Tag Archives: ตา

คุยกันต่อเรื่องตา แบบจำลองตา การสะท้อนและหักเหของแสง

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “เริ่มเรียนเรื่องตา การทดลองลูกบอลตก และหลอดกระดาษจอมพลัง” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมและกลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น  วันนี้เด็กประถมต้นได้ส่งการบ้านวาดรูปส่วนประกอบตา ดูวิดีโอจำลองการมองเห็นของสัตว์ต่างๆ (เหยี่ยว แมว หมา ผึ้ง หนู) ได้เห็นว่าภาพเกิดที่จอรับภาพด้านในหลังตาเกิดอย่างไร (เป็นภาพกลับหัว) โดยดูจากอุปกรณ์จำลองทำจากโคมกระดาษ แว่นขยาย และถุงก๊อบแก๊บ ได้เห็นภาพสิ่งประดิษฐ์ประมาณแปดสิบปีมาแล้วเพื่อช่วยฟังหาเครื่องบิน ส่วนเด็กประถมปลายได้ดูการสะท้อนแสงเลเซอร์ และได้เข้าใจว่ามุมการสะท้อนแสงมีความสัมพันธ์อย่างไร (มุมตก = มุมสะท้อน) ได้รู้จักจานสะท้อนแบบพาราโบลิค ได้รู้จักดาวเทียมแบบที่โคจรไปพร้อมๆกับโลกหมุน (Geosynchronous orbit) ได้เห็นการหักเหของแสงผ่านปริซึม และเมื่อแสงผ่านอากาศไปแก้วไปน้ำ ได้เห็นว่าแสงสีต่างๆกันหักเหไม่เท่ากัน ทำให้เราเห็นสีรุ้งได้ เด็กๆทั้งสองระดับชั้นได้ดูคลิปการยกและเคลื่อนย้ายสิ่งของเล็กๆด้วยคลื่นเสียงด้วยครับ

สำหรับเด็กประถมต้น ก่อนอื่นเด็กๆส่งการบ้านที่ให้ไปวาดรูปส่วนประกอบต่างๆของตาครับ เด็กๆไปหาดูรูปในอินเตอร์เน็ตและวาดตามได้ จากนั้นผมก็นอกเรื่องให้เด็กๆดูคลิปวิดีโอนี้แล้วให้เด็กๆเดาว่าคืออะไรครับ:

เด็กๆดูสองรอบแล้วก็เริ่มเดาได้ครับว่าเป็นการใช้คลื่นเสียงยกและขยับสิ่ง ของเล็กๆไปมา ผมอธิบายเพิ่มว่านักประดิษฐ์เขาส่งคลื่นเสียงจากหลายๆลำโพงเข้าจนเกิดเป็นคลื่นนิ่ง (Standing Wave) ส่วนตรงกลางที่วัตถุลอยอยู่จะเป็นส่วนที่อากาศสั่นน้อยหรือไม่สั่นขณะที่ รอบๆมีการสั่นของอากาศเยอะ ทำให้วัตถุลอยอยู่ในบริเวณที่อากาศไม่ค่อยสั่น

ต่อจากนั้นเด็กๆก็ได้ดูวิดีโออีกอัน โดยผมเริ่มให้ดูตอนเวลา 1:24 นาทีจนจบก่อน แล้วให้เด็กๆเดาว่าคืออะไร:

มีเด็กบางคนเดาว่าน่าจะเป็นรังมดซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตกลงมันคือวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ไปสำรวจรังมด (ที่เขาบอกว่าเป็นรังร้าง) โดยเทปูนซีเมนต์เหลวๆลงไปหลายตัน รอให้ปูนแข็งตัว แล้วขุดดูว่ารังมดมีลักษณะอย่างไร รังนี้อลังการมากครับ Continue reading คุยกันต่อเรื่องตา แบบจำลองตา การสะท้อนและหักเหของแสง

เริ่มเรียนเรื่องตา การทดลองลูกบอลตก และหลอดกระดาษจอมพลัง

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “เรียนเรื่องเสียงต่อ ใช้โปรแกรม Tracker เล่นบูมเมอแรงกระดาษ” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมเอากระดาษ A4 มาม้วนเป็นทรงกระบอกแล้วใช้เป็นขาตั้งรับน้ำหนักมากๆเช่นโต๊ะไม้ทั้งตัวครับ สำหรับเด็กประถมต้น เราเริ่มเรียนเรื่องตากัน โดยสังเกตตาของตัวเองและเพื่อนๆ นับขนตา (ได้ข้างละร้อย-ร้อยกว่าเส้นต่อหนึ่งตา รวมขนตาบนและขนตาล่าง) ได้ดูรูรับแสง (pupil) ที่เป็นรูกลมให้แสงเข้าไปในตาได้ รวมถึงอธิบายว่าทำไมถ่ายภาพมีแฟลชในที่แสงน้อยๆตาเราจึงแดงและผู้ผลิตกล้องทำอย่างไรถึงลดตาแดงได้ สำหรับเด็กประถมปลายเราถ่ายภาพการตกของลูกบาสและลูกเทนนิสแล้วมาเปิดดูทีละเฟรมด้วยโปรแกรม Tracker กัน ได้เรียนรู้ว่าถ้าไม่มีแรงต้านอากาศ ของต่างๆจะตกลงมาเหมือนๆกันโดยดูวิดีโอลูกบอลเหล็กและขนนกในโหลแก้วที่สูบอากาศออก และได้ฟังคำอธิบายจากกฎแรงโน้มถ่วงและกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้เด็กๆประถมปลายยังได้ดูตัวอย่างการเริ่มต้นธุรกิจบน Kickstarter.com โดยเราดูปืนกลหนังยางและปากกาแม่เหล็กกันครับ

สำหรับเด็กอนุบาล ผมเอากระดาษ A4 มาม้วนเป็นท่อทรงกระบอกให้แน่นๆ แล้วเอาเทปกาวติดสามแห่งที่ปลายทั้งสองข้างและตรงกลางไม่ให้กระดาษคลายตัว จากนั้นผมก็เอากระดานแข็งพาดไว้ให้หลอดกระดาษสามหลอดเป็นขาตั้ง แล้วเอาของหนักๆไปวางให้เด็กๆลุ้นกันว่าจะวางไว้ได้ไหมกันครับ

เราสามารถวางกล่องสีหนักๆรวมกับเบาะนั่งหลายอันได้ สามารถเอาโต๊ะไม้หนักๆที่เด็กๆใช้วาดรูปมาวางก็ได้ แต่เมื่อจะเอาโต๊ะไม้สองตัววางขาตั้งกระดาษก็ล้มลงครับ ปกติกระดาษ A4 หนึ่งแผ่นที่ม้วนเป็นทรงกระบอกแน่นๆจะรับน้ำหนักกดในแนวตั้งได้อย่างน้อย 5 กิโลกรัมครับ สามกระบอกก็รับได้ 15 กิโลกรัมถ้าเราวางน้ำหนักดีๆไม่ให้เอียงแล้วล้มพับไปทางใดทางหนึ่ง

วางสี
วางสี+เบาะนั่ง
พยายามวางโต๊ะ
สำเร็จ!

 ผมเคยถ่ายทำวิดีโอการเล่นแบบนี้ไว้เมื่อหลายปีมาแล้วครับ: Continue reading เริ่มเรียนเรื่องตา การทดลองลูกบอลตก และหลอดกระดาษจอมพลัง

คุยกับเด็กๆเรื่องตา ภาพลวงตา เซลล์ร็อดและเซลล์โคน

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “ใครๆก็ชอบอุกกาบาต วัดปริมาตรมือ และเล่นกับเสียง” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เราคุยกันเรื่องตา เซลล์รับแสง (เซลล์ร็อดและเซลล์โคน) และภาพลวงตาครับ

เราเริ่มกันด้วยการดูภาพลูกตาและส่วนประกอบต่างๆ โดยเนื้อหาตอนเริ่มต้นจะคล้ายๆกับที่พูดไปปีที่แล้ว จึงขอยกที่บันทึกปีที่แล้วมาที่นี่นะครับ วันนี้ที่ทดลองเพิ่มเติมก็คือการทำให้เซลล์รับแสงในตาล้าให้เราเห็นภาพลวงตาดังที่จะกล่าวต่อไปครับ

ก่อนอื่นผมก็คุยเรื่องตาของเราก่อนครับ เรามองเห็นได้โดยแสงวิ่งไปกระทบกับจอรับแสง (เรตินา, Retina) ที่ด้านหลังข้างในลูกตา แต่บังเอิญตาของคนเราวิวัฒนาการมาโดยมีเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่บนผิวของจอรับแสง เมื่อจะส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทไปยังสมอง เส้นประสาทจะต้องร้อยผ่านรูอันหนึ่งที่อยู่บนจอรับแสง รอบบริเวณรูนั้นจะไม่มีเซลล์รับแสง ดังนั้นถ้าแสงจากภายนอกลูกตาไปตกลงบนบริเวณนั้นพอดี ตาจะไม่สามารถเห็นแสงเหล่านั้นได้ บริเวณรูนั้นจึงเรียกว่าจุดบอด หรือ Blind Spot นั่นเอง

จุดบอดหรือ Blind spot อยู่ตรงที่เส้นประสาทรวมกันเป็นเส้นลากจากภายในลูกตาออกมาด้านหลัง ไปยังสมองในที่สุด
(ภาพจาก http://transitionfour.wordpress.com/tag/blind-spot/)
ตาของปลาหมึกทั้งหลายจะไม่มีจุดบอดแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเราครับ เนื่องจากเส้นประสาทของปลาหมึกอยู่หลังจอรับแสง จึงไม่ต้องมีการร้อยผ่านรูในจอรับแสงแบบตาพวกเรา
วิธีดูว่าเรามีจุดบอดก็ทำได้ง่ายมากครับ แค่เขียนตัวหนังสือตัวเล็กๆบนแผ่นกระดาษสองตัว ให้อยู่ในแนวบรรทัดเดียวกันแต่ห่างกันสักหนึ่งฝ่ามือ จากนั้นถ้าเราจะหาจุดบอดในตาขวา เราก็หลับตาซ้าย แล้วใช้ตาขวามองตัวหนังสือตัวซ้ายไว้นิ่งๆ จากนั้นเราก็ขยับกระดาษเข้าออกให้ห่างจากหน้าเราช้าๆ ที่ระยะๆหนึ่งเราจะไม่เห็นตัวหนังสือตัวขวา นั่นแสดงว่าแสงจากตัวหนังสือตัวขวาตกลงบนจุดบอดเราพอดี

ถ้าจะหาจุดบอดในตาซ้าย เราก็ทำสลับกับขั้นตอนสำหรับตาขวา โดยเราหลับตาขวาแล้วใช้ตาซ้ายมองตัวหนังสือตัวขวาไว้นิ่งๆ อย่ากรอกตาไปมา แล้วเราก็ขยับกระดาษให้ใกล้ไกลหน้าเราช้าๆ ที่ระยะหนึ่งตัวหนังสือตัวซ้ายจะหายไปเพราะแสงจากหนังสือตัวซ้ายตกลงบนจุดบอดตาซ้ายของเราพอดี

ถ้าท่านไม่มีกระดาษลองใช้ตัวหนังสือข้างล่างนี่ก็ได้ครับ แต่อาจต้องขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์หน่อย:
A                                                                                              B
 
 
ลองหลับตาซ้ายแล้วใช้ตาขวามองตัว A ดู ตอนแรกท่านจะเห็นตัว B ด้วย แต่ถ้าขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์ที่ระยะที่เหมาะสม อยู่ๆตัว B ก็จะหายไป และท่านก็จะเห็นพื้นขาวแถวๆนั้นแทน
 
ที่น่าสนใจก็คือสมองเราจะมั่วเองขึ้นมาเลยว่าเราควรจะเห็นอะไรตอนที่แสงจากตัวอักษรตกลงบนจุดบอดพอดี แทนที่จะเห็นจุดดำๆเพราะไม่มีแสงตรงจุดบอด สมองวาดรูปให้เสร็จเลยว่าควรจะเห็นสีพื้นข้างหลังของตัวอักษร

Continue reading คุยกับเด็กๆเรื่องตา ภาพลวงตา เซลล์ร็อดและเซลล์โคน