เด็กๆวัดความถี่ลูกตุ้มที่มีความยาวต่างๆกัน + กลจับแบงค์

 

 
อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “ไปคุยกับเด็กๆเรื่องการสั่นการแกว่งและเล่นกับเลเซอร์นิดหน่อย” อยู่ที่นี่ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องวัดความถี่การสั่นของลูกตุ้มขนาดต่างๆสำหรับเด็กประถม และกลจับแบงค์สำหรับเด็กอนุบาลครับ

สำหรับเด็กประถม ผมให้ดูวิดีโอจากคราวที่แล้วที่เราได้เห็นลูกตุ้มขนาดยาวต่างๆแกว่งด้วยความถี่ต่างๆกันจนเป็นรูปสวยงาม เราจะทำของอย่างนั้นบ้าง วันนี้เราจึงพยายามวัดความถี่ของลูกตุ้มที่มีความยาวต่างๆกันเพื่อจะได้เลือกความยาวให้ถูกครับ วิดีโอที่เราดูคืออันนี้ครับ:

ก่อนอื่นเราก็สังเกตลูกตุ้มว่าแกว่งอย่างไร พบว่ามันจะแกว่งน้อยลงเรื่อยๆ ผมถามเด็กๆว่าเพราะอะไร เด็กหลายๆคนบอกว่าเพราะโดนอากาศ เพราะแรงต้านอากาศครับ ผมจึงถามว่าเราจะทำให้แกว่งนานๆอย่างไรดี เด็กๆไม่แน่ใจ ผมจึงเอาเพิ่มน้ำหนักของลูกตุ้ม หรือเอาดินน้ำมันมาปั้นรอบๆให้กลมๆ พบว่าลูกตุ้มแกว่งได้นานขึ้น ผมจึงบอกเด็กๆว่า ถ้าเราทำรูปร่างของลูกตุ้มให้มันแหวกอากาศง่ายๆมันก็จะต้านอากาศน้อย และถ้ารูปทรงเหมือนเดิมหรือคล้ายๆกันแล้วเราเพิ่มน้ำหนัก อากาศก็จะต้านให้มันหยุดยากขึ้น

เพิ่มน้ำหนักลูกตุ้ม
เอาดินน้ำมันมาใส่ให้เป็นลูกกลมๆจะได้ต้านอากาศลดลง  

จากนั้นผมก็ให้เด็กๆนับจำนวนครั้งที่ลูกตุ้มแกว่งครบรอบในหนึ่งนาที สำหรับเด็กเล็กป.1-2 ผมเป็นคนจับลูกตุ้มให้เด็กๆดูเวลาและนับ สำหรับเด็กป.3-5 ผมให้แบ่งกลุ่มช่วยกับทำงานเองครับ ผมบอกเด็กๆว่าความยาวของลูกตุ้มนั้น เราต้องวัดจากจุดหมุนที่เราจับไปถึงจุดศูนย์กลางมวลซึ่งจะอยู่กลางๆของลูกตุ้มเนื่องจากลูกตุ้มหนักกว่าเชือกมาก พอเด็กๆเข้าใจเราก็เริ่มเก็บข้อมูลกัน ภาพบรรยากาศการทดลองเป็นดังนี้ครับ:

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ต่อไปนี้คือบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

เอาผลการทดลองมาวาดกราฟครับ:

จุดสีน้ำเงินคือค่าที่วัด เส้นสีดำคือเส้นที่ใช้หาความสัมพันธ์ความถี่และความยาวลูกตุ้ม สีแดงคือค่าจากทฤษฎี
จุดสีน้ำเงินคือค่าที่วัด เส้นสีดำคือเส้นที่ใช้หาความสัมพันธ์ความถี่และความยาวลูกตุ้ม สีแดงคือค่าจากทฤษฎี

สำหรับเด็กๆอนุบาล ผมไปแนะนำการเล่นจับแบงค์ครับ สอนให้เด็กๆไปทดลองทำกับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน วิธีทำก็คือให้เด็กเอาแขนวางพาดบนโต๊ะหรือเก้าอี้ให้มือยื่นออกมาเตรียมจับแบงค์ที่ผมจะปล่อยให้ตกผ่านมือเด็ก พอผมปล่อยแบงค์เด็กๆก็จะต้องพยายามจับแบงค์ให้ได้ ซึ่งโดยปกติจะไม่สามารถจับได้ (สาเหตุที่เอาแขนไปพาดโต๊ะก็เพื่อป้องกันไม่ให้ขยับแขนลงไปคว้าแบงค์ที่ตกผ่านมือไปแล้วได้ครับ)

 
 
 
 
 

ผมเล่าเรื่องให้เด็กๆฟังว่า เวลาเราจะจับแบงค์ ตาเราต้องมองดูแล้วเห็นว่าแบงค์ตก แล้วจึงส่งสัญญาณไปที่สมอง สมองต้องตัดสินใจว่าจะจับแบงค์แล้วส่งสัญญาณไปที่มือให้มือจับ สัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณไฟฟ้าที่วิ่งไปตามเส้นประสาทของเราและมันใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าเวลาที่แบงค์ตกผ่านมือเราไป จากการทดลองจับไม้บรรทัดยาวๆแทนแบงค์พบว่าไม้บรรทัดจะตกลงไปได้กว่าฟุต ดังนั้นแบงค์ที่มีขนาดยาวไม่ถึงฟุตตก มือเราจึงจับไม่ทันครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.