Category Archives: ภาษาไทย

หนังสือแนะนำสองเล่มครับ

ปลายเดือนจะมีงานหนังสือลดราคาอีกแล้ว ผมเลยขอโอกาสแนะนำหนังสือน่าอ่านสองเล่มนะครับ

เล่มแรกคือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” โดยคุณ วินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือที่ทุกคนควรได้อ่านก่อนต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ต่างๆในโรงเรียน เพราะหนังสือจะเป็นไกด์ว่านักวิทยาศาสตร์สนใจธรรมชาติไปทำบ้าอะไร (คนทั่วไปมักเข้าใจว่านักวิทยาศาสตร์คือคนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับสูตรต่างๆ และศึกษาเรื่องลึกซึ้งที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ หรือไม่ก็สร้างของมาขายเพื่อหาเงิน แต่จริงๆแล้วนักวิทยาศาสตร์มักจะเป็นพวกนักชอบสำรวจและผจญภัยต่างหาก เพียงแต่เป็นการสำรวจและผจญภัยในเรื่อง ideas คือการสำรวจและผจญภัยจะเกิดในสมอง ด้วยการสังเกตและเดาว่าธรรมชาติทำงานอย่างไร และหาทางตรวจสอบด้วยการทดลองและการสังเกต ว่าเดาถูกหรือเปล่า เวลาเจออะไรแปลกๆแล้วเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ทำงานอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จะมีความสุขมาก)
จากคำแนะนำที่เว็บของหนังสือครับ:
เดาไม่ออกใช่ไหมว่านี่เป็นหนังสืออะไร เรื่องนี้มีองค์ประกอบของคน ปลา ลิง มนุษย์ต่างดาว มนุษย์ล่องหน ไอน์สไตน์ พีระมิด หมอดู ฮวงจุ้ย นอสตราดามุส แอตแลนติส สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ผี บุพเพสันนิวาส หลุมดำ การเดินทางไปดาวดวงอื่น ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนสนามฟุตบอล

ยิ่งงงกว่าเดิม? เฉลย! หนังสือเล่มนี้เป็นการตั้งคำถามเชิงปรัชญา อภิปรัชญา ศาสนา จักรวาลวิทยา ฯลฯ โดยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และหลัก กาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้นานมาแล้ว



คนเราเกิดมาทำไม? มนุษย์ต่างดาวสร้างพีระมิดจริงไหม? พรหมลิขิตกำหนดชีวิตเราจริงหรือ? ไสยศาสตร์ ฮวงจุ้ย หมอดู ฯลฯ เชื่อถือได้แค่ไหน? ผีมีจริงไหม? สวรรค์นรกอยู่ที่ใด? คนเราไม่มีศาสนาได้หรือเปล่า? บุพเพสันนิวาสมีจริงหรือ? คำตอบอยู่ในสนามฟุตบอลแห่งนี้ …

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ไม่ต่ำกว่า 20 เล่มแจกคนรอบข้างในหลายปีที่ผ่านมา จนผมจำไม่ได้ว่าให้ใครไปบ้าง เอาเป็นว่าถ้าผมยังไม่เคยให้ท่าน ท่านไปหาซื้ออ่านดูเองนะครับ 😀
อีกเล่มคือ “ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง” ที่แปลมาจาก “A Short History of Nearly Everything” โดย Bill Bryson เป็นหนังสือที่เล่าว่าเรารู้อะไรบ้าง รู้ได้อย่างไร แต่ส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์สนุกๆของการค้นพบต่างๆ อ่านแล้วจะเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น มีเรื่องเกี่ยวกับความโชคดี ความโชคร้าย นิสัยดี นิสัยเสียของเหล่านักวิทยาศาสตร์หลายๆคน ผมซื้อฉบับภาษาอังกฤษแจกไป 3 เล่ม และฟัง Audio Book จบไปสองรอบแล้ว ยังสนุกเหมือนเดิม ผมไม่เคยอ่านเล่มภาษาไทยจนจบ แต่เท่าที่ลองอ่านบางส่วนดู คิดว่าน่าจะแปลใช้ได้ครับ ที่สำคัญเป็นหนังสือที่คนเขียนมีอารมณ์ขัน และผมมักจะหัวเราะทุกๆหน้าสองหน้า เป็นยาคลายเครียดอันวิเศษครับ
ผมแนะนำหนังสือสองเล่มนี้ เพราะผมเป็นห่วงว่าเด็กไทยเรียนหนังสือไปแล้วดูเหมือนจะเสียเวลาไปเปล่าๆ เพราะไปเข้าใจว่าคณิต/ฟิสิกส์/เคมี/ชีวะคือสูตรและข้อมูลท่องจำต่างๆที่ต้องเรียนเพื่อสอบ และเมื่อสอบเสร็จก็จำไม่ได้เลยว่าได้ศึกษาอะไรไป แทนที่จะได้เรียนรู้ธรรมชาติแบบสุนทรีย์ และคิดทำอะไรต่อยอดขึ้นไปอีก ถ้ามีคนอ่านหนังสือสองเล่มนี้อย่างกว้างขวางอาจจะเปลี่ยนวิธีคิด วิธีเรียนรู้ หรือชะตากรรมของเด็กๆในอนาคตได้บ้าง
เวลาผมสอนอะไรเกี่ยวกับวิทย์และคณิตผมจะพยายามแทรกเรื่องประวัติศาสตร์ของเรื่องที่เรียนเข้าไปด้วย จะได้มีบริบทว่าเรื่องเหล่านี้น่าสนใจอย่างไร ถึงมีคนมาค้นคว้าจนเป็นเรื่องราวให้เราได้เรียนกัน รางวัลสูงสุดของผมคือเมื่อเด็กอนุบาลสามบอกผมว่า “พ่อโก้ครับ สุดยอดเลยครับ!” เมื่อผมเอาแม่เหล็กไปทำการทดลองต่างๆกับเด็กๆ และเด็กป.1 ถามผมว่า “พ่อกาลิเลโอ ชื่ออะไรคะ” เมื่อเราทำการทดลองเรื่องลูกตุ้มนาฬิกา และเมื่อผมตอบว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันแต่เราน่าจะหาได้ ผู้ถาม (เด็กป. 1!!!) ก็ไปค้นหาแล้วมาบอกผมสัปดาห์ต่อไป (ชื่อ Vincenzo ครับ)
ปล. ผมชอบวิทยาศาสตร์เพราะผมเป็นคนชอบเรื่องเล่าต่างๆ (นิทาน นิยาย ข่าวซุบซิบ) และเรื่องการทำงานของธรรมชาติเป็นเรื่องราวที่วิเศษมาก มีความจริงที่ตรวจสอบได้ มีความสวยงาม ผูกกันเป็นเรื่องราวอย่างแยบยล มีหักมุมและ punch line เจ๋งๆเสมอๆ

ฝึกเด็กกันผีหลอก

ผมไปสอนเด็กป.1 และ อนุบาล 2/2 ที่โรงเรียนบ้านพลอยภูมิ เรื่องภาพลวงตามาครับ

ดูวิดีโอคลิปก่อนครับ:

 

เราสามารถพิมพ์บนกระดาษที่ค่อนข้างแข็ง แล้วตัดตามแบบมาติดกาวเป็นรูปมังกรเล่นเองที่บ้านได้ มีแบบเป็นไฟล์ให้โหลดได้นะครับ
เวลาจะเล่นเราต้องหลับตาหนึ่งข้าง แล้วมองรอบๆมังกร เราจะรู้สึกว่ามังกรมองตามเรา (เราไม่ต้องหลับตาเวลาดูคลิปวิดีโอเพราะว่ากล้องวิดีโอที่ใช้ถ่ายมีเลนส์เดียวอยู่แล้วเหมือนกับเราหลับตาไปแล้ว) เหตุที่เราเห็นอย่างนั้นก็เพราะว่าเราไม่มีข้อมูลเพียงพอจากสองตาที่จะช่วยให้เราจะตัดสินว่าอะไรใกล้ไกลเรามากกว่ากัน หัวมังกรที่เราสร้างจากกระดาษเป็นลักษณะที่เว้าลงไป แทนที่จะนูนเหมือนหัวปกติตามธรรมชาติ แต่สมองเราไม่ได้รับข้อมูลตื้นลึกที่จะบอกว่าหัวมังกรเว้า ก็เลยเดาว่าหัวคงนูนแบบปกติ แล้วพอเรามองรอบๆ สมองเราก็จัดการแปลความหมายไปตามที่คิดว่าน่าจะเป็น โดยที่คิดว่าหัวนูนทั้งๆที่หัวเว้า ก็เลยเป็นภาพลวงตาอย่างที่เห็น (ภาพลวงตาดังๆอีกอันที่เกี่ยวกับสมองต้องเดาความลึกด้วยข้อมูลไม่เพียงพอ คือภาพหญิงสาวหมุนทวนเข็มและตามเข็มนาฬิกาขึ้นกับผู้มอง เพ่งไปเรื่อยๆเดี๋ยวเธอจะเปลี่ยนทิศทางเอง)
ผมพยายามบอกนักเรียนที่ผมสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ว่าประสาทสัมผัสและสมองของเราถูกหลอกง่าย ดังนั้นก่อนจะเชื่ออะไรต้องมีหลักฐานดีๆก่อน แล้วถ้าใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือวัดจะหลอกตัวเองยากขึ้น ผมคิดว่ากรณีส่วนใหญ่ที่คนบอกว่าเห็นผี น่าจะเกิดจากการที่สมองหลอกตัวสมองเองด้วยข้อมูลจากประสาทสัมผัสที่ไม่ครบถ้วน (ผมคิดว่าไม่มีผี ไม่มีวิญญาณ แต่จะชอบมากถ้าปรากฏว่ามีจริงๆ เพราะจะเป็นการค้นพบปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบใหม่ๆ แต่การที่จะเชื่อว่าอะไรที่แปลกประหลาดมีอยู่จริง เราต้องมีหลักฐานแน่นๆ คุณภาพสูงๆก่อน ไม่งั้นอาจถูกหลอกด้วยกลต่างๆ หรือตัวเราเอง เวลาไปในป่าหรือที่ขลังๆทั้งหลายผมพยายามพูดในใจกับศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ว่าขอหลักฐานชัดๆให้ผมเห็นสักทีเถอะ แต่ก็ไม่เคยเจอสักที สงสัยจะส่งสัญญาณไม่ตรงคลื่น หรือไม่ก็ไม่มีใครคอยฟังคำร้องของผม)
ถ้าสนใจเรื่องภาพลวงตาผมแนะนำ เว็บเหล่านี้:
Rotating Illusion (เราเห็นว่าภาพขยับหมุนตลอดเวลา ทั้งๆที่ภาพอยู่นิ่ง มีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่าเกิดได้อย่างไรด้วย)
สรุปสำหรับนักเรียนก็คือ อย่าเชื่อง่าย สมองและประสาทสัมผัสหลอกตัวเองได้ ความจำสามารถถูกสร้างหรืิอเปลี่ยนแปลงได้ จะเชื่ออะไรต้องมีหลักฐานแน่นๆ เวลามีใครมาบอกอะไรเรา เราควรจะคิดเสมอว่าเขารู้ได้อย่างไร ด้วยหลักฐานอะไร
แต่ผมก็ไม่ชอบอยู่ที่มืดๆและในน้ำอยู่ดีครับ กลัวผีและฉลาม 5 5 5

บทความแนะนำ (อีกแล้ว): ช่วงเวลาปิดเทอม

เป็นบทความที่เขียนโดยคุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมานครับ เป็นข้อคิดทางเลือกว่ากิจกรรมที่ลูกอาจจะทำได้นอกจากเรียนพิเศษในช่วงปิดเทอมมีอะไรบ้างครับ

คิดถึงตัวผมเอง ถ้าย้อนกลับไปในอดีตได้ ผมอยากฝึกเล่นเปียโน กีต้าร์ + กีต้าร์ไฟฟ้า และเคนโดให้เก่งเลย 5 5 5

การที่ผมเห็นการทำงานของหมอที่ดีมาแต่เล็ก ทำให้ผมตัดสินใจได้ว่าตัวเองไม่เหมาะจะเป็นหมอ เพราะจะไปทำเวรทำกรรมกับคนไข้เปล่าๆ (ล่าสุด ตอนไปเจอหมอปากหมาแถวเขาใหญ่ เพราะลูกสาวหัวแตกตอนไปเดินป่า ก็ควบคุมอารมณ์ได้เพราะแอบหัวเราะในใจว่าถ้าเราเป็นหมอ สงสัยจะปากหมาเหมือนเขาเลย ก็เลยไม่โกรธมาก)

ตอน ม.4 บังเอิญไปพบหนังสือชื่อ Feynman’s Lectures on Physics ซึ่งเขียนโดยอัจฉริยะตัวจริง ที่สอนให้เข้าใจธรรมชาติ ไม่ใช่เรียนฟิสิกส์แบบท่องจำสูตรหรือทำโจทย์เร็วๆเลยสนใจวิทยาศาสตร์แบบจะยึดเป็นอาชีพ เลยตั้งใจไปเรียนวิทย์ที่ Caltech ที่ Feynman สอนอยู่
ตอนเข้าเรียนปีแรกที่ Caltech เรายังสามารถเปลี่ยนคณะได้ เขาให้ทดลองเรียนหลายๆสาขาที่เราสนใจ ผมก็สนใจ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา และฟิสิกส์ ปรากฏว่าการบ้านชีวะ ยากมหากาฬ (ตอนนั้นใข้ computer มา sequence genes ไม่เป็น ทำการบ้านวิชานี้ อาทิตย์ละ 15-20 ช.ม.) จะเรียนคณิต ก็เจอเพื่อนร่วมห้องอายุ 12 ที่เข้าใจอะไรๆเร็วกว่าเราเยอะทั้งๆที่เราอายุ 17 เลยรู้สึกโง่มาก ก็เลยเหลือแต่ ฟิสิกส์ที่เราพอทำได้ ก็เลยเทรนเป็นนักฟิสิกส์ ความบังเอิญเล็กๆน้อยๆในอดีตมีผลมากมายในปัจจุบัน (ดังนั้นทานอาหารเหมือนกับหนูดีหนึ่งอย่าง ไม่น่าจะทำให้เป็นแบบหนูดีได้นะครับ)

เด็กสมัยนี้ถ้าสนใจอะไรจริงจังน่าจะเรียนรู้ทำอะไรเจ๋งๆได้มากขึ้นไปอีก ความรู้และข้อมูลเต็มไปหมด lectures จาก MIT และโรงเรียนชั้นนำก็ดูได้ฟรีๆ เข้า newsgroup เพื่อปรึกษากับคนในสาขาต่างๆทั้งโลกก็ได้ จะค้นหา patent มาดูว่าสิ่งประดิษฐ์ทำงานอย่างไรก็ได้ ทำอะไรเจ๋งๆสำเร็จก็เผยแพร่ให้คนทั้งโลกดูได้ทันที เช่น โมWii (ที่ TED) เล่นกีต้าร์ เล่นกีต้าร์อีก หรือร้องเพลง

ไปนั่งสอบแข่งกัน ด้วยข้อสอบแบบเก่าๆ ที่ไม่ได้วัดความสามารถในความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ และความอึด แล้วเรียนๆไปจนจบให้ได้ปริญญา ไม่น่าจะเหมาะกับอนาคตเท่าไรนะครับ (และไม่น่าจะสนุกด้วย ถ้าสนุกก็ว่าไปอย่าง)