Category Archives: มัธยม

Action Bias, หัดใช้คาลิเปอร์, รู้จัก Mean & Standard Deviation

วันนี้เด็กๆเรียนเรื่อง action bias จากหนังสือ The Art of Thinking Clearly โดยคุณ Rolf Dobelli ให้ระวังว่าบางทีเราจะอยู่เฉยๆไม่เป็น อยากจะทำอะไรซักอย่าง เพราะการทำอะไรบางอย่างทำให้รู้สึกดีขึ้น ทั้งๆที่ด้วยเหตุผลแล้วถ้าอยู่เฉยๆจะมีประโยชน์กว่า

จากนั้นเด็กๆก็หัดใช้คาลิเปอร์วัดขนาดเหรียญบาทกันครับ

เด็กๆเห็นว่าการวัดขนาดเหรียญหลายเหรียญ ด้วยเครื่องมือหลายอัน และคนหลายคนได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกันแต่ไม่เหมือนกันเป๊ะ เราจึงรายงานผลการวัดของเราในรูป ค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตราฐาน หรือ mean ± standard deviation ครับ

เด็กๆได้เห็นวิธีคำนวณค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานประมาณนี้:

ได้เห็นตัวอย่างโค้ดไพธอนที่คำนวณ:

ดูเหมือนว่าเด็กๆจะตื่นเต้นกับตัวอักษรกรีกด้วย

และมีการบ้านไปอ่านเรื่องเลขนัยสำคัญที่นี่และที่นี่ครับ

อัลบั้มบรรยากาศชั้นเรียนอยู่ที่นี่ครับ

วิทย์ม.ต้น: เขียนโปรแกรมไพธอนแก้ปัญหาแบบควายถึก, โปรแกรมเข้ารหัส Caesar Cipher, และเว็บฝึกเขียนไพธอน

ผมเอาโจทย์เลขนี้มาให้เด็กๆดูครับ:

โจทย์คือ a, b, c, d เป็นจำนวนเต็มบวก ผลรวมของ a, b, c, d เท่ากับ 63 ให้หาค่าที่มากที่สุดของ ab + bc + cd ในวิดีโอแสดงวิธีทำด้วยรูปภาพ แต่สมมุติว่าเด็กๆไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแต่มีคอมพิวเตอร์อยู่ก็สามารถเขียนโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ไล่ตัวเลข a, b, c, d ดูได้

ผมบอกเด็กๆว่าเดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์เร็วมาก ถ้ามีของสักพันล้านชิ้นก็ยังให้มันไล่ดูให้เราได้โดยรอไม่นานนัก ในโจทย์นี้ค่าที่เป็นไปได้ของ a, b, c จะประมาณ 60 แบบของแต่ละตัว และค่าของ d จะเท่ากับ 63-(a+b+c) ดังนั้นค่าที่เป็นไปได้ทั้งหมดจะประมาณ 60x60x60 หรือประมาณ 200,000 เท่านั้น คอมพิวเตอร์ไล่ให้ได้ในเวลาไม่ถึงวินาที

หน้าตาโปรแกรมก็เป็นประมาณนี้ครับ:

วิธีให้คอมพิวเตอร์ช่วยคิดนี้ทำให้เราสามารถถามคำถามมากขึ้นไปอีกได้เช่นสำหรับค่า ab + bc + cd แต่ละค่าจะมีชุด (a, b, c, d) กี่แบบ เอามาวาดฮิสโตแกรมดูดีไหม มีค่าไหนที่เป็นไปไม่ได้บ้าง ฯลฯ

สำหรับการบ้านที่ผมให้เด็กๆม.2-3 ไปพยายามเขียนฟังก์ชั่นเข้ารหัสแบบเลื่อนตัวอักษร (Caesar Cipher) ผมก็มาเขียนเฉลยให้เด็กๆดูสดๆว่าผมเขียนอย่างไร เจอปัญหาและบั๊กอย่างไร เขียนไปตรวจสอบไปอย่างไรครับ หน้าตาจอตอนเขียนก็เป็นประมาณนี้:

โหลด Jupyter Notebook ที่บันทึกการเฉลยที่นี่ครับ หรือเปิดดูในเบราเซอร์ได้ที่นี่ครับ: https://nbviewer.jupyter.org/urls/witpoko.com/wp-content/uploads/2019/06/2019-06-07_G8-9.ipynb

สำหรับเด็กๆม.1 ผมให้ทำแบบฝึกหัดกับเว็บเรียนไพธอนสองเว็บครับ ให้เขาทดลองทำแล้วเลือกดูว่าชอบอันไหนระหว่าง https://www.w3schools.com/python/ และ https://www.learnpython.org ขณะที่ทำแล้วมีปัญหาผมก็เข้าไปแนะนำ มีกระดาษทดตอนแนะนำเป็น Jupyter Notebook ให้โหลดไปดูได้ที่นี่ หรือเปิดดูในเบราเซอร์ได้ที่นี่ครับ: https://nbviewer.jupyter.org/urls/witpoko.com/wp-content/uploads/2019/06/2019-06-07_G7.ipynb

ผมไปพบลิงก์สำหรับเรียนรู้ภาษาไพธอนถ้าอ่านภาษาอังกฤษไม่คล่องด้วยครับ เข้าไปดูได้ที่ https://phyblas.hinaboshi.com/saraban/python (แต่อย่างไรก็ตามผมแนะนำให้หัดอ่านภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆนะครับ จะได้เก่งภาษาขึ้นเรื่อยๆ)

วิทย์ม.ต้น: Framing Effect, ทดลองวัดความยาวต่างๆกัน

วันนี้เด็กๆเรียนเรื่อง framing effect จากหนังสือ The Art of Thinking Clearly โดยคุณ Rolf Dobelli ให้ระวังว่าเรามักจะถูกชักจูงให้ตัดสินใจด้วยวิธีที่ข้อมูลถูกนำเสนอให้เรา คือแม้ว่าข้อมูลจะเหมือนกัน แต่ถ้าถูกนำเสนอด้วยวิธีต่างกัน เราก็อาจจะรู้สึกต่างกัน และตัดสินใจตามความรู้สึกได้

ผมยกตัวอย่างจอวิเศษที่แอปเปิ้ลพึ่งประกาศ (Pro Display XDR) ที่ประกาศว่าราคา $5,000 แต่ถ้าต้องการขาตั้งด้วยต้องจ่ายเพิ่ม $1,000 เทียบกับว่าถ้าประกาศว่าราคา $6,000 แต่ถ้าไม่เอาขาตั้งจะลดราคาไป $1,000 คนส่วนใหญ่จะพบว่าแบบที่สองฟังดูดีกว่ามากทั้งๆที่มูลค่าทางการเงินต่างๆเหมือนกันเปี๊ยบเลย

จากนั้นเด็กๆก็หัดวัดความยาวต่างๆเช่นขนาดกว้างxยาวของกระดาษ A4, ความยาวของท่อพลาสติกโค้งๆงอๆ, ความยาวระหว่างปลายนิ้วโป้งถึงปลายนิ้วชี้และถึงปลายนิ้วกลางเมื่อยึดเต็มที่, ส่วนสูง, ระยะระหว่างปลายนิ้วกลางทั้งสองข้างเมื่อเหยียดให้กว้างที่สุด, และความยาวระยะก้าวเดิน

การวัดขนาดกระดาษ A4 และท่อพลาสติกโค้งๆงอๆเป็นแบบฝึกหัดให้เด็กๆเห็นว่าตัวเลขที่เราวัดมีความไม่แน่นอนเสมอ ขึ้นกับวิธีวัดและความระมัดระวัง และเราสามารถเอาข้อมูลการวัดหลายๆอันมาหาค่าเฉลี่ยให้ได้คำตอบที่ใกล้ความจริงมากขึ้น ในอนาคตเราจะคุยกันเรื่องค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนกันครับ

การวัดขนาดต่างๆในร่างกายและก้าวเดินมีไว้เผื่อใช้เทียบวัดระยะต่างๆเมื่อเราไม่มีเครื่องมือวัดดีๆครับ เช่นเราสามารถเดินนับก้าวแล้วประมาณระยะทางทั้งหมดที่เราเดินได้ หรือใช้แขนหรือมือของเราวัดระยะสั้นๆได้ ในอนาคตเราจะพูดคุยกันเรื่องตรีโกณมิติอีกที

อัลบั้มบรรยากาศชั้นเรียนอยู่ที่นี่ครับ