนุกรมที่ทำให้แรงดันไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่กระแสไฟฟ้าไม่เพิ่ม และการต่อแบบขนานที่แรงดันไฟฟ้าไม่เพิ่มแต่กระแสไฟฟ้าเพิ่ม เราเอาแบต Cu-Zn-น้ำเกลือมาต่ออนุกรมกันสามอันได้แรงดัน 2.31 โวลท์ทำให้ LED เปล่งแสงได้ครับ:
นอกจากนี้เราลองเปลี่ยนอิเล็กโตรไลท์แต่ใช้ขั้ว Cu และ Zn คงเดิม แล้วลองวัดแรงดันไฟฟ้าและกระแสดูครับ:
Electrolyte | Cathode | Anode | Voltage (V) | Current (μA) |
น้ำเกลือ x 3 | Cu | Zn | 0.74 | 200 |
H2O2 | Cu | Zn | 0.88 | 130 |
น้ำส้มสายชู | Cu | Zn | 0.97 | 450 |
Alcohol | Cu | Zn | 0.94 | 30 |
น้ำเกลือ | Cu | Zn | 0.77 | 700 |
พบว่าน้ำเกลือแบบเกลือ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ถ้วยให้กระแสมากสุด รองลงมาคือน้ำส้มสายชู แต่น้ำเกลือที่เข้มข้นมากกว่าสามเท่ากลับให้กระแสน้อยกว่า
ภาพบรรยากาศกิจกรรมครับ: