Tag Archives: เสียง

เสียง & การสั่นสะเทือน เข้าใจกฎนิวตันด้วย skateboard ทำของเล่นลูกดอกหลอดกาแฟ

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “คุยกันเรื่องเสียงต่อ การชนและ Crash Test ทำปี่จากหลอดกาแฟ” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เด็กอนุบาลได้ประดิษฐ์และเล่นลูกดอกหลอดกาแฟ เด็กประถมต้นได้ดูวิดีโอปลาหมึกยักษ์ประหลาด และได้เรียนเรื่องเสียงและการสั่นสะเทือนต่อ ได้ดูการสั่นของ Chladni’s Plate ดูคลื่นนิ่งบนลำโพง ดูการสั่นของเส้นเสียงในกล่องเสียงในลำคอ สังเกตเสียงสูงเสียงต่ำจากสายกีต้าร์และขิม และทำปี่หลอดกาแฟและนกหวีดจากถุงพลาสติกและกระดาษ เด็กประถมปลายได้ดูวิดีโอโดมิโนขนาดจิ๋วสามารถทำให้อันใหญ่ยักษ์หนัก 40 กิโลกรัมล้มได้ด้วยพลังงานศักย์โน้มถ่วงที่เก็บไว้ และได้พยายามเข้าใจกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันด้วยอุปกรณ์จำพวก skateboard และล้อเลื่อน

สำหรับเด็กอนุบาลผมสอนให้ประดิษฐ์ของเล่นจากหลอดกาแฟเรียกว่าลูกดอกหลอดกาแฟครับ ผมเอาหลอดกาแฟมาขว้างให้เด็กๆดู หลอดก็ลอยไปไม่ได้ไกล และไม่มีทิศทางแน่นอนเพราะวิ่งไปแล้วก็ตะแคงข้างต้านลม ผมเลยถามเด็กๆว่ารู้ไหมว่าเราทำอย่างไรให้ขว้างหลอดกาแฟไปได้ไกลๆ พอเด็กงงได้ที่ผมก็เฉลยวิธีทำ คือตัดปลายหลอดข้างหนึ่งให้เป็นแฉกๆสักสี่แฉก แล้วตัดกระดาษขนาดประมาณ 1″ x 2-3″ มาพันปลายอีกข้างแล้วเอาเทปกาวติด แค่นี้เราก็ขว้างหลอดได้ตรงและไกลแล้ว

ส่วนหัวเอากระดาษพันแล้วเอาเทปกาวติด
หางตัดเป็นแฉก
เสร็จแล้วครับ

จากนั้นเด็กๆก็แยกย้ายกันไปประดิษฐ์ ซึ่งผมและคุณครูต้องช่วยติดกระดาษและเทปกาวส่วนหัวเพราะเด็กๆยังบังคับกล้ามเนื้อมือเล็กๆไม่ค่อยสะดวก

 
 
 

จากนั้นเด็กๆก็ทดลองขว้างไกลๆและขว้างใส่เก้าอี้ที่เป็นเป้ากันครับ ผมย้ำบอกเด็กๆว่าไม่ขว้างใส่กันเพราะมันอาจโดนตาเจ็บได้แม้ว่ามันจะมีน้ำหนักเบาก็ตาม Continue reading เสียง & การสั่นสะเทือน เข้าใจกฎนิวตันด้วย skateboard ทำของเล่นลูกดอกหลอดกาแฟ

คุยกันเรื่องเสียงต่อ การชนและ Crash Test ทำปี่จากหลอดกาแฟ

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “ฟังเสียงสูงๆ ฟังเสียงด้วยหูหนึ่งและสองข้าง ทดลองและออกแบบปืนแม่เหล็ก และกลในร่างกาย” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เด็กอนุบาลได้ทำปี่จากหลอดกาแฟ ได้รู้วิธีใช้ถุงพลาสติกเป็นนกหวีด และนั่ง skateboard กัน เด็กประถมต้นได้คุยกันเรื่องหูและเสียงต่อ ได้รู้จักช่วงความถี่ของเสียงที่สัตว์ต่างๆฟังได้ ได้ดูเครื่องทำความสะอาดด้วยเสียงความถี่สูง (Ultrasonic cleaner) ส่วนเด็กประถมปลายได้คุยกันเรื่องการชนแบบยืดหยุ่นและไม่ยืดหยุ่น ได้ดูวิดีโอการทดสอบการชนของรถ ได้รู้จักกระจกนิรภัยที่แตกเป็นชิ้นเล็กๆที่ไม่ค่อยคม และของเล่นที่เรียกว่า Prince Rupert’s Drop ที่เกิดจากหยดแก้วเหลวร้อนๆทำให้เย็นอย่างรวดเร็วในน้ำ ทำให้เนื้อแก้วมีความแข็งแรงแต่จะระเบิดเป็นผงถ้ามีรอยแตกนิดเดียว

สำหรับเด็กๆอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมสอนให้ทำของเล่นปี่หลอดกาแฟครับ วิธีทำก็คือเอาหลอดกาแฟมากดๆให้ปลายข้างหนึ่งแบนๆ แล้วตัดปลายข้างนั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม  แล้วเอาปากเม้มปลายนั้นเข้าปาก แล้วเป่าเป็นเสียงแตร ถ้าหลอดอ่อนๆหน่อย (เช่นพวกหลอดตรง ราคาถูกๆ) ก็จะเป่าให้ดังได้ง่าย ถ้าหลอดแข็ง (เช่นพวกหลอดงอได้ ราคาแพงกว่า) ก็จะเป่าให้ดังยากกว่า เวลาที่เราเป่าส่วนที่เป็นสามเหลี่ยมที่อยู่ในปากเราจะสั่นไปมาทำให้เกิดเสียง ถ้าเราตัดหลอดให้มีความยาวต่างๆกัน เสียงที่ได้ก็จะสูงต่ำต่างกันด้วย ดูวิดีโอวิธีทำได้ครับ:

พอเด็กๆได้เห็นวิธีทำก็มารับหลอดไปคนละหลอดแล้วแยกย้ายกันไปทำเองครับ เป่ากันอย่างสนุกสนานและหนวกหูดีมาก ขณะที่เด็กๆทำปี่ของตัวเองผมก็หยิบถุงพลาสติกมาดึงให้ตึงๆแล้วเป่าตรงขอบพลาสติกบางๆนั้นเป็นเสียงเหมือนนกหวีดครับ เราสามารถใช้อะไรบางๆก็ได้เช่นกระดาษ ใบไม้ ถุงพลาสติก เอามาดึงให้ตึงๆแล้วเป่าที่ขอบ มันจะสั่นเป็นเสียงสูงๆ ต้องลองเล่นดูครับ ลองเป่าวัสดุหลายๆอย่างดู Continue reading คุยกันเรื่องเสียงต่อ การชนและ Crash Test ทำปี่จากหลอดกาแฟ

ใครๆก็ชอบอุกกาบาต วัดปริมาตรมือ และเล่นกับเสียง

 

“ธรรมชาติส่งอุกกาบาตมาเพื่อถามเราว่าโครงการอวกาศไปถึงไหนแล้ว” –นีล ดีกราสส์ ไทสัน

(“Asteroids are nature’s way of asking: ‘How’s that space program coming along?’ ” –Neil deGrasse Tyson)

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “คุยกับเด็กๆเรื่องแรงลอยตัว (ต่อ)” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้คุยกันเรื่องอุกกาบาตที่รัสเซีย คุยต่อเรื่องแรงลอยตัว และวัดปริมาตรมือสำหรับเด็กประถม และไปดูการสั่นของอากาศทำให้เกิดเสียงและทำปี่จากหลอดกาแฟสำหรับเด็กอนุบาลครับ

ก่อนที่เราจะเริ่มเรียนอะไรกัน ผมให้เด็กๆดูภาพนี้ครับ:

 
ผมให้เด็กๆทายว่าภาพคืออะไร โดยใบ้ว่าใหญ่กว่าโลกมากกว่า 100 เท่า เด็กๆหลายๆคนทายถูกว่าเป็นภาพดวงอาทิตย์ ภาพนี้ถ่ายโดยคุณ Alan Friedman เป็นภาพของดวงอาทิตย์ โดยกรองเฉพาะแสงที่สั่นด้วยความถี่เฉพาะค่าที่เรียกว่าไฮโดรเจน-อัลฟา (H-alpha ซึ่งเป็นสีแดงมืดๆ) ผมอยากให้เด็กๆได้เห็นความสวยงามของดาวฤกษ์ของพวกเรา เราเห็นผิวที่ไหลเวียนสวยงาม เห็นจุดดับสีดำๆสามอัน (อันเล็กๆสีดำๆนั้นใหญ่กว่าโลกเราอีก) และเห็นแก๊สที่กระเด็นออกมาจากผิว แก๊ซเหล่านั้นร้อนมากมันจึงมีสถานะเป็นพลาสมา มีประจุแยกกันและสามารถวิ่งและเลี้ยวตามสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ได้

จากนั้นผมก็ให้เด็กๆดูวิดีโออุกกาบาตเหนือเมือง Chelyabinsk ในรัสเซียเมื่อวันที่ 15 กุมภา โดยเข้าไปดูในหน้าที่รวบวิดีโอไว้หลายๆอันโดยคุณ Phil Plait ตัวอย่างวิดีโอเช่นอันนี้ ถ่ายโดยกล้องติดหน้ารถ จะเห็นอุกกาบาตเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ :

เมื่ออุกกาบาตวิ่งผ่านอากาศด้วยความเร็วสูงมากๆ (ลูกนี้วิ่งประมาณ 18 กิโลเมตรต่อวินาที หรือกว่า 50 เท่าความเร็วเสียง หรือเร็วกว่ากระสุนปืนสั้น 50 เท่า เร็วกว่ากระสุนปืนไรเฟิลยาว 17 เท่า) อากาศด้านหน้าจะถูกอัดจนความดันสูงมากเกิดความร้อนหลายพันองศาเซลเซียส อากาศร้อนเปล่งแสงจ้าเหมือนดวงอาทิตย์ (ผิวของดวงอาทิตย์ร้อนประมาณ 5,500 องศาเซลเซียส) อากาศข้างๆก็ถูกผลักออกจนเกิดเป็นคลื่นช็อค (shock wave) รูปกรวย เมื่อกรวยของคลื่นช็อคลากผ่านพื้นดิน คนที่อยู่บนพื้นก็จะได้ยินเสียงดังมากเหมือนระเบิด แรงสั่นสะเทือนจากคลื่นทำให้กระจกแตกทำคนบาดเจ็บมากมาย Continue reading ใครๆก็ชอบอุกกาบาต วัดปริมาตรมือ และเล่นกับเสียง