วันนี้ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆมาครับ สำหรับเด็กประถมเราคุยกันเรื่องเสียงและการสั่นสะเทือนต่อ ได้ดูส่วนประกอบของหู ดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อเราได้ยินเสียง เด็กประถมต้นทดสอบการได้ยินเสียงความถี่สูงๆ เด็กประถมปลายได้ดูคลิปแตงโมเคลือบสารเคมีที่โมเลกุลยาวๆตกลงมา 45 เมตรแล้วกระเด้งขึ้นโดยไม่แตกกระจายครับ ประถมต้นและปลายได้เล่นโคลนที่ทำจากแป้งมัน (โมเลกุลยาวๆ) ที่เป็นของเหลวเมื่อไม่ไปกดมันแรงๆ แต่จะกลายเป็นของแข็งเมื่อเราไปกดหรือทุบมันแรงๆ เราเอาโคลนประหลาดนี่วางบนลำโพงให้การสั่นของลำโพงตีมันครับ เด็กอนุบาลสามได้เรียนรู้เรื่องเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนครับ
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “เสียงและการสั่นสะเทือน ความถี่ที่เราได้ยิน คลิปเส้นเสียง” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
สัปดาห์นี้เด็กๆประถมต้นทดสอบว่าหูได้ยินเสียงสูงแค่ไหน คือให้ใส่หูฟังแล้วฟังเสียงที่ความถี่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดูว่าความถี่สูงแค่ไหนแล้วไม่ได้ยินครับ
เมื่อความถี่สูงมากๆจนเสียงที่เราได้ยินเบามากๆ บางทีเราก็จะคิดไปเองว่าเราได้ยินครับ อย่างนี้ต้องให้อีกคนช่วยปรับความถี่ให้ หรือบางทีก็เปิดปิดเสียงสลับไปดูว่าตอนปิดเสียงยังคิดว่าได้ยินหรือเปล่า ถ้าได้ยินก็แสดงว่าคิดไปเองครับ เราใช้โปรแกรม Sonic by Von Bruno เป็นตัวสร้างความถี่ต่างๆครับ
หูคนที่ทำงานได้สมบูรณ์จะฟังเสียงได้ประมาณความถี่ 20 Hz ถึง 20,000 Hz ครับ เด็กๆเท่านั้นถึงจะฟังได้ช่วงกว้างอย่างนี้ คนยิ่งอายุเยอะขึ้นก็จะฟังความถี่สูงๆไม่ค่อยได้ เด็กๆประถมต้นฟังเสียงสูงได้ถึง 17,000-20,000 Hz เลยครับ เทียบกับประถมปลายสัปดาห์ที่แล้วฟังได้ประมาณ 17,000-19,000 Hz ครับ ส่วนคนอายุใกล้ๆ 50 อย่างผมฟังได้ถึงแค่ 13,000 Hz ครับ
จากนั้นผมก็อธิบายขบวนการการได้ยินด้วยหูครับ ให้เด็กๆดูรูปหูแบบเป็นภาพตัดให้เห็นส่วนประกอบข้างในก่อน: Continue reading คุยต่อเรื่องเสียง หูและการได้ยิน โคลนแป้งมันประหลาด