ดูคลิปน่าสนใจเรื่องก๊าซ คุยกันเรื่องวิวัฒนาการต่อ ของเล่นลูกดอกหลอดกาแฟ

DSC07767

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ สำหรับบันทึกการสอนต่างๆในอดีตเข้าไปดูที่ http://atriumtech.com/sci_kids/ นะครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “เริ่มเรื่องวิวัฒนาการและการคัดเลือกพันธุ์ ของเล่นรถไฟเหาะ” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมและอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เด็กประถมได้ดูคลิปจาก YouTube เกี่ยวกับคุณสมบัติแปลกๆของก๊าซสามชนิด (ไฮโดรเจน ซัลเฟอร์เฮ็กซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนเหลว) ได้ดูวิดีโอการไหม้ไฟของเรือเหาะฮินเด็นเบิร์กเมื่อเกือบ 80 ปีมาแล้ว เด็กประถมต้นได้คัดเลือกพันธุ์ Biomorphs เด็กประถมปลายได้ฟังเพลงที่เกิดจากการวิวัฒนาการในคอมพิวเตอร์เรียกว่า DarwinTunes และได้เล่นเกมคัดเลือกพันธุ์กบใน App/Ebook ชื่อ The Magic of Reality เด็กอนุบาลได้เล่นของเล่นลูกดอกที่ทำจากหลอดกาแฟและกระดาษครับ

สำหรับเด็กประถม ก่อนอื่นผมให้ดูวิดีโอคลิปนี้ครับ:

คุณ Kevin Delaney มาทำการทดลองเกี่ยวกับก๊าซน่าสนใจสองสามอย่างครับ อันแรกคือไฮโดรเจน (H2) ซึ่งเบาหรือหนาแน่นน้อยกว่าอากาศ พอปล่อยลงไปในน้ำสบู่จึงทำให้มีฟองสบู่ที่ลอยขึ้นไปในอากาศครับ นอกจากนี้ไฮโดรเจนยังติดไฟ พอลอยไปถึงเทียนที่จุดอยู่ก็ติดไฟวาบขึ้นมาครับ

ก๊าซอันต่อไปคือซัลเฟอร์เฮ็กซะฟลูออไรด์ (SF6) ซึ่งหนักหรือหนาแน่นกว่าอากาศ พอใส่ในตู้ปลาใสๆจึงไม่ลอยออกมา ถ้าเทหมอกควันลงไปที่ผิวก็เห็นผิวเป็นคลื่นๆคล้ายคลื่นน้ำ พอเอาฟอยล์อลูมิเนียมมาพับเป็นเรือก็เอาไปลอยบนก๊าซนี้ได้ ถ้าหายใจเอาก๊าซนี้เข้าไปแล้วพูด เสียงก็จะต่ำ (ในทางกลับกันถ้าหายใจเอาก๊าซที่เบาๆ (เช่นฮีเลียมที่ใส่ในลูกโป่งสวรรค์) เข้าไปแล้วพูด เสียงจะสูง)

ก๊าซอันสุดท้ายคือไนโตรเจน (N2) ซึ่งเป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ของอากาศบนโลก (ประมาณ 4/5)  ในคลิปนี้มันอยู่ในรูปของเหลวเพราะเย็นมาก เรียกว่าไนโตรเจนเหลว (LN2) เมื่อเทน้ำร้อนใส่มัน ไนโตรเจนเหลวก็จะกลายเป็นก๊าซไนโตรเจนอย่างรวดเร็ว แพร่กระจายไปทั่ว และทำให้ไอน้ำในอากาศเย็นลงจนกลายเป็นหยดน้ำเล็กๆเป็นหมอก

ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าลูกโป่งสวรรค์เมื่อก่อนเคยใส่ก๊าซไฮโดรเจนไว้เพราะทำง่ายราคาถูก แต่มันไม่ปลอดภัยเพราะถ้าโดนไฟมันจะติดไฟ ปัจจุบันจึงใส่ก๊าซฮีเลียมไว้แทน อุบัติเหตุที่เกิดจากไฮโดรเจนติดไฟที่ใหญ่และดังมากคือการติดไฟของเรือเหาะฮินเด็นเบิร์กเมื่อเกือบแปดสิบปีมาแล้วดังที่บันทึกในคลิปนี้ครับ:

หลังจากดูวิดีโอกันเสร็จ เด็กๆประถมต้นก็ได้ทดลองคัดเลือกพันธุ์ Biomorphs อย่างที่พี่ๆประถมปลายได้เล่นไปในสัปดาห์ที่แล้วครับ ส่วนพี่ๆประถมปลายได้ฟังเพลงที่เกิดจาการวิวัฒนาการในคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าดาร์วินจูนส์ (DarwinTunes) กล่าวคือชิ้นเพลงสั้นๆจะสร้างลูกหลานที่คล้ายๆมันหลายๆแบบแล้วให้คนฟังเลือกว่าชอบอันไหนกว่ากัน อันที่ชนะก็จะมีโอกาสร้างลูกหลานคล้ายๆมันต่อไป ทำอย่างนี้หลายๆรุ่นก็ทำให้เกิดเสียงดนตรีที่น่าฟังขึ้นเรื่อยๆได้ครับ ตัวอย่างดนตรีเข้าไปฟังได้ที่หน้านี้ครับ

นอกจากนี้เด็กประถมปลายยังได้เล่นคัดเลือกพันธุ์กบจาก iPad App ชื่อ The Magic of Reality ด้วยครับ เด็กๆจะคัดเลือกกบที่มีขนาดขาต่างๆกันมาผสมพันธุ์เพื่อคัดเลือกพันธุ์ แล้วตอนจบจะดูว่าจะหนีงูที่มากินได้กี่ตัวครับ

DSC07738ผมสรุปให้เด็กๆฟังว่าขบวนการวิวัฒนาการจะเกิดได้ด้วยสี่ข้อนี้ครับ:

  1.  ลูกๆคล้ายๆพ่อแม่ (คือมีการสืบทอดพันธุกรรม)
  2.  ลูกๆไม่เหมือนกันหมดทุกตัว (คือมีความหลากหลายทางพันธุกรรม)
  3.  โอกาสรอดชีวิตและแพร่พันธุ์ของลูกแต่ละตัวไม่เท่ากัน ลูกที่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็จะเป็นพ่อแม่ในรุ่นต่อไป (คือมีการคัดเลือกพันธุ์)
  4.  วนข้อ 1-3 หลายๆรอบ เป็นร้อยเป็นพัน…เป็นล้านรอบ

สำหรับเด็กอนุบาลสามผมสอนให้ทำของเล่นลูกดอกหลอดกาแฟครับ ก่อนจะทำผมก็เอาหลอดกาแฟมาขว้างๆให้เด็กๆดู จะพบว่ามันไปไม่ไกลและไม่ตรง แล้วถามเด็กๆว่าจะดัดแปลงอย่างไรให้วิ่งได้ไกลๆและตรงๆ พอเด็กงงผมก็เฉลยว่าเราถ่วงหัวมันโดยตัดชิ้นกระดาษขนาดสัก 1″ x 3″ มาพันส่วนหัวโดยติดให้แน่นด้วยเทปกาว แล้วเราก็ตัดอีกปลายของหลอดกาแฟให้เป็นแฉกๆจะได้เป็นหางส่วนต้านลม หลอดกาแฟจะได้พุ่งไปตรงๆโดยให้หัวไปก่อน (ภาพรายละเอียดเคยบันทึกไว้ที่นี่แล้วครับ)

IMG_2966ผมบอกเด็กๆว่าไม่ปาใส่กันเพราะมันเข้าตาและเจ็บได้แม้ว่ามันจะมีน้ำหนักเบาก็ตาม ให้ปาใส่เก้าอี้ที่ผมลากมาเป็นเป้าให้เด็กๆ

ต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.