Category Archives: General Science Info

ยาอายุวัฒนะ

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องยาอายุวัฒนะ เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. ความรู้และเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นใน 100 ปีที่ผ่านมาสามารถรักษาโรคมากมายที่เคยฆ่าคนตั้งแต่อายุน้อยๆทำให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษยชาติเพิ่มขึ้นมาก แต่คนแก่มากที่สุดในโลกก็ยังตายตอนอายุประมาณ 120 ปีอยู่ดี นอกจากนั้นคนแก่ทุกคนจะอ่อนแอมากขึ้นเรื่อยๆก่อนจะตายด้วย
  2. มีความพยายามเพิ่มอายุขัยและปรับปรุงสุขภาพด้วยวิธีต่างๆมานับพันปีแต่ไม่ได้ผล แม้แต่คนที่รำ่รวยที่สุดหรือมีอำนาจมากที่สุดก็มักอยู่ไม่ถึง 100 ปี แต่ตอนนี้เราเริ่มจะมีหวังว่าเราจะรู้จักวิธียืดอายุและปรับปรุงสุขภาพด้วยความรู้ใหม่ๆที่เพิ่มขึ้นแล้ว
  3. การศึกษากระบวนการแก่ในสัตว์ต่างๆเริ่มนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นว่าความแก่คืออะไร และเราสามารถดัดแปลงให้แก่ช้าลงได้อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่นเรารู้มาประมาณ 70 ปีแล้วว่าสัตว์หลายๆชนิดที่กินอาหารน้อยกว่าปกติมีอายุยืนและสุขภาพดีกว่าสัตว์ตัวอื่นที่กินมากปกติ จึงมีการศึกษาในระดับเซลล์และขบวนการเคมีว่าการอดอาหารทำให้แก่ช้าอย่างไร
  4. ความรู้ที่สะสมมาหลายสิบปีโดยนักวิจัยนับพันคนทำให้เราเริ่มมีไอเดียยืดอายุและปรับปรุงสุขภาพโดยทดลองกับสัตว์ (และกำลังจะหรือกำลังทำการศึกษาในคน) หลายๆไอเดีย เช่น การทำลายเซลล์ซอมบี้ (senescent cell) ซึ่งก็คือเซลล์ที่หยุดแบ่งตัวหลังจากแบ่งแล้วหลายครั้ง, ให้วัตถุดิบในการสร้างโคเอนไซม์ NAD+ ที่มีส่วนสำคัญในการบำรุงรักษาการทำงานของเซลล์, และการฉีดสเต็มเซลล์ วิธีเหล่านี้ในสัตว์ทดลองดูเหมือนว่าจะได้ผล แต่สำหรับคนเราควรจะรออีกไม่กี่ปีเพื่อดูผลการศึกษาในคนว่ามีความเสี่ยงอะไรไหม ถ้ามีผลดีมากและความเสี่ยงน้อย เราก็จะมียาอายุวัฒนะที่ใช้ได้จริงๆเสียที
  5. ตอนนี้ไม่ควรเชื่อคนที่มาขายของหรือวิธีเหล่านี้ ควรรอผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือในคนก่อน ยกตัวอย่างเช่นการฉีดสเต็มเซลล์บางครั้งก็เพิ่มโอกาสเนื้องอกหรือมะเร็งได้
  6. สิ่งที่ทำตอนนี้และอาจจะมีผลดีต่ออายุและสุขภาพ (โดยดูจากผลในสัตว์ทดลอง) คือ 1. ลดโอกาสเสียหายของ DNA เช่นไม่ตากแดดมากเกินไป ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า, 2. ทานน้อยๆให้รู้จักหิวบ้างสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง อาจทานอาหารแค่ 1-2 มื้อ, 3. ไม่ทานโปรตีนมากเกินไป, 4. ออกกำลังกายให้เหนื่อยหอบสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง, 5. อยู่ในที่ที่ร้อนหรือหนาวเกินไปบ้าง เข้าใจว่าการทำเช่นนี้เป็นการกระตุ้นระบบซ่อมแซมเซลล์ให้ทำงานมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ควรทำอะไรสุดโต่งเกินไปจนบาดเจ็บ

ลิงก์น่าสนใจ:

ไฟฟ้าสถิตหน้าหนาว

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องไฟฟ้าสถิตหน้าหนาว เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. หน้าหนาวเรามักจะโดนไฟฟ้าสถิตช็อตเมื่อร่างกายไปแตะสิ่งต่างๆหรือแม้แต่คนอื่น สาเหตุสำคัญก็เพราะอาการหน้าหนาวมีอุณหภูมิต่ำและแห้งกว่าฤดูอื่นๆ (ดังนั้นในห้องแอร์เราก็โดนช็อตบ่อยเพราะอุณหภูมิต่ำและอากาศแห้งเหมือนกัน)
  2. ไฟฟ้าสถิตช็อตได้เพราะร่างกายเราสะสมประจุไฟฟ้าส่วนเกินจนมีความต่างศักย์เป็นหมื่นโวลท์เมื่อเทียบกับสิ่งต่างๆรอบๆตัว
  3. เราสะสมประจุไฟฟ้าส่วนเกินจากการเสียดสีกับสิ่งรอบตัว เมื่อเราเอาวัสดุที่สองชนิดมาแตะหรือถูกัน จะมีประจุไฟฟ้าถ่ายเทระหว่างวัตถุ (เรียกว่า Triboelectric effect) ดังนั้นเมื่อเราไปเสียดสีกับสิ่งแวดล้อม เราก็มีประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้
  4. วิธีลดโอกาสโดนไฟฟ้าสถิตช็อตก็สามารถแก้ที่สาเหตุทั้งสามข้างต้น
  5. (แก้ข้อ 1) ถ้าเราเพิ่มความชื้นในอากาศรอบๆตัวได้ เช่นเปิดให้อากาศข้างนอกมาผสมกับอากาศห้องแอร์บ้าง ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ (humidifier) หรือทาโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นที่ผิว ความชื้นที่เพิ่มขึ้นจะนำประจุไฟฟ้าออกไปจากร่างกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่สะสมจนความต่างศักย์สูงมากจนช็อต (แต่การผสมอากาศหรือเพิ่มความชื้นก็ทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้น เสียค่าไฟเพิ่มขึ้น)
  6. (แก้ข้อ 2) ถ้าเราหาทางให้ประจุไฟฟ้าไหลไปจากร่างกายเราแบบค่อยเป็นค่อยไปเราก็จะไม่สะสมประจุมากจนช็อต วิธีที่ทำได้ง่ายๆคือเอามือแตะผนังปูนสัก 5 วินาที (ผนังมีความชื้นอยู่บ้างและมีโครงเหล็ก สามารถนำไฟฟ้าลงไปที่ดินได้บ้าง) ก่อนจะก้าวลงจากรถให้ใช้มือจับตัวถังรถก่อนเพื่อให้ประจุที่เกิดจากการขยับตัวไปมาเสียดสีกับเบาะแบ่งไปที่ตัวถังรถด้วยจะได้ไม่มีความต่างศักย์สูงๆ หรือจับกุญแจโลหะไปแตะกับสิ่งอื่นๆและให้ไฟช็อตโลหะแทนมือเรา เราจะเห็นหลักการนี้ถ้าเราสังเกตุรถเข็นโลหะตามซูเปอร์มาเก็ตหลายแห่ง หรือตามรถบรรทุกน้ำมันจะมีโซ่โลหะห้อยลงมาใกล้ๆพื้น ประจุไฟฟ้าจะได้ถ่ายเทลงพื้นได้ง่ายๆลดโอกาสสะสมประจุ
  7. (แก้ข้อ 3) เลือกวัสดุแต่งตัวที่ไม่ถ่ายเทประจุมากกับสภาพแวดล้อม (ต้องดูตาราง Triboelectric series) เช่นใส่เสื้อผ้าฝ้ายจะลดโอกาสช็อตกว่าใส่เสื้อผ้าใยสังเคราะห์จากพลาสติก เวลาเดินไม่ควรเดินลากขาเพราะมีการเสียดสีมากกว่าเดินเป็นก้าวๆ เป็นต้น

ลิงก์น่าสนใจ:

ความรู้เบื้องต้นว่าไฟฟ้าสถิตและการช็อตมาได้อย่างไร:

ตารางวัสดุว่าอะไรถูกับอะไรแล้วมีไฟฟ้าสถิตมากน้อย (triboelectric series):

ลิงก์ที่ 1

ลิงก์ที่ 2

รายการรู้เท่ารู้ทันที่ ThaiPBS:

ความรู้เบื้องต้นเรื่องจีเอมโอ (GMO)

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่อง GMO เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. GMO ย่อมาจาก Genetically Modified Organism หรือสิ่งมีชีวิตที่ถูกมนุษย์ดัดแปลงพันธุกรรม
  2. จริงๆมนุษย์ดัดแปลงพันธุกรรมโดยการคัดเลือกพันธุ์พืชและสัตว์ต่างๆมาเป็นหมื่นปีแล้ว ทำโดยการเอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีลักษณะที่ต้องการมาแพร่พันธุ์ พืชอาหารและสัตว์เลี้ยงในยุคปัจจุบันถูกมนุษย์คัดเลือกพันธุ์ทั้งสิ้น
  3. เมื่อมนุษย์มีความรู้ว่าพันธุกรรมทำงานอย่างไรมากขึ้น ก็คิดใช้วิธีต่างๆดัดแปลงพันธุกรรมให้สิ่งมีชีวิตมีลักษณะที่ต้องการโดยตรง เช่นการฉายรังสีเอ็กซ์ให้กลายพันธุ์แล้วลองเพาะ, การเอาพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตต่างชนิดไปใส่ให้กับอีกชนิดหนึ่ง, การเปิดปิดการทำงานของพันธุกรรมบางส่วนในสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ดัดแปลงแบบนี้ (ที่ไม่ใช่การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์) เรียกว่า GMO
  4. มนุษย์สร้างและใช้ GMO มากว่า 50 ปี มีการดัดแปลงแบคทีเรีย/เห็ดรา/ยีสต์ให้สร้างอาหาร เครื่องดื่ม เอ็นไซม์ สารเคมีต่างๆ ยา เชื้อเพลิง ยาฆ่าแมลงและวัชพืชหลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงไวรัสให้ไปช่วยดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคพันธุกรรมบางชนิดด้วย
  5. พืช GMO ก็มีหลายชนิด ส่วนใหญ่ออกแบบให้ทนแมลงและยากำจัดศัตรูพืช ที่เรากินกันทุกวันก็เช่นถั่วเหลือง มะละกอ ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ
  6. มีความกังวลว่ากินพืช GMO แล้วจะมีผลเสียต่างๆ แต่การสังเกตเก็บข้อมูลที่ผ่านมา 30 ปี ไม่พบว่ามีผลเสียต่างจากพืชที่ไม่ใช่ GMO ควรไปกังวลเรื่องโทษที่เกิดจากการกินมากไปแล้วเกิดโรคจากความอ้วน (ไม่เกี่ยวกับ GMO หรือไม่ใช่ GMO) หรือสภาพแวดล้อมพวกบุหรี่ ฝุ่น ไอเสีย และแอลกอฮอล มากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อมี GMO ใหม่ๆก็ต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเสมอ
  7. สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นความแห้งแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม อาจทำให้พันธุ์พืชที่เราเพาะปลูกมีผลผลิตลดลง สมควรที่จะวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆมาแก้ปัญหาเหล่านี้ ดังเช่นหลายๆประเทศที่คิดค้นพืชทนแล้ง ทนน้ำ ทนน้ำเค็ม เทคนิคด้าน GMO น่าจะมีประโยชน์มากในเรื่องนี้
  8. ในอนาคต มนุษยชาติอาจต้องการ GMO หลายชนิดเพื่อแก้ปัญหาสำคัญต่างๆ เช่นดึงคาร์บอนไดออกไซด์ไปเก็บเพื่อแก้ปัญหาโรคร้อน ย่อยสลายขยะพลาสติก สังเคราะห์อาหารคุณภาพสูงปริมาณมากราคาถูก เพาะปลูกโดยไม่ทำลายพื้นที่ป่า รักษาโรคต่างๆ ฯลฯ

ลิงก์แนะนำ:

ดูแหล่งอ้างอิงใต้วิดีโอ