Category Archives: education

อะตอมและโมเลกุล (+ของเล่นนักดำน้ำสำหรับเด็กอนุบาล)

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องอุณหภูมิ อะตอม และของเล่นคอปเตอร์กระดาษอยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องอะตอมและโมเลกุลสำหรับเด็กประถม และทำของเล่นนักดำน้ำสำหรับเด็กอนุบาลครับ

คราวที่แล้วคุยกับเด็กๆไปว่าเวลาเราบอกว่าของอะไรร้อน ของอะไรเย็นนั้น เรากำลังวัดว่าอะตอมหรือโมเลกุลในของนั้นๆเคลื่อนที่ไปมาเร็วแค่ไหน ถ้าเคลื่อนที่เร็วหรือสั่นเร็วก็จะร้อน ถ้าเคลื่อนที่ช้าหรือสั่นช้าก็จะเย็น วันนี้เราเลยมาคุยกันต่อให้มีความเข้าใจอะตอมและโมเลกุลมากขึ้น

ผมเริ่มโดยถามเด็กๆว่าอะตอมคืออะไร เพื่อดูว่าเด็กๆเข้าใจอะไรบ้างจากสัปดาห์ที่แล้ว เด็กโต(ป.4)ตอบได้ว่าเป็นส่วนประกอบเล็กๆ เล็กที่สุด ถ้าทำให้เล็กไปกว่านั้นจะเปลี่ยนชนิด ผมก็ยกตัวอย่างเสริมว่าถ้าเราเอาทองมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆไปเรื่อยๆ มันจะถึงจุดหนึ่งที่ชิ้นทองเล็กมากจนถ้าเราพยายามแบ่งแยกมัน ชิ้นส่วนที่ได้จะไม่ใช่ทองอีกต่อไป เราเรียกเจ้าชิ้นทองที่เล็กที่สุดว่าอะตอมของทอง ในแบบคล้ายๆกัน เราพบว่ามีชิ้นเหล็กที่เล็กที่สุดที่เรียกว่าอะตอมของเหล็ก คือถ้าเราพยายามตัดอะตอมของเหล็กให้เล็กลงไปอีก ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ใช่เหล็กอีกต่อไป เช่นเดียวกันชิ้นอลูมิเนียมที่เล็กที่สุดก็เรียกว่าอะตอมของอลูมิเนียม ชิ้นเล็กสุดของออกซิเจนเรียกว่าอะตอมออกซิเจน นักวิทยาศาสตร์พบว่าวัสดุต่างๆจะประกอบด้วยอะตอมชนิดต่างๆเรียงต่อๆกัน และจำนวนชนิดของอะตอมที่เรารู้จักจะมีประมาณร้อยกว่าชนิด เราเรียกอะตอมแต่ละชนิดว่าธาตุ Continue reading อะตอมและโมเลกุล (+ของเล่นนักดำน้ำสำหรับเด็กอนุบาล)

อุณหภูมิและอะตอม (+คอปเตอร์กระดาษสำหรับเด็กอนุบาล)

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องจับเวลาและนาฬิกาควอทซ์อยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องอุณหภูมิและอะตอมสำหรับเด็กประถม และสอนเด็กๆอนุบาลสามทำของเล่นเฮลิคอปเตอร์กระดาษครับ

ผมเริ่มถามเด็กๆว่ารู้จักอุณหภูมิไหม เด็กๆบอกว่ารู้จัก ผมถามว่าคืออะไร เด็กๆก็ตอบต่างๆกันไปว่าคือความร้อน คือร้อนเย็น คืออุณหภูมิสูงคือร้อนอุณหภูมิต่ำคือเย็น ผมเลยบอกเด็กๆว่าใช่แล้ว อุณหภูมิเป็นตัวบอกว่าอะไรร้อนอะไรเย็น แล้วผมก็ถามต่อว่าเราใช้อะไรวัดอุณหภูมิ เด็กๆก็บอกว่าปรอท ผมบอกว่าปรอทเป็นแบบหนึ่ง โดยทั่วไปเราจะเรียกอุปกรณ์ที่ใช้วัดอุณหภูมิว่าเทอร์โมมิเตอร์ แล้วผมก็สะกดคำภาษาอังกฤษให้เด็กดูด้วย อุณหภูมิคือ Temperature และเทอร์โมมิเตอร์คือ Thermometer หน่วยของอุณหภูมิมีหลายหน่วย ที่เราใช้กันในประเทศไทยคือหน่วยเซลเซียส (Celsius) ในบางประเทศจะใช้หน่วยฟาห์เรนไฮท์ (Fahrenheit) ในการคำนวณทางวิทยาศาสตร์เราจะใช้หน่วยที่เรียกว่าเคลวิน (kelvin) ด้วย

จากนั้นผมก็เอาตัวอย่างเทอร์โมมิเตอร์มาให้เด็กๆดู ที่เอามามีสี่แบบคือแบบใช้ของเหลวขยายตัว (ในที่นี้คือแอลกอฮอล์ใส่สีแดง) แบบวัดความต้านทานไฟฟ้า แบบผลึกเหลวเปลี่ยนสี และแบบกล้องจับแสงอินฟราเรด

แบบใช้ของเหลวขยายตัว (ในที่นี้คือแอลกอฮอล์ใส่สีแดง) แบบวัดความต้านทานไฟฟ้า แบบผลึกเหลวเปลี่ยนสี และแบบกล้องจับแสงอินฟราเรด

Continue reading อุณหภูมิและอะตอม (+คอปเตอร์กระดาษสำหรับเด็กอนุบาล)

จับเวลาและนาฬิกาควอทซ์

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องวัดความยาวและปืนใหญ่ลม (Vortex Cannon)อยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องการจับเวลาและนาฬิกาควอทซ์

สำหรับเด็กประถมกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมและภูมิธรรม ผมเริ่มโดยถามเด็กๆว่าเวลาคืออะไร เด็กๆก็ตอบว่าเวลาคือนาฬิกา ผมก็แย้งว่าเราใช้นาฬิกาวัดเวลาไม่ใช่หรือ แต่นาฬิกาไม่ใช่เวลา เด็กๆเสนออีกว่าเวลาไหลไปเรื่อยๆ เราวัดเวลาด้วยนาฬิกา เวลาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลาไม่รอใคร ฯลฯ ผมเสริมว่าจริงๆแล้วเราก็ไม่แน่ใจว่าเวลาคืออะไรแน่ แต่เราวัดเวลาต่างๆด้วยนาฬิกา มีใครบางคนบอกว่า”เวลาเป็นสิ่งที่กันไม่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆกัน” (“Time… is what keeps everything from happening at once”) ซึ่งผมก็ชอบคำจำกัดความนี้มากทีเดียว

ความจริงในธรรมชาติที่เราพบว่าเป็นจริงทั้งๆที่มันฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ก็คือ เวลาของแต่ละคนอาจจะวิ่งเร็วช้าต่างกัน ขึ้นกับว่าแต่ละคนเคลื่อนที่เร็วแค่ไหน หรืออยู่ใกล้แรงโน้มถ่วงแรงแค่ไหน เวลาเราเคลื่อนที่เร็วๆเวลาของเราจะวิ่งช้ากว่าเวลาของคนที่เคลื่อนที่ช้ากว่า หรือถ้าเราไปอยู่ใกล้แรงโน้มถ่วงเวลาของเราก็จะวิ่งช้ากว่าเหมือนกัน โดยปกติเราไม่ได้เคลื่อนที่เร็วมากๆหรืออยู่ใกล้แรงโน้มถ่วงที่เข้มข้นจนเห็นได้ชัดว่าเวลาของเราวิ่งช้าได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าเราตั้งใจวัดเวลาให้ละเอียดแล้ว เราจะพบว่าเวลาวิ่งช้าลงจริงๆเมื่อเคลื่อนที่หรืออยู่ใกล้แรงโน้มถ่วง สิ่งประดิษฐ์ในชีวิตประจำวันที่ต้องอาศัยความจริงข้อนี้ก็คือเครื่องรับสัญญาณ GPS ที่สามารถบ่งบอกพิกัดว่าเราอยู่ที่ไหนบนโลก ตัวเครื่องรับสัญญาณ GPS ต้องติดต่อกับดาวเทียมอย่างน้อยสามดวง(ปกติติดต่อกับหกดวงขึ้นไป)ที่โคจรรอบโลก การติดต่อระหว่างเครื่องรับสัญญาณและดาวเทียมต้องมีนาฬิกาที่เดินตรงกันจึงจะคุยกันได้ถูกต้อง แต่ดาวเทียมนั้นโคจรรอบโลกด้วยความเร็วสูง (ประมาณ 14,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ดังนั้นเวลาของดาวเทียมจะวิ่งช้ากว่าบนโลกไปประมาณ 7 ส่วนล้านวินาทีในแต่ละวัน นอกจากนี้ดาวเทียมอยู่ห่างจากโลกไปสองหมื่นกว่ากิโลเมตร แรงโน้มถ่วงจึงน้อยกว่าบนพื้นโลก ทำให้นาฬิกาของดาวเทียมวิ่งเร็วกว่าบนโลกไปประมาณ 45 ส่วนล้านวินาทีในแต่ละวัน ผลรวมนี้ทำให้นาฬิกาของดาวเทียมวิ่งเร็วกว่าบนโลกไปประมาณ 45-7 = 38 ส่วนล้านวินาทีในแต่ละวัน ตอนที่เครื่องรับสัญญาณติดต่อกับดาวเทียมต้องคำนวณเผื่อส่วนต่างของเวลาที่วิ่งเร็วต่างกันนี้ด้วย ไม่งั้นจะไม่สามารถทำงานได้ ความจริงเรื่องเวลาวิ่งเร็วช้าต่างกันนี้ถูกค้นพบโดยไอนสไตน์เมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว (ถ้าท่านสนใจเรื่อง GPS และเวลา ลองอ่านเพิ่มเติ่มที่ลิงค์เหล่านี้นะครับ: 1, 2 มีคุณพ่อคนหนึ่งพาลูกๆขึ้นไปภูเขาโดยเอานาฬิกาที่เที่ยงตรงมากๆไปด้วยแล้วดูว่านาฬิกาเดินเร็วขึ้นเท่าไรด้วยครับ)

ผมให้เด็กๆดูรูปนาฬิกาประเภทต่างๆที่เคยคุยกันเมื่อเราทำลูกตุ้มนาฬิกาเพื่อทบทวน แล้วผมก็เอานาฬิกาจับเวลามาให้เด็กๆดู (ซื้อมา 5 อันให้เด็กๆแบ่งกันเล่น ราคาอันละ 60 บาทที่ร้านไดโซะ) แล้วผมก็อธิบายว่านาฬิกาแบบนี้ใช้วัดเวลาได้อย่างไร Continue reading จับเวลาและนาฬิกาควอทซ์