Category Archives: science class

วิทย์ประถม: ฟ้าผ่าจิ๋วจากไม้ช็อตยุง

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ดูวิดีโอจากยาน Perseverance ที่ไปลงที่ดาวอังคาร รู้จักว่าฟ้าแลบฟ้าร้องฟ้าผ่าเกิดอย่างไร และเราทำในห้องเรียนด้วยไม้ช็อตยุงได้อย่างไร และทำไมยุงถึงตายด้วยไม้ช็อตยุง

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน วันนี้คือกลโต๊ะลอยครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ผมเล่าเรี่องน่าตื่นเต้นของมนุษยชาติเรื่องยาน Perseverance ไปลงดาวอังคารสัปดาห์ที่แล้วและสัปดาห์นี้พึ่งได้รับวิดีโอที่ถ่ายขณะลงจอดครับ

เด็กๆได้ดูคลิปขั้นตอนที่ศิลปินวาดว่าขบวนการจอดเป็นอย่างไร:

และดูวิดีโอที่ยานถ่ายจริงๆ แต่พึ่งส่งข้อมูลกลับมาถึงโลกครับ:

ต่อจากนั้นผมก็เอาไม้ช็อตยุงมาให้เด็กๆดูและเล่นกันครับ เด็กๆต่างก็คุ้นเคยเพราะมีที่บ้านไว้ใช้กำจัดยุงกัน แต่วันนี้เรามาคุยกันว่ามันทำงานอย่างไรและเกี่ยวอะไรกับฟ้าแลบฟ้าร้องฟ้าผ่า

หลักการทำงานของมันก็คือมันจะใช้แบตเตอรี่ภายในของมันส่งประจุไฟฟ้าไปที่ตะแกรงลวดด้านนอกและด้านในโดยให้มีประจุตรงกันข้ามระหว่างตะแกรงลวดด้านนอกและด้านใน ทำให้มีความต่างศักย์กันหลายพันโวลท์ ถ้ายุงไปพาดตะแกรงไฟฟ้าก็จะไหลผ่านตัวยุงทำให้มันสลบหรือตาย นอกจากนั้นถ้ายุงโดนตะแกรงแค่ด้านเดียว (แต่ถ้าเข้าไปอยู่ระหว่างตะแกรงนอกกับใน) ระยะห่างของตัวยุงกับตะแกรงจะน้อยพอที่จะทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านตัวยุง และผ่านอากาศเข้าไปในตะแกรงอีกด้านได้ เพราะเมื่อยุงไปพาดตะแกรงอันหนึ่งจะทำให้ระยะห่างระหว่างยุงกับตะแกรงอีกอันน้อยลง ทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านอากาศได้ (ปกติถ้าความต่างศักย์ประมาณ 3,000 โวลท์จะทำให้กระแสไฟข้ามอากาศได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร)

ภาพวาดดูทางขอบของไม้ช็อตยุง แสดงว่ายุงเข้าไปอยู่ระหว่างตะแกรงด้านใน (ใส่เครืองหมาย – เอาไว้) และตะแกรงด้านนอก (ใส่เครื่องหมาย +เอาไว้) ปกติระยะห่างระหว่างตะแกรงมากเกินกว่าที่กระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านอากาศระหว่างตะแกรงในและนอกได้ แต่ถ้ายุงไปพาดตะแกรง หรือไปสัมผัสตะแกรงในหรือนอก จะทำให้ระยะที่กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านอากาศน้อยลง ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลได้ วิ่งผ่านยุงทำให้มันตาย

การที่สิ่งมีชีวิตอย่างเราโดนไฟฟ้าแล้วตายเกิดจากสองสาเหตุหลักคือ ถ้ากระแสไฟฟ้ามีปริมาณมากๆไหลผ่านเรา จะเกิดความร้อนสูงและเราก็ไหม้ตาย อีกสาเหตุก็คือกระแสไฟฟ้าไม่มากจนร้อนไหม้ แต่มากพอที่ไปรบกวนการเต้นของหัวใจทำให้หัวใจหยุดเต้นครับ ปกติยุงที่โดนไฟฟ้าจากไม้ช็อตยุงแล้วตายจะมีกลิ่นไหม้ๆด้วยแสดงว่ากระแสไฟฟ้าผ่านมากพอให้เกิดความร้อนสูง นอกจากบางตัวโชคดีแค่สลบเพราะกำลังแบตเตอรี่อ่อนแล้ว

หลักการการทำงานของไม้ช็อตยุงนี้เป็นหลักการเดียวกับปรากฎการณ์ฟ้าแลบ/ฟ้าร้อง/ฟ้าผ่า คือเมฆที่ก่อตัวจากการเคลื่อนไหวของอากาศเยอะๆทำให้เหมือนมีการขัดถูกันระหว่างน้ำและเกล็ดน้ำแข็ง ทำให้เมฆแต่ละส่วนหรือพื้นดินมีประจุเครื่องหมายต่างกันคล้ายๆตะแกรงด้านนอกกับด้านในของไม้ช็อตยุง เมื่อประจุต่างกันมากพอ กระแสไฟฟ้าก็จะสามารถไหลผ่านอากาศได้ ทำให้อากาศร้อนขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้มีแสงสว่าง (จากความร้อน) และเสียงดัง (จากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว) ทำให้เราเห็นฟ้าแลบ และได้ยินฟ้าร้อง นอกจากบางทีที่เราอยู่ไกลเกินไปเลยไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องครับ

ต่อจากนั้นผมเอาสายไฟสองเส้นไปต่อกับตะแกรงด้านนอกและตะแกรงด้านในของไม้ช็อตยุง เอาปลายที่เหลือไปหนีบเข็มหมุดสองเล่มที่เอาปลายแหลมไว้ใกล้ๆกัน ที่ระยะประมาณหนึ่งถึงสองมิลลิเมตรจะมีแสงไฟคล้ายๆฟ้าแลบเล็กๆระหว่างปลายเข็มและมีเสียงดังเกิดขึ้น เป็นฟ้าแลบและฟ้าร้องขนาดจิ๋วครับ

เด็กๆได้ทดลองเอาปลายดินสอหรือไส้ดินสอที่ทำด้วยกราไฟต์ไปสมมุติเป็นยุง โดยให้แตะๆตะแกรงด้านหนึ่งหรือเข็มด้านหนึ่ง แล้วให้ระยะถึงตะแกรงหรือเข็มอีกด้านเหลือน้อยๆ ให้กระแสไฟฟ้าวิ่งข้ามอากาศได้ครับ

ผมเคยบันทึกคลิปอธิบายเรื่องพวกนี้ไว้ในอดีตและทดลองวัดระยะห่างระหว่างปลายเข็มไว้ด้วยครับ:

วิทย์ม.ต้น: Perseverance Rover จอดที่ดาวอังคาร, หัดไพธอนต่อ

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. ข่าวการลงจอดที่ดาวอังคารโดยยานเพอร์เซเวอแรนซ์ (Perseverance Rover) หรือเพอร์ซี่ ข้อมูลประมาณดังในลิงก์และคลิปเหล่านี้ครับ:

ภาพแรกสุดจากยานสำรวจ Perseverance หลังจากที่ได้ลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคาร เวลาประมาณตีสี่ของเช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์…

Posted by มติพล ตั้งมติธรรม on Thursday, February 18, 2021

2. เด็กรุ่นพี่หัดเขียนโปรแกรมไพธอนต่อ วันนี้เรียนรู้เรื่องการสุ่ม เรื่องพวกนี้: import random, random.randint(), random.choice(), random.random(), random.randrange()

การบ้านให้ไปศึกษา Turtle Graphics แล้วทำแบบฝึกหัด

3. เด็กรุ่นน้องเริ่มหัดเขียนโปรแกรมภาษาไพธอน โหลด Thonny มาใช้เขียนโปรแกรม วันนี้หัดเซฟไฟล์งาน โหลดไฟล์งาน หัดใช้ print(), input(), x = int(input(…)), เอาข้อความ (สตริง) ต่อกัน, หัดใช้ f-string, รู้จัก new line character (\n)

การบ้านให้ไปเขียนโปรแกรมให้ใส่เลขสองตัวแล้วคำนวณผลบวก/ลบ/คูณ/หาร/ยกกำลัง

วิทย์ม.ต้น: ทรานซิสเตอร์, การสร้างชิป, เมฆในขวด, วงจรไฟฟ้ากระแสตรง

วันนี้ในกิจกรรมวิทย์ม.ต้นเราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. ก่อนเวลาเรียน เราดูคลิปของเล่นวิทย์:

2. เรียนรู้เรื่องเมฆเกิดอย่างไร, อุณหภูมิก๊าซกับความดัน, การขยายตัวของก๊าซทำให้อุณหภูมิต่ำลง แล้วก็ทดลองสร้างเมฆในขวดกัน

หลักการทำงานก็คือเมื่อเราอัดอากาศให้มีความดันเพิ่มขึ้น อุณหภูมิอากาศจะสูงขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าเราให้อากาศขยายตัว อุณหภูมิของมันก็จะต่ำลง ถ้าเราสามารถให้อากาศขยายตัวอย่างรวดเร็วให้ความดันลดอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิมันก็จะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกันครับ 

ใช้หลักการที่ว่าอากาศขยายตัวจะเย็นมาสร้างเมฆในขวดครับ โดยเอาน้ำหรือแอลกอฮอล์เล็กน้อยใส่ขวดใส อัดอากาศเข้าไปให้ความดันสูงๆ อุณหภูมิในขวดก็จะสูงขึ้นด้วยตามความดันทำให้มีน้ำหรือแอลกอฮอล์ระเหยเป็นไอมากขึ้น เมื่อเปิดปากขวดให้อากาศวิ่งออกอย่างรวดเร็ว ความดันข้างในก็จะลดลง อุณหภูมิก็ลดลงอย่างรวดเร็วด้วย ไอน้ำหรือไอแอลกอฮอล์ก็จะควบแน่นกลายเป็นละอองเล็กๆลอยอยู่ในขวด เป็นเมฆหมอกให้เราเห็น เมฆในท้องฟ้าก็เกิดแบบประมาณนี้ โดยไอน้ำลอยขึ้นไปสูงๆแล้วเย็นลงควบแน่นเป็นเมฆครับ ตอนอัดอากาศและตอนปล่อยอากาศเราลองวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์อินฟราเรดด้วยครับ พบว่าอุณหภูมิต่างกันประมาณ 4-7 องศาเซลเซียส

ผมเคยบันทึกวิธีทำไว้ในคลิปเหล่านี้ครับ อันนี้ทำด้วยน้ำเย็น:

อันนี้ทำด้วยแอลกอฮอล์:

อันนี้เปรียบเทียบระหว่างทำด้วยน้ำ ทำด้วยแอลกอฮอล์ และแบบใช้ขวดเปล่า:

3. คุยกันเรื่องทรานซิสเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นสวิทช์ไฟฟ้า และเป็นพื้นฐานเทคโนโลยีต่างๆของมนุษยชาติ แนะนำให้เด็กๆดูคลิปนี้ครับ:

ถ้าเด็กๆสนใจว่าทรานซิสเตอร์มารวมกันแล้วทำงานอย่างไร แนะนำให้ดูอันนี้ครับ:

4. คลิปการรวมวงจรไฟฟ้าต่างๆรวมถึงทรานซิสเตอร์เป็นแสนเป็นล้านถึงพันล้านตัวให้อยู่ในชิปเดียวกัน:

5. เราคุยกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแรงดันไฟฟ้า (V) กระแสไฟฟ้า (I) และความต้านทาน (R) ในวงจรไฟฟ้ากระแสตรง V = IR

6. การบ้านเด็กๆคือดูคลิปทั้งหมดในลิสต์ Electronics for Beginners ข้างล่างนี้เป็นการบ้านพร้อมกับบันทึกโน๊ตตัวเองก่อนมาพบกันอีกครั้งวันพุธหน้าครับ:

7. บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ครับ:

กิจกรรมวิทย์ม.ต้นวันพุธ เด็กๆเริ่มรู้จักทรานซิสเตอร์, ดูคลิปการสร้างชิป CPU, เมฆคืออะไร, สร้างเมฆในขวด, วงจรไฟฟ้ากระแสตรง

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, February 16, 2021