Tag Archives: วิทย์ม.ต้น

วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep. 2 ชีวิตและการวิวัฒนาการ

วันนี้เราคุยกันถึงคลิปวิดีโอ Cosmos Ep. 2: Some of the Things that Molecules Do ที่เด็กๆไปดูกันที่บ้านในสัปดาห์ที่แล้วครับ

คลิปกล่าวถึงขบวนการวิวัฒนาการ (evolution) การคัดเลือกพันธุ์โดยมนุษย์ (artificial selection/selective breeding) และการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติ (natural selection) โดยยกตัวอย่างการสร้างสุนัขพันธุ์ต่างๆจากหมาป่าโดยการคัดเลือกพันธุ์โดยมนุษย์ และการเกิดหมีขาวจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

การวิวัฒนาการและการคัดเลือกโดยธรรมชาติทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตแบบต่างๆนับพันล้านแบบบนโลกเราในเวลาประมาณ 4,000 ล้านปีที่ผ่านมา (แต่ส่วนใหญ่สูญพันธุ์ไปแล้วครับ เหลือสัก 1 ใน 1,000 แบบ รวมถึงพวกเราเป็นหนึ่งในพวกที่ยังเหลืออยู่)

ส่วนหนี่งของรายการที่แสดง 4 billion years in 40 seconds คือสเก็ตช์ว่าหน้าตาบรรพบุรุษเราตั้งแต่ 4 พันล้านปีเปลี่ยนไปอย่างไรจนกลายมาเป็นเผ่าพันธุ์เรา:

ขบวนการวิวัฒนาการจะเกิดได้ด้วยสี่ข้อนี้ครับ:

  1.  ลูกๆคล้ายๆพ่อแม่ (คือมีการสืบทอดพันธุกรรม)
  2.  ลูกๆไม่เหมือนกันหมดทุกตัว (คือมีความหลากหลายทางพันธุกรรม)
  3.  โอกาสรอดชีวิตและแพร่พันธุ์ของลูกแต่ละตัวไม่เท่ากัน ลูกที่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็จะเป็นพ่อแม่ในรุ่นต่อไป (คือมีการคัดเลือกพันธุ์)
  4.  วนข้อ 1-3 หลายๆรอบ เป็นร้อยเป็นพัน…เป็นล้านรอบ

อนึ่ง คำว่า พ่อ แม่ ลูก ด้านบน อาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เราคุ้นเคยก็ได้ครับ จริงๆอะไรที่สามารถจำลองตัวเองแบบมีความหลากหลายได้ก็ใช้ขบวนการวิวัฒนาการได้ เช่นไวรัส, โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไวรัส, หรือไอเดียต่างๆในหัวคน ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการเข้าใจธรรมชาติด้วยขบวนการวิทยาศาสตร์ก็เพราะไอเดียทางวิทยาศาสตร์มีการวิวัฒนาการและการคัดเลือกพันธุ์: ไอเดียไหนถูกต้องใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆได้ก็จะอยู่รอดและแตกลูกหลาน(ถูกพัฒนาเพิ่มเติม)ต่อไป ไอเดียไหนอธิบายไม่ได้ก็จะตายไป การวิวัฒนาการของไอเดียสืบมาทำให้ความเข้าใจของเราใกล้ความจริงขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป

สำหรับเด็กๆที่ต้องการทบทวน แนะนำให้เด็กๆเข้าไปดูส่วนที่ผมเคยเขียนเรื่องวิวัฒนาการที่นี่ที่นี่, และที่นี่ครับ

เราคุยกันว่าการวิวัฒนาการทำให้เกิดไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆด้วยครับ กดเข้าไปดูสายพันธุ์และไทม์ไลน์ได้ที่ https://nextstrain.org/ncov/global

ภาพสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
จาก https://nextstrain.org/ncov/global เข้าไปกดดูข้อมูล interactive ที่นั่นได้

สายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
จาก https://nextstrain.org/ncov/global เข้าไปกดดูข้อมูล interactive ที่นั่นได้

แนะนำวิดีโอว่าสุนัขคือหมาป่าที่มีสารพันธุกรรมกลายพันธุ์เหมือนเป็นอาการ Williams Syndrome ในมนุษย์ครับ:

เด็กๆสนใจการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หลายครั้งในอดีต แนะนำให้ดูที่ What are mass extinctions, and what causes them? มีไฟล์ infographic ให้ดูที่ https://www.nationalgeographic.org/media/mass-extinctions/ ครับ:

เด็กๆสนใจเรื่องการคัดเลือกพันธุ์พืชอาหาร แนะนำให้กดดูที่ 10 Foods That Have Been Genetically Modified Beyond Recognition, From Corgis to Corn: A Brief Look at the Long History of GMO Technology, Artificial Selection in Plants and Animals blog post, และ What’s so “natural” about “natural crop breeding”?

เด็กๆสนใจหมีน้ำหรือ Tardigrades แนะนำให้ดูคลิปและอ่านเรื่องยิงหมีน้ำเพื่อดูว่ามันแพร่ไปดาวอื่นๆโดยกระเด็นไปในอวกาศได้หรือไม่ครับ:

สุดท้ายผมแนะนำให้เด็กๆรู้จักเกมวิวัฒนาการที่เราออกแบบสัตว์ดิจิตอลที่ประกอบด้วยกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ สัตว์พวกนี้มีระบบประสาทควบคุมจังหวะการทำงานของกล้ามเนื้อทำให้มีความสามารถเคลื่อนที่ต่างๆกัน ใช้ขบวนการวิวัฒนาการคัดเลือกพันธุ์สัตว์ที่เคลื่อนที่ได้ดีกว่าตัวอื่น เข้าไปเล่นเกมและดาวน์โหลดได้ที่ https://keiwan.itch.io/evolution ครับ:

วิทย์ม.ต้น: เกริ่นถึงวิทยาศาสตร์

วันนี้คุยกับเด็กๆมัธยมต้นเรื่องวิทยาศาสตร์ เขียนสรุปไว้นิดนึงครับ

อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญของวิทยาศาสตร์คือ

1. วิทยาศาสตร์คือกระบวนการคิด ตรวจสอบ พยายามเข้าใจความจริงต่างๆรอบตัว

2. มนุษยชาติพัฒนาอย่างรวดเร็วเมื่อตระหนักว่าความรู้ความเชื่อต่างๆที่มีอาจจะผิด แล้วหาทางแก้ว่าทำอย่างไรจะรู้ความจริง จะใกล้ความจริงมากขึ้นอีก พบว่าการคิดแบบวิทยาศาสตร์ใช้ได้ผลดี

3. คิดแบบวิทยาศาสตร์คือ พยายามอธิบายสิ่งที่ไม่รู้ด้วยการเดา-หาทางตรวจสอบการเดาของเราด้วยการทดลองหรือการสังเกต-พยายามหาว่าการเดาของเราผิดได้อย่างไร-เปลี่ยนการเดาหรือคำอธิบายเมื่อมันถูกแย้งโดยการทดลองหรือการสังเกตที่มีคุณภาพ-ทำต่อไปเรื่อยๆสำหรับคำอธิบายที่ยังไม่ดีพอ

4. ความรู้ที่เราสะสมด้วยขบวนการทางวิทยาศาสตร์จะ _ผิด_ เสมอ แต่จะผิดน้อยลงเรื่อยๆเมื่อเรารู้ตัวว่าผิดตรงไหน แล้วหาทางเข้าใจให้ดีขึ้น

ยกตัวอย่าง astrology (โหราศาสตร์) และ astronomy (ดาราศาสตร์) ที่มีจุดเริ่มเดียวกันเมื่อหลายพันปีที่แล้ว เวลาผ่านไปถึงปัจจุบัน โหราศาสตร์ไม่ได้พัฒนาความถูกต้องขึ้นเลย แต่ดาราศาสตร์ทำให้เราส่งยานอวกาศ หรือตรวจสอบการชนกันของหลุมดำได้

วิทย์ม.ต้น: รู้จักและเล่น Van de Graaff Generator และ Stirling Engine

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1.รู้จักเครื่องสร้างไฟฟ้าสถิตแรงดันสูงที่เรียกว่า Van de Graaff generator ซึ่งผลิตไฟฟ้าสถิตด้วยการเสียดสีระหว่างสายพานและแกนหมุน แนะนำให้ดูลิงก์เหล่านี้ครับ:

Van de Graaff Generator: Hints, Demos, & Activities

2. รู้จัก Triboelectric series ที่ไว้ดูว่าเอาวัสดุอะไรมาถูกันแลัวจะมีไฟฟ้าสถิตมากๆ

3. รู้จักเครื่องจักรที่ทำงานด้วยความร้อน อาศัยอุณหภูมิที่ต่างกันทำให้อากาศขยายตัวและหดตัวสลับกันไป เปลี่ยนเป็นการหมุนได้ เรียกว่าเครื่องจักรสเตอร์ลิ่ง (Stirling engine)

มันเป็นอุปกรณ์ที่อาศัยหลักการที่ว่าก๊าซขยายตัวเมื่อร้อนและหดตัวเมื่อเย็น ถ้าทำให้ก๊าซขยายตัวและหดตัวเป็นจังหวะต่อเนื่องกันไป ก็สามารถเอามาทำให้ลูกสูบขยับและใช้งานได้ เครื่องจักรตระกูลนี้ถูกประดิษฐ์เมื่อประมาณปีค.ศ. 1816 โดย Robert Stirling ครับ

เครื่องจักรประเภทนี้จะต้องมีส่วนหนึ่งที่ร้อนกว่าอีกส่วนหนึ่งเพื่อให้ก๊าซได้รับความร้อนจากส่วนที่ร้อนแล้วขยายตัว แล้วไปคายความร้อนที่ส่วนที่เย็นกว่า แล้วก๊าซจะได้หดตัว แล้วก๊าซก็ต้องไปรับความร้อนจากส่วนที่ร้อนใหม่ เป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆครับ

ดูคลิปอธิบายการทำงานครับ:

เมื่อก่อนตอนยังไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้า เจ้าพวกนี้จะเป็นเครื่องจักรทำงานให้คนเช่นเป็นเครื่องสูบน้ำครับ ในปัจจุบันก็มีใช้อยู่เช่นในเรือดำน้ำบางชนิดเพื่อปั่นไฟเข้าแบตเตอรี่สำหรับขับเคลื่อน หรือบางที่ก็ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์มาป้อนเข้าเจ้าเครื่องนี้ ให้มันหมุนปั่นไฟให้

4. ลิงก์แนะนำครับ:

5. บรรยากาศกิจกรรมครับ:

กิจกรรมวิทย์ม.ต้น รู้จักและเล่น Van de Graaff generator และ Stirling engine

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, March 23, 2021