(พยายาม)ติดตั้งลูกตุ้มความยาวต่างๆให้มันแกว่งสวยๆ

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “เด็กๆวัดความถี่ลูกตุ้มที่มีความยาวต่างๆกัน + กลจับแบงค์” ครับ ถ้ายังไม่ได้ดูควรจะดูก่อนครับเพราะเนื้อหาต่อเนื่องกัน)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมและกลุ่มบ้านเรียนเฟิร์นครับ วันนี้เราทำการทดลองต่อจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพยายามเอาลูกตุ้มที่มีความยาวต่างๆกันมาเรียงกันแล้วปล่อยให้มันแกว่งด้วยความถี่ต่างๆกันให้ดูสวยงามครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมาเด็กๆได้วัดความถี่การแกว่งของลูกตุ้มขนาดต่างๆแล้วผมก็เอาไปวาดเป็นกราฟแล้วพิมพ์ให้เด็กๆ วันนี้ผมเอากราฟที่สรุปความสัมพันธ์ระหว่างความยาวและความถี่ของลูกตุ้มให้เด็กๆดู:

สรุปความสัมพันธ์ที่เด็กๆวัดได้จากสัปดาห์ที่แล้วครับ
ความสัมพันธ์เดิมแต่เราขยายให้เห็นชัดขึ้นในช่วงแกว่ง 48-70 ครั้งต่อนาทีครับ

จากนั้นผมก็สอนเด็กๆให้ใช้กราฟหาความยาวของลูกตุ้มถ้ารู้ความถี่ หรือหาความถี่ลูกตุ้มถ้ารู้ความยาว ซึ่งก็แค่ไปดูว่าเส้นกราฟมันพาดคู่ความยาวและความถี่ตรงไหนบ้าง  เช่นถ้าต้องการทราบว่าถ้าความถี่คือ 65 ครั้งต่อนาที ลูกตุ้มต้องยาวเท่าไร เราก็แค่ลากเส้นในแนวนอนจากเลข 65 ไปจนชนเส้นกราฟแล้วลากเส้นแนวตั้งลงมาแล้วพบว่าความยาวลูกตุ้มต้องเป็นเกือบๆ 21 เซ็นติเมตรนั่นเอง หรือถ้าต้องการทราบว่าถ้าลูกตุ้มยาว 30 เซ็นติเมตร มันจะแกว่งกี่ครั้งต่อนาที เราก็ลากเส้นในแนวตั้งที่ 30 ขึ้นไปชนเส้นกราฟแล้วลากเส้นแนวนอนไปทางซ้าย ก็จะพบว่ามันแกว่งประมาณ 54 ครั้งต่อนาที

จากนั้นเด็กๆก็แบ่งกลุ่มกันสร้างลูกตุ้มจากน๊อตหกเหลี่ยม ดินน้ำมัน และเชือก โดยที่เราต้องการลูกตุ้ม 15 ลูกที่สั่น 51, 52, 53, …, 63, 64, 65 ครั้งต่อนาที โดยเด็กๆหาความยาวลูกตุ้มจากกราฟแล้วสร้างลูกตุ้มขึ้นมาให้ผมไปติดกับไม้บรรทัดอลูมิเนียม (ที่ซ้อนกันสองอันให้แข็งๆหน่อย ติดเชือกกับไม้บรรทัดด้วยกาวดินน้ำมันของ UHU ก้อนดำๆครับ เพื่อให้ปรับเลื่อนเชือกขึ้นลงได้บ้างตอนติดตั้ง)

หาความยาวลูกตุ้มที่มีความถี่ที่ต้องการ
เอาเชือกร้อยน็อตแล้วใส่ดินน้ำมันถ่วงให้กลมๆ หนักๆ
วัดความยาวเชือกที่จะใช้แขวนตุ้ม
เอาลูกตุ้มมาห้อยบนไม้บรรทัด
ติดด้วยกาวดินน้ำมัน
หน้าตาประมาณนี้ครับ

พอเราได้ลูกตุ้มความยาวต่างๆกันเรียงกันแล้วปล่อยให้มันเริ่มแกว่งพร้อมๆกัน มันจะแกว่งช้าเร็วต่างกันดูเหมือนเป็นงูเลื้อยครับ ที่เราเห็นก็เป็นประมาณนี้ครับ:

เนื่องจากเรามีเวลาจำกัดจึงไม่สามารถปรับแต่งความยาวอย่างละเอียดให้ความถี่ของลูกตุ้มเป็น 51, 52, …, 65 ครั้งต่อนาทีเป๊ะๆได้ครับ ถ้าปรับได้พอดีเป๊ะจะได้การเคลื่อนไหวที่สวยงามอย่างนี้:

ต่อไปนี้คือภาพบรรยากาศการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.