Tag Archives: วิทย์ม.ต้น

วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep. 11 เรื่องเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์เรา

วันนี้เด็กๆม.ต้นที่กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมได้ดูรายการ Cosmos: A Spacetime Odyssey ตอนที่ 11 กันครับ วันนี้ตอน The Immortals หรือสิ่งอมตะ กล่าวถึงการส่งผ่านข้อมูลทางการเขียน ข้อมูลในพันธุกรรมของเรา ไอเดียเกี่ยวกับการกำเนิดสิ่งมีชีวิต ไอเดียเกี่ยวกับการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตระหว่างดาวเคราะห์ และระหว่างระบบสุริยะ และความหวังที่ว่ามนุษยชาติจะสามารถใช้ปัญญาแก้ปัญหาต่างๆในอนาคตและแพร่กระจายไปตามดวงดาวต่างๆครับ

ประวัติการเริ่มต้นภาษาเขียนของมนุษย์ โดยชาวซูเมอร์ (Sumerian) มีซับอังกฤษนะครับ การเริ่มเขียนมีขึ้นมาเพื่อใช้บันทึกบัญชีต่างๆและค่อยๆพัฒนาจนสามารถใช้เขียนเรื่องราว บทกวี และไอเดียต่างๆครับ ถ้าเด็กๆอยากรู้เรื่องกวีคนแรกที่เรารู้ชื่อลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Enheduanna นะครับ  

ดูเรื่อง มหากาพย์กิลกาเมช (Epic of Gilgamesh) ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมเก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่เพราะเขียนไว้บนแผ่นดินเผาอายุกว่าสี่พันปีครับ เรื่องราวต่างๆในมหากาพย์นี้ถูกเอาไปเขียนไปเล่าอีกในอารยธรรมสมัยต่อๆมาเช่นเรื่องน้ำท่วมโลกและเรือโนอาห์ เรื่องฮีโร่เฮอร์คิวลีสผจญภัย ฯลฯ

เรื่องเกี่ยวกับ DNA ที่เหมือนหนังสือที่เขียนด้วยตัวหนังสือที่เป็นสารเคมี 4 แบบ (A, C, G, T) ตัวหนังสือสามตัวเป็นคำ แต่ละคำจะถูก RNA อ่านแล้วหากรดอมิโนมาต่อๆกันจนเป็นโปรตีน โปรตีนเหมือนหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรเล็กๆที่ทำงานนู่นนี่ในเซลล์ครับ

ความหวังว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลง DNA เพื่อปรับปรุงชีวิตมนุษย์ครับ:

ไอเดียว่าชีวิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไรครับ:

ไอเดียที่ว่าชีวิตสามารถกระจายระหว่างดาวเคราะห์โดยไปกับอุกกาบาตหรือดาวหาง:

TED talk ที่ชี้ให้เห็นว่าเผ่าพันธุ์เราสามารถใช้ปัญญาแก้ปัญหาเพื่อจะไม่ต้องสูญพันธุ์ครับ อันนี้เป็น TED talk ที่ผมชอบที่สุดอันหนึ่ง อยากให้ทุกคนได้ดู:

 

หนังสือล่าสุดของ David Deutsch ที่ผมชอบมากๆคือ The Beginning of Infinity ที่มองว่าวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์สามารถทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์พัฒนาต่อไปได้ไม่สิ้นสุด แนะนำให้หามาอ่านด้วยครับ

 

วิทย์ม.ต้น: รู้จักช่อง The Royal Institution (RI) บน YouTube, เรียนรู้เขียนโปรแกรม Scratch ให้คำนวณเลขให้เรา

วันนี้เด็กๆมัธยมต้นได้รู้จักกับช่อง YouTube ที่มีประโยชน์และน่าดูมากครับ ช่องนี้คือช่อง The Royal Institution ซึ่งเผยแพร่ความรู้ต่างๆที่น่าสนใจ

ตัวอย่างคลิปน่าสนใจครับ คลิปแรกคือความรู้เรื่องจรวด:

เรื่องการระเบิด:

เรื่องการเผาเพชร  C + O2 -> CO2:

นอกจากนี้เด็กๆก็ได้เรียนรู้เรื่องโปรแกรม Scratch เพิ่มเติม คือนอกจากโปรเจ็คที่เด็กแต่ละคนทำอยู่แล้ว วันนี้ผมตั้งโจทย์ให้โปรแกรมถามตัวเลขจากเราสองตัว แล้วไปคำนวณผลรวม ผลต่าง ผลคูณ และผลหารว่าจะทำอย่างไรครับ

เด็กๆก็ไปนั่งคิดและค้นหาคำสั่งที่น่าจะใช้ได้

หลังจากปล่อยให้คิดและทำกันเองสักพัก ผมก็แสดงวิธีทำแบบหนึ่งให้เด็กๆดูเป็นไอเดีย

เริ่มโดยดูคำสั่ง ask ที่จะถามผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้พิมพ์อะไรเข้าไป สิ่งที่พิมพ์เข้าไปจะไปอยู่ใน answer แล้วเราก็เอา answer ไปใช้ได้ ทำนองนี้ครับ:

เด็กๆรู้จักการใช้ join เพื่อเอาของต่างๆมาเรียงกันให้เป็นรูปแบบที่ต้องการ join (a, b) -> ab

join (a, join (b, c)) -> abc

join (a, join (b, join (c, d))) -> abcd

รู้จัก set ให้ตัวแปร (variable) มีค่าที่ต้องการ

หน้าตาโปรแกรมทั้งหมดก็จะเป็นประมาณนี้ครับ:

กดเข้าไปดูและเล่นได้ที่นี่นะครับ

พอเด็กๆเข้าใจกันดีแล้ว ผมก็บอกให้เด็กๆไปลองคิดทำเครื่องคิดเลขด้วย Scratch กันครับ

นอกจากนี้ผมก็ถามคำถามว่าถ้าเราฝากเงินไว้ 100 บาท ได้ผลตอบแทน 5%  (=5/100) ต่อปี ทิ้งไว้สิบปีเงินจะงอกเงยเป็นเท่าไรให้เด็กๆใช้ Scratch คิดครับ

คือวิธีทำก็ให้สังเกตว่าทุกปีที่ผ่านไป เงินเราจะงอกเงยเป็น (1+5/100) เท่าของเงินเมื่อต้นปี เราจึงสามารถคูณ 1.05 ทบไปเรื่อยๆทุกปี ถ้าเปลี่ยนเป็นภาษา Scratch ก็จะหน้าตาประมาณนี้ครับ

จะได้คำตอบว่าเมื่อผ่านไป 10 ปี เงิน 100 จะงอกเงยเป็นประมาณ  163 ครับ

ผมถามต่อว่าถ้าผลตอบแทนเป็น 20% (=20/100) แทนที่จะเป็น 5% ล่ะ เวลาผ่านไป 10 ปี เงิน 100 จะงอกเป็นเท่าไร

เราก็แค่เปลี่ยนโค้ดใน  Scratch นิดเดียว จาก 1.05 เป็น 1.20:

จะได้คำตอบว่าเมื่อผ่านไป 10 ปี เงิน 100 จะกลายเป็นประมาณ 620 ครับ โตเร็วกว่าที่เด็กๆเดาก่อนจะคำนวณไปมาก จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนต่อปีที่ดูเหมือนต่างกันไม่เท่าไรทำให้ผลลัพธ์ต่างกันได้มากมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเติบโตแบบ exponential ที่เราจะคุยกันต่อไปในอนาคตครับ

วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep. 9 ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับโลก

วันนี้เด็กๆม.ต้นที่กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมได้ดูรายการ Cosmos: A Spacetime Odyssey ตอนที่ 9 กันครับ วันนี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก

เด็กๆถ้าอยากรู้ว่าเราแบ่งยุคของโลกอย่างไร ลองไปดูที่ Geologic time scale ครับ เช่นยุคประมาณ 350 ล้านปีที่แล้วที่ยังไม่มีตัวอะไรย่อยสลายต้นไม้ทำให้สะสมกลายเป็นถ่านหินเรียกว่า Carboniferous ครับ ชื่อมันแปลว่า carbo- (ถ่านหิน) + fero- (รวบรวม/ขนมา) ในวิดีโอ Cosmos ยุคนี้คือยุคที่มีออกซิเจนเยอะๆและแมลงที่อาศัยการแพร่ของอากาศเข้าไปตามรูตามผิวร่างกายสามารถเติบโตมีขนาดใหญ่มากๆครับ

ถ้าไม่อยากอ่านข้างบน ดูคลิปนี้ก็ดีครับ มีซับอังกฤษครับ:

แนะนำช่อง PBS Eons ครับ:

ลิงก์นี้ (Geologic time scale ที่ UC Berkeley) กดดูแต่ละยุคได้ง่ายและอ่านง่ายกว่าใน Wikipedia ครับ  เด็กๆจะเห็นตัวย่อ mya ซึ่งย่อมาจาก million years ago (ล้านปีที่แล้ว) นะครับ

อยากให้เด็กๆเข้าไปอ่าน Life Timeline ด้วยนะครับ จะได้รู้เกี่ยวกับว่าสิ่งมีชีวิตพวกไหนเกิดขี้นประมาณไหนในประวัติศาสตร์โลก

Timeline สิ่งมีชีวิตครับ https://en.wikipedia.org/wiki/Timeline_of_the_evolutionary_history_of_life
Timeline สิ่งมีชีวิตครับ
https://en.wikipedia.org/wiki/Timeline_of_the_evolutionary_history_of_life

ถ้าอยากรู้เรื่องการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทั้งหลายที่ผ่านมา เข้าไปดูหน้านี้ครับ: Extinction event การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดก็คือเมื่อประมาณ 65-66 ล้านปีที่แล้วที่ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ตายไปทำให้บรรพบุรุษเราที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีโอกาสแพร่พันธุ์หากินได้ทั่วไปมากขึ้น

การสูญพันธุ์ใหญ่ๆที่ผ่านมา 5 ครั้งครับ:

ในช่อง PBS Eons มีหลายวิดีโอที่อยากให้เด็กๆได้ดูครับ เช่นเรื่องการเคลื่อนที่ของทวีปต่างๆ ถ้าฟังไม่ทันกดดูซับนะครับ:

เรื่องไมโตคอนเดรียและคลอโรพลาสท์ที่เมื่อก่อนน่าจะเป็นแบคทีเรียอิสระ แต่มารวมตัวกับเซลล์อื่นกลายเป็นเซลล์สมัยนี้:

และเรื่องไทรโลไบท์ครับ:

ช่องนี้มีวิดีโออีกมากมายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิตบนโลกครับ ถ้าสนใจกดดูไปเรื่อยๆนะครับ

อันนี้เรื่อง James Cameron ลงไปในน้ำลึกกว่า 10 กิโลเมตรที่เราคุยกันในห้องเรียน: