อัลตร้าซาวด์ดูเส้นเลือดที่คอและดูหัวใจเต้นกับเด็กประถมและกลถุงพลาสติกไม่รั่วสำหรับเด็กอนุบาล

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “คุยกับเด็กๆเรื่องอวัยวะ เครื่องมือส่องดูร่างกาย (Ultrasound, X-Ray, CT, MRI) และการจมการลอย” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เราได้เครื่องอัลตร้าซาวด์มาดูเส้นเลือดที่คอและดูหัวใจเต้นกับเด็กประถมและเล่นกลถุงพลาสติกไม่รั่วสำหรับเด็กอนุบาลครับ

โรงพยาบาลบางโพได้สนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์ของเด็กๆครับ ให้ยืมเครื่องอัลตร้าซาวด์ขนาดเล็กมาให้ดูอวัยวะภายในของเด็กๆกัน เพื่อต่อยอดการเรียนรู้สัปดาห์ที่แล้วที่เราพูดคุยกันเรื่องอวัยวะและอุปกรณ์ส่องดูร่างกายครับ ผมต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเครื่องราคาประมาณสองล้านบาทและส่วนหัวอ่าน ( หัวโพรบ, Probe) ก็เสียหายง่ายถ้าตกหรือกระทบกระเทือนมากไปครับ

ผมเอาหัวตรวจโพรบสองตัวให้เด็กๆดูครับ ตัวหนึ่งเขียนว่า 8L อีกตัวเขียนว่า 4C บอกเด็กๆว่า 8L แปลว่าสั่นด้วยความถี่ 8 ล้านครั้งต่อวินาทีหรือ 8 เมกาเฮิร์ตซ์ ส่วนอักษร L ย่อมาจาก Linear แปลว่าเป็นเส้นตรง (จะเห็นว่าหัวอ่านเป็นแท่งตรงๆ)  ส่วนเจ้า 4C แปลว่าสั่นด้วยความถี่ 4 ล้านครั้งต่อวินาทีหรือ 4 เมกาเฮิร์ตซ์ ส่วนอักษร C ย่อมาจาก Convex แปลว่าเป็นโค้งๆ (หัวอ่านมันโค้งนูนครับ)

หัวโพรบครับ (Probe) ใช้ส่งและรับคลื่นเสียงความถี่สูง

ผมเล่าต่อไปว่าความถี่เสียงที่สูงจะสามารถตรวจจับรายละเอียดได้ดีกว่า แต่จะหมดแรงเมื่อเข้าไปในร่างกายในระยะไม่ลึกเท่าไร ส่วนความถี่ต่ำจะตรวจจับรายละเอียดได้น้อยกว่าแต่เข้าไปในร่างกายได้ลึกกว่า ดังนั้นเราจะใช้เจ้า 8L มาดูอวัยวะที่ไม่ลึกนัก (คือดูเส้นเลือดแดงที่ลำคอ) และจะใช้ 4C ดูอวัยวะที่ลึกเข้าไป เช่นในท้องและหัวใจ

จากนั้นเด็กทุกคนก็ได้รับการตรวจหาเส้นเลือดแดงที่คอและหัวใจครับ เด็กๆจะได้เห็นเส้นเลือดและหัวใจเขาขยับเป็นจังหวะจากการสูบฉีดเลือดของหัวใจนั่นเอง

ดูเส้นเลือดที่คอครับ
เห็นเส้นเลือดทางแนวยาว ขยับตัวเป็นจังหวะเวลาเลือดไหลผ่านครับ (แนวภาคตัดขวางเป็นวงกลมก็เห็นนะครับ แต่ไม่ได้ถ่ายรูปมา)
ดูหัวใจเต้นครับ เห็นห้องต่างๆในหัวใจบีบตัวเรียงกันไปเป็นจังหวะ เห็นลิ้นหัวใจเปิดปิด

วิดีโอหัวใจเต้นครับ ในวิดีโอที่สองจะเห็นลิ้นหัวใจเปิดปิดชัดกว่าอันแรกครับ:

สำหรับเด็กๆอนุบาลวันนี้เป็นการแสดงเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของถุงพลาสติก โดยเอาถุงพลาสติกใส่น้ำและผูกปากถุงออกมา แล้วขอให้เด็กผู้กล้าหาญสองคนอาสามาทำร่วมทำการทดลอง จากนั้นผมก็เอาถุงไปวางไว้สูงๆเหนือหัวอาสาสมัคร แล้วเอาดินสอจิ้มถุงเข้าไปช้าๆ สิ่งที่น่าสนใจก็คือเมื่อทิ้งดินสอคาไว้ น้ำจะไม่รั่วออกมา แม้จะจิ้มดินสอเข้าไปหลายๆอันก็ตาม

ผมบอกเด็กๆว่าพลาสติกมีหลายชนิด ถ้าเรามองขยายมากๆ เราจะเห็นส่วนประกอบของพลาสติกเป็นเส้นๆ บางชนิดมีกิ่งเยอะแยะ เส้นเล็กๆเหล่านี้เกาะติดกันอย่างเหนียวแน่น เมื่อเราค่อยๆแทงถุงช้าๆ เส้นเล็กมีเวลาที่จะคลายตัวทำให้เนื้อพลาสติกขยาย เมื่อเนื้อพลาสติกขยายตัวจนทนไม่ไหวแล้ว ดินสอก็จะทะลุเข้าไปแต่เนื้อพลาสติกที่ขยายรอบๆดินสอจะติดกับตัวดินสอ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลออกมาได้

จากนั้นผมก็เอาอีกถุงมาแล้วใช้นิ้วจิ้มให้พลาสติกยืดแต่ไม่ทะลุ แล้วเอานิ้วออก ให้พลาสติกที่ยืดโป่งออกมาเป็นแขนขาเล็กๆของถุง

ต่อไปเด็กๆก็ได้เอาดินสอสีคนละอันมาจิ้มถุงพลาสติกกันครับ ลุ้นและตื่นเต้นกันใหญ่:

 
 
 
 

ต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.