อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ
ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ
(คราวที่แล้วเรื่อง “คุยกับเด็กๆเรื่องอุณหภูมิ เฟือง และปืนใหญ่ลม” ครับ)
วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้คุยกันเรื่องอุณหภูมิต่อสำหรับเด็กป.1-3 สำหรับเด็กป.4-6 ผมให้เด็กๆลองต่อของเล่นจากมอเตอร์ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ส่วนเด็กๆอนุบาลได้ดูเทอร์โมมิเตอร์แบบที่มีแอลกอฮอลสีแดงๆ และทดลองทาแอลกอฮอลที่แขนแล้วเป่าดูครับ
สำหรับเด็กป.1-3 วันนี้ผมเอาเทอร์โมมิเตอร์ที่มีแอลกอฮอลสีแดงภายในมาให้ดูเพิ่มเติมจากเทอร์โมมิเตอร์แบบไฟฟ้าที่เอามาให้ดูครั้งที่แล้วครับ เวลาเราเอามือไปกำแท่งเทอร์โมมิเตอร์ เส้นสีแดงก็จะยาวขึ้นๆ เวลาเราเอาเทอร์โมมิเตอร์ไปแช่น้ำแข็ง เส้นสีแดงก็จะสั้นลงๆ ผมให้เด็กๆลองเดาว่ามันทำงานอย่างไร เด็กๆไม่แน่ใจ ผมจึงบอกว่าในแท่งแก้วเทอร์โมมิเตอร์มีท่อเล็กๆที่เชื่อมกับกระเปาะแอลกอฮอลอยู่ จากนั้นผมถามว่าเวลาเราเอาเทอร์โมมิเตอร์มาโดนของร้อนๆจะเกิดอะไรขึ้น เด็กๆบอกได้ว่ามันจะร้อนตาม ผมจึงถามต่อว่าของเวลาร้อนขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร จะขยายตัวหรือหดตัว เด็กๆบอกว่าขยายตัว ผมจึงถามต่อว่าแอลกอฮอลสีแดงๆขยายตัวแล้วจะไปไหนได้ มันไหลออกมาข้างนอกได้ไหม เด็กๆบอกว่าไม่ได้ ผมจึงให้สังเกตว่าแอลกอฮอลชยายตัวแล้วจะวิ่งไปตามท่อเล็กๆในแท่งแก้ว ทำให้เราเห็นเส้นสีแดงๆยาวขึ้น
จากนั้นเราแช่เทอร์โมมิเตอร์ในน้ำก๊อกธรรมดา น้ำใส่น้ำแข็ง และน้ำร้อนจากกระติก ดูว่าอุณหภูมิเป็นเท่าไรกันบ้าง
น้ำธรรมดา 24 องศาเซลเซียส |
น้ำร้อน 54 องศาเซลเซียส |
น้ำใส่น้ำแข็ง 2-3 องศาเซลเซียส |
เราเอาเทอร์โมมิเตอร์ใส่แช่ไปในกระติกน้ำแข็งแล้วปิดทิ้งไว้หลายนาทีแล้วเปิดมาดูว่าอุณหภูมิเป็นเท่าไร
จากนั้นผมถามเด็กๆว่ารู้ไหมเราทำให้น้ำใส่น้ำแข็งเย็นลงไปอีกอย่างไร เด็กๆไม่ทราบ ผมจึงใบ้ว่าเคยเห็นถังไอศครีมกะทิไหม เขาใส่อะไรผสมกับน้ำแข็ง เด็กๆบางคนจำได้บอกว่ามีเกลือ ผมบอกว่าใช่แล้ว เราโรยเกลือลงไปในน้ำผสมน้ำแข็งให้มันเย็นได้อีก จากนั้นเราก็ลองโรยเกลือแล้ววัดอุณหภูมิกันอีก
โรยเกลือแล้วได้อุณหภูมิประมาณ -10 องศาเซลเซียส |
หลังจากวัดอุณหภูมิน้ำแข็งผสมเกลือเสร็จ ผมก็ลองต้มน้ำแล้ววัดอุณหภูมิให้เด็กๆดูว่าตอนน้ำเดือดพล่านอุณหภูมิเป็นเท่าไร
จากนั้นผมก็ถามเด็กๆว่าแล้วเด็กๆรู้ไหมว่าจริงๆแล้วเวลาเราบอกว่าอะไรร้อนอะไรเย็นเนี่ยแปลว่าอะไร ผมกล่าวท้าวความว่าสิ่งต่างๆประกอบไปด้วยส่วนประกอบเล็กๆที่เรียกว่าอะตอม (หรือกลุ่มของอะตอมที่มารวมกันด้วยอัตราส่วนแน่นอนเรียกว่าโมเลกุล) เจ้าส่วนประกอบเหล่านี้ไม่เคยอยู่เฉย จะสั่นเต้นไปเต้นมาถ้ามันอยู่ในของแข็ง หรือวิ่งไปวิ่งมาถ้าอยู่ในของเหลวหรือก๊าซ ถ้าส่วนประกอบเหล่านี้เคลื่อนที่เร็วเวลาเราวัดอุณหภูมิเราก็จะเรียกว่าร้อน ถ้าส่วนประกอบเหล่านี้เคลื่อนที่ช้าเวลาเราวัดอุณหภูมิเราก็จะเรียกว่าเย็น ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราเอาน้ำมาต้ม เราใส่พลังงานเข้าไปเรื่อยๆ โมเลกุลน้ำก็จะวิ่งเร็วขึ้นๆ จนหลุดกระเด็นออกมากลายเป็นก๊าซที่เราเรียกว่าไอน้ำ ถ้าเราเอาความร้อนออกเช่นเอาน้ำไปใส่ตู้แช่แข็ง โมเลกุลน้ำก็จะวิ่งช้าลงๆ จนจับมือเกี่ยวกันเป็นน้ำแข็ง หรือถ้าเราเอาไอน้ำร้อนๆมาพ่นใส่ช้อนเย็นๆ โมเลกุลของไอน้ำก็จะวิ่งช้าลงจนจับกันเป็นของเหลวที่เราเรียกว่าไอน้ำควบแน่นเป็นหยดน้ำนั่นเอง ผมเอา iPad App ที่เรียกว่า The Magic of Reality มาเล่นให้เด็กๆดูเพื่อเพิ่มความเข้าใจครับ เช่นถ้าเราใส่ความร้อนเข้าไป โมเลกุลของไอน้ำก็จะวิ่งเร็วขึ้นและอุณหภูมิก็จะสูงขึ้น ถ้าเราเอาความร้อนออก โมเลกุลก็วิ่งช้าลงและอุณหภูมิก็จะลดลง ถ้าเราออกแรงกดก๊าซ เราจะเห็นว่าโมเลกุลวิ่งเร็วขึ้นและเด็กๆก็ตอบได้ว่าก๊าซจะร้อนขึ้น (ทดลองจับกระบอกสูบลมยางจักรยานเวลาเราปั๊มลมดูก็ได้ครับ มันจะร้อนขึ้น):
ผมเคยแนะนำ The Magic of Reality ไปครั้งหนึ่งแล้วที่นี่นะครับ แนะนำมากๆเลยครับ ของเขาดีจริง
สำหรับเด็กป.4-6 ผมเอามอเตอร์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนหลายๆอย่างมาให้เขาดูแล้วให้แบ่งกลุ่มหาทางประกอบเป็นของเล่นดูครับ เด็กๆมีความคิดหลากหลาย แต่เวลาน้อยไปหน่อย เรามีเวลาแค่ชั่วโมงครึ่ง ถ้ามีอีกชั่วโมงน่าจะดี มีสองกลุ่มเท่านั้นที่ทำของเล่นเสร็จในเวลา ไว้คราวต่อไปผมจะจัดเวลาให้กิจกรรมดีกว่ากว่านี้ เชิญดูคลิปที่ของเล่นทำเสร็จครับ:
สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมก็ให้ดูเทอร์โมมิเตอร์วัดน้ำปกติและน้ำร้อน ให้เห็นเส้นแดงๆในเทอร์โมมิเตอร์ขยายตัวและหดตัวครับ เด็กๆเข้าใจเรื่องของร้อนๆจะขยายตัวและของเย็นๆจะหดตัว
จากนั้นผมให้เด็กๆทาแอลกอฮอลที่แขนแล้วเป่าดูครับว่ารู้สึกอย่างไร เด็กๆรู้สึกว่าเย็นมาก แล้วผมก็ถามเด็กๆว่ารู้ไหมว่ามันเย็นเพราะอะไร ผมใบ้โดยถามว่าตอนทาแอลกอฮอลเราเห็นแขนเราเปียกๆใช่ไหม แล้วเวลาเป่าแขนเราแห้งไป จึงถามว่าแอลกอฮอลหายไปไหน เด็กๆหลายคนตอบได้ว่าระเหยไป ของเหลวเปลี่ยนเป็นไอหายไป ผมจึงบอกว่าใช่แล้ว เวลาของเหลวระเหยเป็นไอ มันต้องการความร้อน มันจึงดูดความร้อนจากแขนเราไปใช้ ทำให้เรารู้สึกเย็น เด็กๆชอบเป่าแขนเย็นๆมากครับ เข้าแถวทาและเป่ากันหลายรอบ
ต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ