แรงกด/ความดันสำหรับเด็กประถม ไฟฟ้าสถิตย์และลูกโป่งดูดน้ำสำหรับเด็กอนุบาล

(คราวที่แล้วเรื่องบวกเลขเป็นรูปทรงและกระดาษจอมพลังอยู่ที่นี่ครับ)

โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิและกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมเปิดเทอมแล้ว และผมได้เข้าไปทำการทดลองวิทยาศาสตร์ให้เด็กดูเมื่อวานนี้ คราวนี้เด็กกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมได้ทดลองเรื่องแรงกดและความดัน ส่วนเด็กๆอนุบาลสองและสามได้ดูการทดลองไฟฟ้าสถิตย์ใช้ลูกโป่งดูดน้ำครับ
 
สำหรับเรื่องแรงกด/ความดัน ผมให้เด็กๆเอามือวางบนหัวเข่าของตัวเองแล้วเปรียบเทียบกับการเอามือวางบนดินสอด้านปลายแหลมว่ารู้สึกต่างกันอย่างไร เด็กๆก็บอกว่าวางบนดินสอจะรู้สึกเจ็บกว่า จึงถามว่าเด็กๆคิดว่าทำไมถึงรู้สึกอย่างนั้น

 
เด็กๆก็มีความคิดหลากหลาย บางคนก็พูดถึงความแหลมของดินสอ บางคนก็พูดถึงประสาทที่ผิวหนัง ผมจึงบอกเด็กๆว่าที่ดินสอปลายแหลมรับน้ำหนักมือของเรานั้น ผิวหนังจำนวนน้อยของเราต้องช่วยกันดันปลายดินสอไว้ แรงกดต่อผิวหนังแต่ละส่วนบริเวณนั้นจึงมากกว่าตอนเราเอามือวางบนหัวเข่าอย่างมาก ประสาทแถวๆนั้นจึงส่งสัญญาณว่ามีแรงกดมากมายแถวๆที่ปลายดินสอติดกับผิวหนัง และเราก็แปลสัญญาณเหล่านั้นเป็นความเจ็บ
 
ต่อมาผมก็เอาเหรียญบาทสามอันมาวางบนแผ่นดินน้ำมัน (เอาดินสอวางขนาบไม่ให้ล้ม) แล้วเอากล่องเหรียญหนักๆทับลงไป พอเอากล่องออก พวกเราก็มาดูว่าดินน้ำมันถูกกดลงลึกแค่ไหน ต่อมาเราก็เอาเหรียญบาทสิบอันมาเรียงกันบนแผ่นดินน้ำมันแล้วเอากล่องเหรียญเดิมมาทับอีก คราวนี้รอยบนดินน้ำมันตื้นกว่ามาก ทำให้เด็กๆเข้าใจว่าพอมีเหรียญจำนวนมากมาช่วยกันแบกน้ำหนัก เหรียญแต่ละเหรียญก็จะแบกน้ำหนักน้อยลง (ผมพูดถึงการหาร ว่า ความดัน = แรง/พื้นที่ แต่ไม่ได้หวังให้เด็กจำได้ เพียงแต่ต้องการให้ผ่านหูเมื่อเห็นการทดลองครั้งนี้)
 

ต่อมาผมก็ถามเด็กๆว่าเด็กๆพอจะเข้าใจไหมว่าทำไมรถบรรทุกของหนักๆเช่นรถสิบล้อ ถึงต้องมีจำนวนล้อมากๆ เด็กๆก็ทำการเชื่อมโยงในที่สุดว่าจำนวนล้อเยอะๆ จะได้แบ่งๆกันแบกน้ำหนัก ผมเสริมว่าถนนจะได้ไม่พังด้วย เพราะเราเปรียบถนนเหมือนแผ่นดินน้ำมัน และเหรียญบาทเสมือนล้อได้ ถ้าล้อมาก แรงกดบนถนนแต่ละจุดก็จะน้อยลง ถนนจะได้ไม่ยุบ เหมือนตอนเราเอาเหรียญบาทสิบอันมารับน้ำหนัก แผ่นดินน้ำมันก็ไม่ค่อยยุบ
 
น้องแพมถามว่าแล้วทำไมรถสิบล้อถึงมีล้อหน้าสองล้อและล้อหลังแปดล้อ ผมจึงวาดรูปรถสิบล้อด้านข้างให้ดู เด็กๆก็ตอบเองได้ทันทีว่าล้อหลังแปดล้อมีไว้รับน้ำหนักของที่บรรทุกซึ่งหนักกว่าห้องคนขับและเครื่องยนต์นั่นเอง
 
ต่อไปผมก็พูดถึงสายพานของรถถังและรถตักดิน ถามเด็กๆว่าสายพานเป็นอย่างไร ว่าส่วนที่สายพานกดลงบนพื้นมีขนาดใหญ่กว่าขนาดที่ล้อกดลงบนพื้นใช่ไหม แสดงว่าสายพานกระจายน้ำหนักได้ดีขึ้นไปอีก ถนนจะได้รับน้ำหนักได้มากขึ้นโดยไม่พัง (เด็กๆรู้ว่ารถถังน้ำหนักมากระดับ 40-60 ตัน)
 
จากนั้นผมก็ให้เด็กๆเล่นกับเหรียญ ดินสอ ลวด หลอด กับดินน้ำมัน โดยให้เด็กๆพยายามทดลองว่าเรียงวัสดุต่างๆบนดินน้ำมันอย่างไรจะได้รับน้ำหนักได้มากโดยที่ดินน้ำมันไม่ยุบมากนัก แต่เด็กๆสนใจว่าจะเจาะดินน้ำมันให้ได้ลึกๆอย่างไรมากกว่า 🙂
 
สำหรับห้องเด็กอนุบาล เนื่องจากเวลานี้เป็นหน้าหนาวที่อากาศค่อนข้างแห้ง ผมจึงทำการทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้าสถิตย์ โดยเอาลูกโป่งมาถูกับผ้าแล้วดูดเศษกระดาษให้เต้นระบำ รวมถึงเอาไปใกล้ๆสายน้ำให้สายน้ำไหลเบนเข้าหาลูกโป่งด้วย ผมพูดถึงไฟฟ้าสถิตย์เล็กน้อยให้ผ่านหูเด็กๆแต่ไม่หวังว่าเด็กๆจะจำได้ เพียงแต่หวังว่าเมื่อเด็กๆโตขึ้น จะพอรู้สึกได้ว่าเคยเห็นเรื่องเหล่านี้มาแล้วบ้าง
 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.