Category Archives: มัธยม

วิทย์ม.ต้น: Google-Fu, หัดออกเสียงภาษาอังกฤษ, Microsoft Math Solver, เล่นกับแรงตึงผิว

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. ได้รู้จักวิธีค้นหาด้วย Google ที่ซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (มีคนเรียกกันเล่นๆว่า Google-Fu เลียนแบบ Kung-Fu หรือกังฟู) ได้รู้จักเครื่องหมายลบ, เครื่องหมายคำพูด, ตัวเชื่อม (AND และ OR), ค้นหาเฉพาะเว็บ (site:), ค้นหาเฉพาะประเภทไฟล์ (filetype:)

2. ดูตัวอย่างจากที่ภาพเหล่านี้ที่เป็นภาษาไทย:

สำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้กูเกิ้ลหาแบบนี้นะครับ ลองดูครับ มีประโยชน์ หรือลองเข้าไปที่นี่ก็ได้ครับ: https://www.google.com/advanced_search via Coco Tan

Posted by Pongskorn Saipetch on Sunday, November 1, 2015

3. ถ้าจำวิธีใช้ต่างๆไม่ได้ให้เข้าไปที่หน้า Google Advanced Search แล้วกรอกฟอร์มค้นหาได้

4. ตัวอย่างเพิ่มเติมหาอ่านได้ที่ The Beginner’s Guide to Google-Fu? 10 tricks to be a Google-Fu Blackbelt, Improving Your Google-Fu: How To Find Anything You Want, และ dorking (how to find anything on the Internet)

5. รู้จักใช้ https://images.google.com ค้นหาด้วยภาพ เช็คว่าภาพซ้ำหรือมีข่าวปลอมเอาภาพจากที่อื่นมาใช้หรือเปล่า

6. หัดใช้แอพ Google บนโทรศัพท์หัดออกเสียงคำภาษาอังกฤษ:

[ตัวช่วยสอนเด็กออกเสียงภาษาอังกฤษ] ถ้าเราถาม Google บนโทรศัพท์ว่าคำภาษาอังกฤษออกเสียงอย่างไร จะมีปุ่ม Practice…

Posted by Pongskorn Saipetch on Thursday, April 9, 2020

7. ใช้เว็บอ่านออกเสียงให้เราฟังที่ https://ttsdemo.com

8. รู้จักใช้แอพ Microsoft Math Solver ที่มีให้โหลดสำหรับโทรศัพท์ (iOS และ Android) และแบบใช้บนเว็บทั้งแบบภาษาอังกฤษและภาษาไทย สามารถแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ต่างๆและอธิบายขั้นตอนการแก้ได้ด้วย

แบบโทรศัพท์สามารถถ่ายรูปโจทย์เราแล้วแก้ปัญหาให้ได้ด้วย

9. เด็กๆเล่นลอยคลิปหนีบกระดาษโลหะบนผิวน้ำกัน เล่นกับแรงตึงผิวของน้ำ

ปกติถ้าเราเอาคลิปหนีบกระดาษไปใส่น้ำ มันจะจม แต่ถ้าเราค่อยๆระวังตอนวางให้มันค่อยๆกดผิดน้ำลงไปเบาๆทั่วๆกัน ผิวน้ำจะแข็งแรงพอที่จะยกคลิปให้ลอยอยู่ได้ ผิวของน้ำมีความตึงผิวทำให้มันคล้ายๆฟิล์มบางๆที่รับน้ำหนักได้บ้าง (ปกติเด็กๆก็เห็นแมลงเช่นจิงโจ้น้ำวิ่งบนผิวน้ำอยู่แล้ว เด็กๆจึงเข้าใจเรื่องผิวน้ำรับน้ำหนักของได้เป็นปกติ)

สำหรับวิธีลอยคลิปหนีบกระดาษง่ายๆก็มีอยู่สองวิธี วิธีแรกคือฉีกกระดาษทิชชูให้ขนาดใหญ่กว่าคลิปนิดหน่อย รองคลิปไว้ แล้วค่อยๆลอยทั้งคลิปและกระดาษทิชชูที่รองอยู่ลงบนผิวน้ำ รอสักพักทิชชูก็จะอิ่มน้ำแล้วจมลงไป เหลือแต่คลิปหนีบกระดาษลอยอยู่

เอากระดาษทิชชูรองคลิปแล้วเอาไปลอยครับ
สักพักกระดาษทิชชูจะจม เหลือแต่คลิปลอยอยู่

อีกวิธีหนึ่งก็คือเสียสละคลิปหนีบกระดาษหนึ่งตัว เอามางอให้เป็นรูปตัว L เอามือเราจับด้านบนของตัว L แล้วใช้ด้านล่างของตัว L รองคลิปหนีบกระดาษอีกตัวไว้แล้วก็ค่อยๆเอาคลิปไปวางที่ผิวน้ำ พอวางได้ เราก็ค่อยขยับตัว L ออกเหลือแต่คลิปลอยอยู่

ใช้คลิปที่เรางอเป็นรูปตัว L ขนย้ายคลิปอื่นๆมาวางไว้บนผิวน้ำครับ
พอคลิปลอยน้ำได้ เราก็เอาคลิปตัว L หนีออกไป

แล้วเด็กๆก็หัดทำลอยคลิปกันเองครับ จะเห็นน้ำยุบตัวลงไปชัดเจนเลย

วิทย์ม.ต้น: ทฤษฎีสมคบคิด, ทดลองยกของด้วยลม

วันนี้เราคุยกันเรื่องต่างๆต่อไปนี้ครับ:

1. เราดูคลิปต้นชั่วโมงรอให้ทุกคนมาครบกันเรื่องการทำเหมืองในอวกาศ ซึ่งอาจจะเป็นธุรกิจในอนาคตตอนเด็กๆอายุมากขึ้น:

ในคลิปมีการพูดถึงการแยกธาตุต่างๆด้วย centrifuge เด็กๆจึงได้รู้จักเครื่อง centrifuge ที่ใช้ปั่นแยกของที่มีความหนาแน่นต่างๆกัน เช่นแบบในแล็บ:

หรือแบบไม่ใช้ไฟฟ้า แต่ใช้เชือกและมือปั่น:

2. ตัวอย่างทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) เช่นเรื่องคนเชื่อว่าโลกแบน หรือคนไม่เชื่อว่ามีการไปดวงจันทร์มาแล้ว เด็กๆสามารถเข้าไปดูลิงก์ที่ผมรวมไว้ที่ “ลิงก์เรื่องมนุษย์เคยไปดวงจันทร์(หรือเปล่า?)” เช่นคลิปการปล่อยค้อนและขนนกให้ตกลงสู่พื้นอันนี้:

เด็กๆได้รู้จักกระจก retroreflectors ที่สะท้อนแสงกลับไปในทิศทางเดิม มีทั่วไปหมดเช่นฝังไว้ตามถนน ติดไว้ที่รถจักรยาน หมวก เสื้อ รองเท้า เพื่อให้สังเกตได้ง่ายๆเมื่อมีแสงไฟตกกระทบ นอกจากนี้ยังมี retroreflectors ขนาดใหญ่วางไว้ที่ดวงจันทร์เพื่อใช้สะท้อนแสงเลเซอร์ที่ยิงไปจากโลกอีกด้วย

3. ตัวอย่างทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าพิรามิดสร้างโดยมนุษย์ต่างดาว เราทำความรู้จักพิรามิดและทำไมถึงถูกสร้างโดยคนสมัยโบราณ ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว:

4. เด็กๆได้ทดลองเป่าลมเข้าไปในถุงเพื่อยกน้ำหนักต่างๆที่มากเกินคาดครับ

ถุงลมยกน้ำหนักมากๆได้ก็เพราะว่าขนาดพื้นที่ของถุงมีขนาดใหญ่พอ เมื่อเป่าลมเข้าไปทำให้ถุงมีความดันอากาศ ผิวของถุงก็ช่วยกันพยุงน้ำหนักที่กดทับอยู่ ยิ่งถุงใหญ่เท่าไร (และถ้าวัสดุของถุงมีความทนทานพอ ไม่แตกหรือรั่วเสียก่อน) ถุงก็จะสามารถยกน้ำหนักได้มากขึ้นเท่านั้น (แต่ก็ต้องแลกด้วยปริมาณอากาศที่ต้องเป่าเข้าไปมากขึ้นเมื่อเทียบกับถุงเล็ก) น้ำหนักที่ยกได้เท่ากับพื้นที่คูณกับความดันอากาศนั่นเอง

หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการทำงานของยางรถยนต์ ยางรถมีความทนทานมากสามารถอัดอากาศความดันสูงๆเข้าไปได้เยอะๆ ทำให้ยางสามารถรับน้ำหนักรถเป็นตันๆได้ครับ

คลิปอธิบายกิจกรรมและการทดลองของเราครับ:

เมื่อหลายปีมาแล้วผมเคยทำกิจกรรมทำนองนี้มาแล้วครับ คลิปนั้นจะเห็นการยกคนที่นั่งอยู่ชัดเจน:

วิทย์ม.ต้น: Zeno’s Paradoxes, Infinite Series, เล่นกับความเฉื่อย

วันนี้เราคุยเรื่องเหล่านี้กันครับ

1. ผมพูดคุยกับเด็กๆเรื่องความเฉื่อย และเด็กๆได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับความเฉื่อยเหมือนในคลิปที่ลิงก์นี้ครับ

2. ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าแรงโน้มถ่วงดึงให้ดวงดาวโคจรกันเป็นวงรี ให้เด็กๆดูแบบจำลองที่ Newtonian Orbit และ Dance of Comets ที่เป็นโปรแกรมภาษา Scratch

หน้าตา Dance of Comets เป็นประมาณนี้ครับ

3. ผมยกตัวอย่าง Zeno’s Paradox มาหนึ่งอันคือถ้าเราจะเดินทางจากจุด A ไปจุด B เราต้องเดินทางไปครึ่งทางก่อน แล้วก็เดินทางไปอีกครึ่งทางของที่เหลือ แล้วก็เดินทางไปอีกครึ่งทางของที่เหลือ อย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่รู้จบ แล้วทำไมเราถึงเดินทางจาก A ไป B ได้ ระยะทางที่เดินรวมๆกันจะเป็นเท่าไร พอเด็กๆงงสักพักเราก็ลองบวกระยะทางกัน โดยให้ระยะทางจาก A ถึง B เท่ากับ 1 หน่วย ระยะทางทั้งหมดที่เดินก็คือ 1/2 + 1/4 + 1/8 + 1/16 + 1/32 + …

เด็กๆลองบวกในสเปรดชีตจะได้คำตอบเท่ากับ 1 ถาม Wolfram Alpha ก็ได้คำตอบเท่ากับ 1 และผมแสดงวิธีทำด้วยมือก็ได้คำตอบเท่ากับ 1

ให้ Wolfram Alpha หาค่าของ 1/2 + 1/4 + 1/8 + … ให้ครับ
คำนวณ 1/2 + 1/4 + 1/8 + 1/16 + … ด้วยมือ ตั้งชื่อให้ผลรวมคือ S แล้วหาว่า S ต้องมีค่าเท่าไร

4. ความจริงสิ่งที่เราสนใจคือเราสามารถเคลื่อนที่จาก A ไป B ได้ไหม เราจึงควรดูว่าเราใช้เวลาเท่าไรในการเคลื่อนที่จาก A ไป B สมมุติว่าเราเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ v เวลาที่ใช้ทั้งหมดก็คือ 1/(2v) + 1/(4v) + 1/(8v) + … ซึ่งเท่ากับ 1/v เป็นเวลาที่เป็นไปได้ถ้า v มีค่าเป็นบวก

5. เรื่องประหลาดที่เด็กๆได้เห็นวันนี้คือถ้าเราบวกอะไรเข้าไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด บางทีผลรวมก็เป็นตัวเลขที่เรารู้จักถ้าสิ่งที่เราบวกเข้าไปเรื่อยๆมีขนาดเล็กลงเร็วพอ เช่น 1/2 + 1/4 + 1/8 + … = 1 หรือ 1/3 + 1/9 + 1/27 + 1/81 + … = 1/2 หรือ 1 + 2/3 + (2/3)^2 + (2/3)^3 +… = 3

6. แต่ถ้าสิ่งที่เราบวกเข้าไปเรื่อยๆไม่เล็กลงเร็วพอ ผลรวมก็อาจไม่มีค่าแน่นอน อาจโตไม่จำกัด เช่น 1 + 1/2 + 1/3 + 1/4 + … จะมีขนาดไม่จำกัด

7. เด็กๆทดลองบวกเลขพวกนี้ทั้งในสเปรดชีต และทดลองถาม Wolfram Alpha ดู ตัวอย่างสเปรดชีตมีที่นี่และที่นี่ครับ