Category Archives: ภาษาไทย

วิทย์ประถม: น้ำจุความร้อนได้มากมาย

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลยิงธนูทะลุตัว จากนั้นเราก็เรียนรู้เรื่องความจุความร้อนของน้ำ หรือการที่น้ำสามารถดูดซับและพาความร้อนได้มาก ทำให้เราสามารถใช้น้ำระบายความร้อนต่างๆได้เช่นสามารถเอาไฟลนแก้วกระดาษหรือถุงพลาสติกที่ใส่น้ำได้นานๆโดยไม่รั่วหรือไหม้ไฟ เด็กประถมปลายได้คุยกันเรื่องภาวะเรือนกระจกและโลกร้อนด้วย

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นยิงธนูทะลุตัวคน:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ก่อนอื่นผมให้เด็กๆดูคลิปนี้ครับ ดูว่าเกิดอะไรขึ้น ยังไม่อธิบายอะไร:

จากนั้นเราก็ทำการทดลองกัน เอาถ้วยกระดาษและถุงพลาสติกมาดู ผมแสดงให้เห็นว่าถ้าเราเอาถ้วยกระดาษหรือถุงพลาสติกไปลนไฟ มันจะไหม้ไฟ หรือพลาสติกจะหดตัวเป็นรู แต่เมื่อเราเอาน้ำใส่ถ้วย ใส่ถุงพลาสติก เราจะสามารถลนไฟไปได้เรื่อยๆโดยถ้วยไม่ติดไฟ และถุงพลาสติกก็ไม่ทะลุ แต่จะมีเขม่าดำๆจากเทียนมาติดอยู่เท่านั้น

สาเหตุที่ถ้วยกระดาษและถุงพลาสติกที่มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ทนไฟอยู่ได้นานๆก็เพราะน้ำสามารถดูดซับความร้อนได้เยอะ เมื่อเราเอาไฟไปลน ผิวของถ้วยกระดาษและถุงก็จะร้อนขึ้น แต่เนื่องกระดาษและถุงมีความบางและอยู่ติดกับน้ำ ความร้อนส่วนใหญ่ก็ถูกน้ำรับเอาไปหมด น้ำจะอุ่นขึ้นนิดหน่อยแต่อุณหภูมิไม่สูงพอที่จะทำให้กระดาษและพลาสติกไหม้ไฟได้  (แต่ถ้าเราใช้กระดาษหรือถุงพลาสติกที่หนาๆ มันก็เป็นไปได้ว่ากระดาษหรือพลาสติกจะไหม้ไฟนะครับ เนื่องจากผิวที่หนาทำให้ส่งถ่ายความร้อนไปยังน้ำที่อยู่ด้านตรงข้ามกับไฟไม่ทัน ผิวด้านที่ใกล้ไฟอาจจะมีอุณหภูมิสูงเกินไปทำให้ติดไฟได้ หรือถ้าเราใช้แหล่งความร้อนที่ร้อนมากๆจนผิวกระดาษหรือพลาสติกส่งผ่านความร้อนให้น้ำไม่ทัน มันก็ไหม้และขาดได้ครับ)

หลักการที่ว่าน้ำสามารถดูดซับความร้อนได้เยอะถูกใช้ในหม้อน้ำรถยนต์ ที่เราใช้น้ำไปดึงความร้อนออกมาจากเครื่องยนต์ที่เผาเชื้อเพลิงอยู่ แล้วมาระบายความร้อนที่รังผึ้งที่ใช้พัดลมเป่าให้ความร้อนออกไปกับอากาศที่ไหลผ่าน ถ้าระบบหม้อน้ำเสีย เครื่องยนต์ก็จะร้อนจัดจนละลายและหยุดทำงาน  นอกจากนี้น้ำยังเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิไม่ให้กระโดดไปมาเร็วๆด้วย เช่นในทะเลทรายที่น้ำน้อย ตอนกลางวันก็ร้อนจัด กลางคืนก็หนาว ในที่ที่มีน้ำเยอะๆ น้ำจะช่วยดูดซับเอาความร้อนไปในตอนกลางวัน และปล่อยความร้อนออกมาในตอนกลางคืน ทำให้ไม่ร้อนไม่หนาวต่างกันเกินไป

เด็กๆหัดทำการทดลองลนไฟกันเองทุกคนครับ สีดำๆคือเขม่าจากเปลวไฟเทียนครับ:

หลังจากเด็กๆทำการทดลองเองแล้ว ผมก็ถามว่ารู้หรือยังว่าคลิปจุดไฟบนมือทำได้อย่างไร เด็กหลายคนก็ตอบได้ว่าน้ำที่มือดูดซับความร้อนไป ผมเสริมว่านอกจากนี้ก๊าซร้อนๆก็ลอยขึ้น เคลื่อนที่ออกไปห่างๆมือเราด้วย

สำหรับประถมปลาย ผมเล่าเรื่องโลกร้อน เรื่องที่น้ำในมหาสมุทรดูดซับความร้อนไว้มหาศาล และข้อมูลเรื่องก๊าซเรือนกระจกทำนองในหน้าภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect) นี้:

ตัวอย่างบรรยากาศในกิจกรรมครับ:

วิทย์ประถม: เริ่มเล่นกับกาลักน้ำ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลคนลอยได้ จากนั้นเราก็เริ่มเรียนรู้เรื่องกาลักน้ำกัน เด็กๆต่อท่อสำหรับทดลองจากหลอดกาแฟพลาสติก

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นมายากลคนลอยได้:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมคุยกับเด็กประถมเรื่อง “กาลักน้ำ” (Siphon) ซึ่งเป็นวิธีถ่ายเทของเหลวจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำโดยอาศัยน้ำหนักของน้ำ ความดัน และแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของน้ำครับ คลิปจากการสอนในอดีตอยู่นี่ครับ:

จากนั้นผมก็ให้เด็กๆดูแบบจำลองการทำงานของชักโครกที่เมื่อน้ำสูงถึงระดับหนึ่งแล้วจะไหลออกไปจนต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ครับ เป็นหลักการแบบกาลักน้ำนั่นเอง:

ภาพชักโครกที่มองเห็นระบบท่อน้ำที่ทำงานเป็นกาลักน้ำช้ดๆครับ:

ผู้สนใจสามารถไปดูภาพการทำงานของชักโครกได้ในคลิปนี้นะครับ:

จากนั้นเด็กๆก็แยกย้ายกันเอาหลอดกาแฟพลาสติกมาต่อเป็นท่อกาลักน้ำกัน:

วิทย์ประถม: น้ำไม่หกผ่านกระชอน

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลประตูวิเศษ จากนั้นเราก็เล่นกับความดันอากาศและความตึงผิวของน้ำโดยคว่ำแก้วใส่น้ำบนกระชอนมีรูโดยน้ำไม่หกออกมา

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นมายากลประตูวิเศษ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

คราวนี้เราหัดเล่นกลโดยใช้คุณสมบัติของอากาศและน้ำกัน

กลแรกที่เราเล่นกันคือคว่ำถ้วยแล้วน้ำไม่หก เราก็หาอุปกรณ์ประมาณนี้มาเล่น: น้ำ, แก้วน้ำ หรือภาชนะใส่น้ำอื่นๆเช่นขวดน้ำ ถ้วยน้ำ กระติกน้ำ, แผ่นพลาสติกเรียบ ๆ หรือแผ่นอะไรเรียบ ๆที่กันน้ำก็ได้เช่นแผ่นโฟมบาง ๆ หรือกระดาษแข็งเคลือบกันน้ำ

วิธีเล่นเป็นแบบนี้: เทน้ำใส่แก้วประมาณครึ่งแก้ว นำแผ่นพลาสติกเรียบมาปิดปากแก้ว มือหนึ่งจับแก้วไว้ อีกมือดันแผ่นพลาสติกให้ติดกับปากแก้ว แล้วคว่ำแก้วโดยประคองให้แผ่นพลาสติกปิดอยู่ เมื่อคว่ำเสร็จแล้วก็เอามือที่ประคองแผ่นพลาสติกออก แผ่นพลาสติกจะติดอยู่ที่ปากแก้ว และน้ำจะอยู่เหนือแผ่นพลาสติกไม่ไหลออกมา

กลน้ำไม่หกจากถ้วยคว่ำ
เด็กๆทดลองเล่นกันเอง

หลักการธรรมชาติที่เกี่ยวข้องคือ คุณสมบัติของน้ำที่เป็นตัวกลางเชื่อมปากแก้วและแผ่นพลาสติกป้องกันไม่ให้อากาศไหลผ่าน และแรงดันอากาศภายนอกที่มากพอที่รับน้ำหนักของน้ำในแก้วได้

เวลาเราเห็นน้ำเปียกบนวัสดุต่างๆ นั่นหมายความว่ามีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของน้ำและโมเลกุลของวัสดุนั้นๆทำให้น้ำติดกับพื้นผิววัสดุ ในกรณีนี้โมเลกุลน้ำดึงดูดกับโมเลกุลแก้ว โมเลกุลน้ำดึงดูดกับโมเลกุลน้ำด้วยกันเอง และโมเลกุลน้ำดึงดูดกับโมเลกุลแผ่นพลาสติก ทำให้เกิดเป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างแก้วและน้ำและพลาสติก กลายเป็นผนังชั่วคราวกันไม่ให้อากาศผ่านได้

ส่วนแรงดันอากาศนั้น ตามบริเวณพื้นราบใกล้ๆระดับน้ำทะเล จะมีแรงดันจากอากาศเท่ากับน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร ถ้าเราใส่น้ำให้เต็มแก้วโดยไม่มีอากาศเหลืออยู่ภายในเลย แล้วเอาพลาสติกมาปิดที่ปากแก้ว เมื่อคว่ำลงแรงดันอากาศจากภายนอกจะสามารถรับน้ำหนักได้เป็นกิโลกรัมเนื่องจากพื้นที่หน้าตัดของปากแก้วมีพื้นที่หลายตารางเซนติเมตรและภายในแก้วไม่มีแรงดันจากอากาศมาดันสู้  แรงดันอากาศภายนอกสามารถรับน้ำหนักของน้ำในแก้วตราบใดที่อากาศไม่สามารถไหลเข้าไปในแก้วได้

ในกรณีที่เราใส่น้ำไม่เต็มแก้ว มีอากาศเหลืออยู่บ้าง เมื่อเอาพลาสติกปิดปากแก้ว ตอนแรกความดันอากาศภายในและภายนอกแก้วยังเท่ากันอยู่ เมื่อเราคว่ำแก้วอาจมีน้ำไหลออกมาบ้างหรือแผ่นพลาสติกที่ปิดอยู่เปลี่ยนรูปทรงเล็กน้อย ทำให้ปริมาตรอากาศภายในเพิ่มขึ้น ความดันอากาศภายในลดลงต่ำกว่าความดันอากาศภายนอกจนทำให้อากาศภายนอกสามารถรับน้ำหนักของน้ำในแก้วได้  ถ้าเราปล่อยอากาศเข้าไปในแก้วเช่นเจาะรูส่วนบน อากาศจะไหลเข้าไปทำให้ความดันภายในแก้วเท่าๆกับความดันข้างนอกและแผ่นพลาสติกจะหลุดออกทำให้น้ำหกออกมา

กลที่สองคือน้ำไม่รั่วผ่านกระชอน

อุปกรณ์ที่ใช้เหมือนกลแรก แต่เพิ่มกระชอนหรือตะแกรงที่มีรูเล็กๆ

วิธีเล่นเหมือนกลแรก แต่แทนที่จะใช้แผ่นพลาสติกปิดแก้วก็ใช้กระชอนปิดแทน จากนั้นก็ใช้แผ่นพลาสติกไปปิดกระชอนอีกที ใช้มือดันแผ่นพลาสติกให้ดันกระชอนติดกับปากแก้วเอาไว้ แล้วคว่ำแก้วโดยใช้มือหนึ่งประคองไม่ให้กระชอนและแผ่นพลาสติกหลุดออกมาจากปากแก้ว ย้ายมือที่จับแก้วมาจับกระชอนแทน จากนั้นค่อย ๆ เลื่อนแผ่นพลาสติกออก ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดจะสามารถถือกระชอนที่มีแก้วน้ำคว่ำอยู่ข้างบนโดยมีน้ำด้านในไม่ไหลผ่านรูกระชอนได้สำเร็จ

ถ้าปากแก้วเล็กกว่าฝ่ามือเรา เราก็สามารถใช้ฝ่ามือแทนแผ่นพลาสติกปิดแทนก็ได้แต่จะมีโอกาสพลาดมากขึ้น

ถ้าเราไปมองใต้แก้ว เราจะเห็นน้ำอยู่เหนือกระชอน ถ้าเป่าให้ลมเข้าไปน้ำก็จะไหลออกมาตามปริมาณอากาศที่เข้าไป

กลน้ำไม่รั่วผ่านกระชอน
เด็กแยกย้ายทดลองกัน
เด็กแยกย้ายทดลองกัน

หลักการธรรมชาติที่เกี่ยวข้องเป็นหลักการทำนองเดียวกับกลที่หนึ่ง แต่แทนที่จะใช้แผ่นพลาสติกปิดปากแก้ว น้ำและแรงตึงผิวของมันทำหน้าที่ยึดจับกันกับกระชอน กลายเป็นพื้นผิวที่กั้นไม่ให้อากาศไหลผ่านได้ 

แรงตึงผิวของน้ำเกิดจากแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของน้ำด้วยกันเองแถวๆบริเวณผิวน้ำ เราเห็นผิวของหยดน้ำโค้งนูนก็เพราะว่าแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลน้ำด้วยกันเองขนาดมากกว่าแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลน้ำและโมเลกุลก๊าซในอากาศ หยดน้ำจึงหดตัวเข้าหาศูนย์กลางทำให้ผิวโค้งนูน 

ในกรณีกลที่สองนี้ โมเลกุลน้ำดึงดูดกับโมเลกุลในเส้นลวดกระชอน ส่วนน้ำในบริเวณรูของกระชอนก็จับตัวกันเองด้วยแรงตึงผิวของมัน ความร่วมมือของกระชอนและน้ำจึงกลายเป็นพื้นผิวที่รับน้ำหนักได้บ้าง ถ้าเราทำการทดลองนี้ด้วยกระชอนที่มีรูขนาดต่างๆกันจะพบว่าสามารถใช้กระชอนรูเล็กๆเล่นกลนี้ได้ง่าย แต่ถ้าเราใช้กระชอนที่มีรูใหญ่ขึ้นเราก็จะเล่นได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะน้ำจะรั่วผ่านรูกระชอนได้ง่ายขึ้น ขนาดรูที่ใหญ่ที่สุดที่เคยทดลองทำสำเร็จคือประมาณ 2-3 มิลลิเมตร

เราสามารถใช้หลอดเป่าอากาศผ่านกระชอนเข้าไปในแก้ว จะพบว่าอากาศที่เป่าจะไปจะแทนที่น้ำทำให้น้ำไหลออกมาตามปริมาณอากาศที่เข้าไป ถ้าขนาดรูของกระชอนใหญ่พอเราสามารถใส่ไม้จิ้มฟันผ่านกระชอนให้มันลอยขึ้นไปในแก้วได้

คลิปบรรยากาศระหว่างกิจกรรมครับ: