Category Archives: science class

วิทย์ประถม: ใช้ลมยกของ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เด็กๆทำการทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศเรื่องเป่าลมใส่ถุงจะมีแรงยกมากกว่าเราคาดคิดกัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นคนลอยครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมถามเด็กๆว่าเราจะใช้ลมหายใจของเรายกโต๊ะได้ไหม เอาโต๊ะมาวางซ้อนกันแล้วพยายามเป่า แน่นอนโต๊ะไม่ขยับเลย เลยถามต่อว่าใช้อุปกรณ์อื่นมาช่วยจะทำได้ไหม ตกลงคือเอาถุงพลาสติกสอดไว้ระหว่างโต๊ะแล้วเป่าถุงก็สามารถขยับโต๊ะขึ้นได้ นอกจากนี้ถ้าใช้เครื่องช่วยเป่าลมใส่ถุงใหญ่ๆก็สามารถยกตัวคนได้ด้วย:

ถุงลมยกน้ำหนักมากๆได้ก็เพราะว่าขนาดพื้นที่ของถุงมีขนาดใหญ่พอ เมื่อเป่าลมเข้าไปทำให้ถุงมีความดันอากาศ ผิวของถุงก็ช่วยกันพยุงน้ำหนักที่กดทับอยู่ ยิ่งถุงใหญ่เท่าไร (และถ้าวัสดุของถุงมีความทนทานพอ ไม่แตกหรือรั่วเสียก่อน) ถุงก็จะสามารถยกน้ำหนักได้มากขึ้นเท่านั้น (แต่ก็ต้องแลกด้วยปริมาณอากาศที่ต้องเป่าเข้าไปมากขึ้นเมื่อเทียบกับถุงเล็ก) น้ำหนักที่ยกได้เท่ากับพื้นที่คูณกับความดันอากาศนั่นเอง

หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการทำงานของยางรถยนต์ ยางรถมีความทนทานมากสามารถอัดอากาศความดันสูงๆเข้าไปได้เยอะๆ ทำให้ยางสามารถรับน้ำหนักรถเป็นตันๆได้ครับ

วิทย์ประถม: ทำการทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล วันนี้เด็กทำการทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศเช่นพยายามดึงหลอดฉีดยาที่ปีดปลาย ดูดอากาศออกจากขวดพลาสติก ใช้กระดาษทับไม้บรรทัดไม่ให้กระดก ใช้สุญญากาศยกของต่างๆ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเปลี่ยนแบงค์ครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

คราวนี้เราทำการทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศกันหลายอย่าง:

  1. ผมใช้ปากดูดอากาศออกจากขวดน้ำดื่มพลาสติกเปล่าๆ จะพบว่าขวดบุบแบนอย่างรวดเร็ว
  2. ผมให้เด็กๆดึงก้านหลอดฉีดยาโดยใช้นิ้วอุดที่ปลายเปิดกันไม่ให้อากาศเข้า จะพบว่าต้องใช้แรงมากเพื่อดึง
  3. ให้เด็กๆเอายางปั๊มห้องน้ำ (หรือในอีกชื่อคือไม้ปั๊มส้วม) ที่ใหม่ๆยังไม่เคยใช้ มากดกับผิวเรียบแล้วพยายามดึงออก จะพบว่าต้องใช้แรงมาก
  4. เอาอุปกรณ์ขนย้ายกระจกมากดกับผิวเรียบ อุปกรณ์จะติดแน่นกับผิวเรียบ ดึงไม่ออก ถ้าติดกับโต๊ะเล็กๆสามารถยกเด็กขึ้นมาได้
  5. เอาไม้บรรทัดมาวางไว้ให้พ้นขอบโต๊ะ แล้วปล่อยน้ำหนักใส่ที่ปลายที่ยื่นออกมา ไม้บรรทัดจะกระเด็น แต่ถ้าเอากระดาษเรียบไปวางทับที่ปลายที่อยู่บนโต๊ะ เมื่อปล่อยน้ำหนักใส่ ไม้บรรทัดจะอยู่บริเวณเดิม ไม่กระเด็น

ลักษณะกิจกรรมจะเป็นประมาณนี้:

การทดลองต่างๆของเราวันนี้เกี่ยวข้องกับความดันอากาศ

สำหรับความรู้เบื้องต้นเรื่องอากาศ ผมถามเด็กๆว่าเรารู้สึกว่าลมพัดไหม ลมคืออากาศที่เคลื่อนตัว เรารู้สึกได้เพราะอากาศมีตัวตน มีน้ำหนัก คือแถวๆพื้นโลกจะมีน้ำหนักประมาณหนึ่งกิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (จริงๆประมาณ 1.275 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เมื่อเทียบกับน้ำจะพบว่าน้ำหนาแน่นกว่าอากาศประมาณ 800 เท่า คือน้ำจะมีน้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

เราอยู่บนผิวโลก เราใช้อากาศหายใจ อากาศที่อยู่รอบๆโลกเรียกว่าชั้นบรรยากาศ (Earth Atmosphere) ชั้นบรรยากาศของโลกมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับโลก คือมีอากาศสูงขึ้นไปจากพื้นโลกเพียง 100-200 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกับขนาดโลกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 13,000 กิโลเมตร ชั้นบรรยากาศจะหนาเพียงประมาณ 1% ของขนาดโลกเท่านั้น

แม้ว่าชั้นบรรยากาศจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับโลก แต่มันใหญ่มากเมื่อเทียบกับตัวเรา น้ำหนักของอากาศที่กดทับลงมาแถวๆพื้นโลกเทียบได้กับน้ำหนักสิบตันต่อตารางเมตรเลยทีเดียว (เทียบได้กับน้ำหนักช้างสองตัวกดลงมาในพื้นที่หนึ่งตารางเมตร หรือประมาณ 1 กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร) น้ำหนักที่กดลงมาต่อพื้นที่คือความดันอากาศนั่นเอง

ในการทดลองที่ใช้ไม้ปั๊มห้องน้ำหรืออุปกรณ์ย้ายกระจก เวลาเรากดลงไป เราจะไล่อากาศออกไปจากบริเวณที่เบ้ายางประกบกับพื้น ความดันอากาศภายในเบ้ายางจะลดลงตามปริมาณอากาศที่ลดลง ความดันอากาศภายในเบ้ายางจึงน้อยกว่าความดันอากาศภายนอก เบ้ายางจึงถูกกดให้แนบสนิทกับพื้น ทำให้ดึงออกยาก แต่ถ้าพื้นขรุขระ พื้นจะมีช่องเล็กๆให้อากาศจากภายนอกไหลเข้าไปในเบ้ายางได้ง่ายๆ ทำให้ดึงออกง่าย

ในการทดลองดึงเข็มฉีดยา สาเหตุที่เราใช้แรงมากในการดึงก้านก็เพราะว่าเราต้องสู้กับแรงดันจากความดันอากาศนั่นเอง ถ้าเราไม่อุดปลายหลอดให้อากาศไหลเข้าออกอย่างอิสระ เราจะไม่ต้องใช้แรงมาก แต่ถ้าอุดปลายหลอด เราต้องสู้กับแรงกดจากอากาศภายนอกที่ดันก้านหลอดฉีดยาไม่ให้เคลื่อนที่ออกมา

สำหรับการทดลองที่ปล่อยน้ำหนักใส่ไม้บรรทัด เมื่อเราเอากระดาษไปวางทับไม้บรรทัด อากาศที่กดทับกระดาษจะทำหน้าที่เป็นน้ำหนักกดไม้บรรทัดไม่ให้ขยับด้วย ถ้าขยำกระดาษแผ่นนั้นให้เป็นลูกบอลแล้ววางทับไม้บรรทัด น้ำหนักของลูกบอลกระดาษจะไม่พอที่จะกดไม้บรรทัด ไม้บรรทัดและลูกบอลกระดาษจะกระเด็น

วิทย์ประถมต้น: รู้จักคุณสมบัติของน้ำ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล วันนี้เด็กทำการทดลองเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำเช่นความจุความร้อนสูง (ใช้ระบายความร้อนสิ่งต่างๆได้ดี) ขนาดเปลี่ยนแปลงยาก (ใช้สร้างเครื่องทุ่นแรงเช่นแม่แรงยกของ) และเมื่อกลายเป็นของแข็งมีความหนาแน่นต่ำกว่าของเหลว (ทำให้น้ำแข็งลอยอยู่เหนือน้ำ และดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่ชื่อ Enceladus ซึ่งผิวปกคลุมด้วยน้ำแข็งแต่ยังมีมหาสมุทรอยู่ภายใต้–น่าสำรวจหาสิ่งมีชีวิต)

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลตัดมือครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

เราทำการทดลองเกี่ยวกับน้ำกัน อันแรกเอาขวดพลาสติกใส่น้ำเต็มปิดฝาไม่มีอากาศภายใน และอีกขวดที่ภายในมีแต่อากาศ ให้เด็กๆบีบเปรียบเทียบกัน ขวดที่มีน้ำจะไม่เล็กลง ขวดที่มีอากาศจะเล็กลงได้

เอาหลอดฉีดยาขนาดเดียวกันมาสองอัน อันหนึ่งใส่น้ำเต็มและไล่อากาศให้ออกไปให้หมดไม่ให้มีฟองเหลือ อีกอันมีแต่อากาศภายในหลอด เมื่อเราเอามืออุดปลายหลอดฉีดยาและพยายามดันก้านหลอดฉีดยาให้ภายในหลอดมีขนาดเล็กลง หลอดที่มีน้ำจะไม่ขยับเลย หลอดที่มีแต่อากาศจะขยับทำให้ปริมาตรอากาศเล็กลงและเมื่อปล่อยมือปริมาตรอากาศจะขยายกลับมาเท่าเดิม

การทดลองสองอย่างข้างต้น แสดงให้เด็กๆเข้าใจว่าน้ำเปลี่ยนขนาด(ปริมาตร)ได้ยากมากด้วยการกด แต่อากาศเปลี่ยนขนาดได้ง่ายมาก

เราใช้หลักการที่น้ำไม่เปลี่ยนขนาดนี้สร้างแม่แรงไฮดรอลิก โดยเราเอาหลอดฉีดยาขนาดเล็กสูบน้ำให้เต็มแล้วต่อกับหลอดขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ข้างในบ้าง สิ่งที่สำคัญคือต้องระวังไม่ให้มีฟองอากาศอยู่ในหลอดทั้งสองเลย เมื่อกดหลอดเล็ก แรงที่หลอดใหญ่จะเพิ่มขึ้นหลายเท่า (= อัตราส่วนพื้นที่หน้าตัดหลอดใหญ่ต่อหลอดเล็ก) ถ้าเด็กๆกดหลอดเล็ก ผู้ใหญ่ตัวโตๆอย่างผมกดที่หลอดใหญ่ เด็กๆก็จะสามารถเอาชนะผมได้ครับ

สาเหตุที่เด็กๆสามารถใช้หลอดฉีดยาอันเล็กชนะผมที่ใช้หลอดฉีดยาอันใหญ่ก็เพราะความสัมพันธ์เรื่องความดันและแรงกดครับ ความดันคือแรงต่อพื้นที่ เวลาเรามีหลอดขนาดต่างกันใส่น้ำไว้ พอกดหลอดหนึ่ง ความดันมันส่งผ่านน้ำไปอีกหลอดหนึ่งทำให้สามารถเป็นตัวคูณแรงได้ถ้าพื้นที่หน้าตัดของหลอดอีกหลอดใหญ่กว่าพื้นที่หน้าตัดหลอดแรก

วิธีทำแม่แรงจากหลอดฉีดยา
คำอธิบายสำหรับเด็กที่โตๆหน่อยครับ

ผมเคยบันทึกกิจกรรมนี้ไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร. โก้ครับ:

อีกการทดลองหนึ่งที่เราเล่นกันคือลูกโป่งลนไฟ เราเอาลูกโป่งสองลูกมาลนไฟดูครับ ลูกหนึ่งมีแต่อากาศที่เราเป่าเข้าไปข้างใน อีกลูกเราใส่น้ำไว้ในลูกโป่งด้วย

เราพบว่าลูกโป่งที่ไม่มีน้ำใส่ไว้พอถูกไฟก็แตกอย่างรวดเร็ว เพราะยางถูกไฟก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นจนเปลี่ยนสภาพและฉีกขาดออกจากกัน แต่สำหรับลูกโป่งที่ใส่น้ำไว้ เราสามารถลนไฟไว้ได้นานๆโดยที่มันไม่แตกเลย  แต่ถ้าเราเอาไฟไปถูกยางตรงที่ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ยางตรงนั้นก็จะขาดออกทำให้ลูกโป่งแตกเหมือนกัน

สาเหตุที่ลูกโป่งที่มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ทนไฟอยู่ได้นานๆก็เพราะน้ำสามารถดูดซับความร้อนได้เยอะ เมื่อเราเอาไฟไปลนลูกโป่ง ยางของลูกโป่งก็จะร้อนขึ้น แต่เนื่องจากยางมีความบางและอยู่ติดกับน้ำ ความร้อนส่วนใหญ่ก็ถูกน้ำรับเอาไปหมด น้ำจะอุ่นขึ้นนิดหน่อยแต่อุณหภูมิไม่สูงพอที่จะทำให้ยางขาดได้  (แต่ถ้าเราใช้ยางที่หนาๆกว่าลูกโป่ง มันก็เป็นไปได้ว่ายางจะไหม้ไฟนะครับ เนื่องจากยางหนาทำให้ส่งถ่ายความร้อนไปยังน้ำที่อยู่ด้านตรงข้ามกับไฟไม่ทัน ยางด้านที่ใกล้ไฟอาจจะมีอุณหภูมิสูงเกินไปทำให้ติดไฟได้)

หลักการที่ว่าน้ำสามารถดูดซับความร้อนได้เยอะถูกใช้ในหม้อน้ำรถยนต์ ที่เราใช้น้ำไปดึงความร้อนออกมาจากเครื่องยนต์ที่เผาเชื้อเพลิงอยู่ แล้วมาระบายความร้อนที่รังผึ้งที่ใช้พัดลมเป่าให้ความร้อนออกไปกับอากาศที่ไหลผ่าน ถ้าระบบหม้อน้ำเสีย เครื่องยนต์ก็จะร้อนจัด จนละลายและหยุดทำงาน  นอกจากนี้น้ำยังเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิไม่ให้กระโดดไปมาเร็วๆด้วย เช่นในทะเลทรายที่น้ำน้อย ตอนกลางวันก็ร้อนจัด กลางคืนก็หนาว ในที่ที่มีน้ำเยอะๆ น้ำจะช่วยดูดซับเอาความร้อนไปในตอนกลางวัน และปล่อยความร้อนออกมาในตอนกลางคืน ทำให้ไม่ร้อนไม่หนาวต่างกันเกินไป

คลิปการทดลองที่เคยบันทึกไว้ในอดีตครับ:

ถ้าใช้ไฟแรงๆจากเครื่องพ่นไฟทำอาหาร (Culinary Torch) เพื่อให้ยางลูกโป่งถ่ายเทความร้อนให้น้ำไม่ทันจะได้ระเบิดแล้วถ่ายเป็นวิดีโอสโลโมชั่นไว้ครับ:

ผมเล่าให้เด็กๆฟังด้วยว่าร่างกายคนเรามีความหนาแน่นพอๆกับน้ำ เพราะร่างกายเราประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนที่หนาแน่นกว่าน้ำเช่นกระดูก และบางส่วนที่หนาแน่นน้อยกว่าน้ำเข่นปอดที่มีอากาศและไขมัน พอรวมๆกันก็เลยลอยปร่ิมๆน้ำ ถ้าน้ำไม่มีคลื่นเราสามารถลอยไปได้เรื่อยๆด้วยท่าปลาดาวหรือท่าแมงกระพรุนไปเรื่อยๆ และให้ดูการแสดงแม่ชีลอยน้ำในคลิปนี้ครับ:

คลิปกิจกรรมที่เด็กๆเล่นกันในครั้งนี้ กดโลโก้ Facebook สีฟ้าที่มุมขวาบนเพื่อไปดูนะครับ: