Category Archives: science

สูญญากาศมหัศจรรย์

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “เรียนรู้เรื่องการเผาไหม้ อากาศร้อน และกลลูกโป่งลนไฟ” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เราเรียนรู้เรื่องแรงดันอากาศด้วยไม้ดันท่อ ดูวิดีโอลูกปิงปองความเร็วเหนือเสียง ทดลองเปิดขวดไวน์โดยทุบกับกำแพง และใช้แรงดันอากาศบี้กระป๋องน้ำอัดลม

ก่อนอื่นผมเอาไม้ดันท่อ หรือไม้สูบส้วม (Plunger) มาให้เด็กๆเล่นกันครับ (ผมซื้อใหม่ทุกปีและไม่เคยนำไปใช้ก่อนนำมาทำการทดลองกับเด็กๆ) เด็กๆได้กดบนพื้นเรียบและพื้นขรุขระแล้วดูว่าเวลาดึงออกจากพื้นใช้แรงมากอย่างไร แรงที่เราต้องใช้ในการดึงเจ้าไม้ออกจากพื้นคือแรงที่ต้องสู้กับความดันอากาศนั่นเอง

ที่พื้นผิวโลกอากาศจะกดดันพื้นที่ต่างๆด้วยความดันเหมือนของหนักสิบตันต่อตารางเมตร หรือหนึ่งกิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร หรือพอๆกับน้ำหนักของช้างสองตัวต่อตารางเมตร (ให้เด็กๆวาดพื้นที่บนพื้นขนาด 1 เมตร x 1 เมตร แล้วจินตนาการว่ามีช้างสองตัวมาเหยียบ ให้มีความรู้สึกถึงปริมาณแรงกดจากอากาศ)

เวลาเรากดไม้ลงไป เราจะไล่อากาศออกไปจากบริเวณที่เบ้ายางประกบกับพื้น ความดันอากาศภายในเบ้ายางจะลดลงตามปริมาณอากาศที่ลดลง ความดันอากาศภายในเบ้ายางจึงน้อยกว่าความดันอากาศภายนอก เบ้ายางจึงถูกกดให้แนบสนิทกับพื้น ทำให้ดึงออกยาก แต่ถ้าพื้นขรุขระ พื้นจะมีช่องเล็กๆให้อากาศจากภายนอกไหลเข้าไปในเบ้ายางได้ง่ายๆ ทำให้ดึงออกง่าย

ทดลองกดแล้วดึงกันครับ

จากนั้นผมก็เอาไม้ดันท่อสองอันมาประกบกัน ไล่อากาศในเบ้ายางออกไปมากๆ แล้วให้เด็กโหนครับ รับน้ำหนักได้ประมาณยี่สิบกิโลครับ:

จากนั้นผมก็เล่าให้เด็กๆฟังถึงเรื่องที่มีคนทดลองหาท่อพลาสติกยาวๆ ใส่ลูกปิงปองเข้าไป แล้วปิดปลายสองข้างด้วยแผ่นพลาสติกเหนียวบางๆ แล้วสูบอากาศออกจากท่อให้ข้างในเป็นสูญญากาศ แล้วถามเด็กๆว่าถ้าเจาะรูที่แผ่นพลาสติกข้างหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้น เด็กๆส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะมีอากาศไหลเข้าไปในท่อพลาสติก ผมถามต่อว่าแล้วลูกปิงปองจะเป็นยังไง เด็กๆคิดว่าอากาศคงดันลูกปิงปอง ผมให้เดาว่าลูกปิงปองจะวิ่งเร็วไหม เด็กๆไม่แน่ใจ ผมจึงให้ดูวิดีโอคลิปนี้ครับ: Continue reading สูญญากาศมหัศจรรย์

เรียนรู้เรื่องการเผาไหม้ อากาศร้อน และกลลูกโป่งลนไฟ

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “อัลตร้าซาวด์ดูเส้นเลือดที่คอและดูหัวใจเต้นกับเด็กประถมและกลถุงพลาสติกไม่รั่วสำหรับเด็กอนุบาล” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้สำหรับเด็กประถมจะเป็นเรื่องการเผาไหม้ การขยายตัวของอากาศร้อน การหดตัวของอากาศเย็น อากาศร้อนลอยสูงขึ้น ส่วนเด็กอนุบาลได้ดูกลลูกโป่งลนไฟครับ

สำหรับเด็กประถมผมทำการทดลองทบทวนความจำโดยการเอาขวดน้ำพลาสติกขนาด 1.5 ลิตรมาใส่น้ำร้อนเล็กน้อย ปิดฝา แล้วเขย่าๆให้ทั่วๆจนขวดและอากาศภายในร้อน ขวดจะบวมเป่งขึ้นเนื่องจากอากาศภายในขวดร้อนขึ้นและขยายตัว เมื่อเปิดฝาจะได้ยินเสียงฟี้ดเบาๆเนื่องจากอากาศร้อนในขวดหนีออกไป จากนั้นก็เทน้ำร้อนทิ้งแล้วปิดฝาขวดให้แน่น เมื่อวางไว้สักครู่ขวดและอากาศในขวดก็จะเย็นลง อากาศที่เย็นลงก็จะหดตัวมีขนาดเล็กลง ทำให้ขวดที่ปิดแน่นบีบตัวมีขนาดเล็กลงด้วย ถ้าเปิดฝาขวดเราจะได้ยินเสียงอากาศจากภายนอกวิ่งเข้าไปในขวดดันให้ขวดกลับมามีขนาดเท่าเดิม นี่คือวิดีโอคลิปการทดลองครับ:

จากนั้นเราก็ทำการทดลองต่อว่าอากาศร้อนๆที่ขยายตัวเนี่ย มันจะมีความหนาแน่นน้อยลง แล้วมันก็จะลอยขึ้นสูง วิธีทดลองก็คือจุดเทียนแล้วเอาฟอยล์อลูมิเนียมมาห่อเป็นกรวยรูปทรงเหมือนกระโจมเล็กๆ แล้วครอบลงไปบนเทียนไขที่จุดไฟอยู่ โดยให้ด้านล่างมีช่องให้อากาศไหลเข้าและส่วนบนมีรูให้อากาศไหลออกได้ แล้วเราก็เอาฟอยล์อลูมิเนียมมาตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 0.5 ซ.ม. x 3 ซ.ม. มาเจาะรูตรงกลางด้วยดินสอกด บิดฟอยล์ให้เป็นรูปใบพัด แล้วเอาไปอังตรงรูด้านบนของกระโจมอลูมิเนียม เราก็จะเห็นใบพัดหมุนเพราะอากาศร้อน(ที่ถูกเทียนเผา)ลอยขึ้นมาปะทะนั่นเอง วิดีโอคลิปครับ: Continue reading เรียนรู้เรื่องการเผาไหม้ อากาศร้อน และกลลูกโป่งลนไฟ

อัลตร้าซาวด์ดูเส้นเลือดที่คอและดูหัวใจเต้นกับเด็กประถมและกลถุงพลาสติกไม่รั่วสำหรับเด็กอนุบาล

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “คุยกับเด็กๆเรื่องอวัยวะ เครื่องมือส่องดูร่างกาย (Ultrasound, X-Ray, CT, MRI) และการจมการลอย” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เราได้เครื่องอัลตร้าซาวด์มาดูเส้นเลือดที่คอและดูหัวใจเต้นกับเด็กประถมและเล่นกลถุงพลาสติกไม่รั่วสำหรับเด็กอนุบาลครับ

โรงพยาบาลบางโพได้สนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์ของเด็กๆครับ ให้ยืมเครื่องอัลตร้าซาวด์ขนาดเล็กมาให้ดูอวัยวะภายในของเด็กๆกัน เพื่อต่อยอดการเรียนรู้สัปดาห์ที่แล้วที่เราพูดคุยกันเรื่องอวัยวะและอุปกรณ์ส่องดูร่างกายครับ ผมต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเครื่องราคาประมาณสองล้านบาทและส่วนหัวอ่าน ( หัวโพรบ, Probe) ก็เสียหายง่ายถ้าตกหรือกระทบกระเทือนมากไปครับ

ผมเอาหัวตรวจโพรบสองตัวให้เด็กๆดูครับ ตัวหนึ่งเขียนว่า 8L อีกตัวเขียนว่า 4C บอกเด็กๆว่า 8L แปลว่าสั่นด้วยความถี่ 8 ล้านครั้งต่อวินาทีหรือ 8 เมกาเฮิร์ตซ์ ส่วนอักษร L ย่อมาจาก Linear แปลว่าเป็นเส้นตรง (จะเห็นว่าหัวอ่านเป็นแท่งตรงๆ)  ส่วนเจ้า 4C แปลว่าสั่นด้วยความถี่ 4 ล้านครั้งต่อวินาทีหรือ 4 เมกาเฮิร์ตซ์ ส่วนอักษร C ย่อมาจาก Convex แปลว่าเป็นโค้งๆ (หัวอ่านมันโค้งนูนครับ)

หัวโพรบครับ (Probe) ใช้ส่งและรับคลื่นเสียงความถี่สูง

ผมเล่าต่อไปว่าความถี่เสียงที่สูงจะสามารถตรวจจับรายละเอียดได้ดีกว่า แต่จะหมดแรงเมื่อเข้าไปในร่างกายในระยะไม่ลึกเท่าไร ส่วนความถี่ต่ำจะตรวจจับรายละเอียดได้น้อยกว่าแต่เข้าไปในร่างกายได้ลึกกว่า ดังนั้นเราจะใช้เจ้า 8L มาดูอวัยวะที่ไม่ลึกนัก (คือดูเส้นเลือดแดงที่ลำคอ) และจะใช้ 4C ดูอวัยวะที่ลึกเข้าไป เช่นในท้องและหัวใจ Continue reading อัลตร้าซาวด์ดูเส้นเลือดที่คอและดูหัวใจเต้นกับเด็กประถมและกลถุงพลาสติกไม่รั่วสำหรับเด็กอนุบาล