Category Archives: science toy

วิทย์ม.ต้น: ความสวยความหล่อ, วิวัฒนาการ, กาลักน้ำแบบเริ่มไหลเอง

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. ความสวยความหล่อมาจากไหน ความสวยความหล่อในแต่ละสปีชีส์มีความแตกต่างกัน ในหลายๆกรณีอาจจะเป็นวิธีให้คะแนนอย่างรวดเร็วเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและความสามารถในการแพร่พันธุ์ เป็นเหตุผลในเชิงวิวัฒนาการ (กดดูบันทึกที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการที่เคยบันทึกไปแล้วที่นี่ครับ)

2. บางครั้งความสวยความหล่อในสิ่งมีชีวิตต่างๆก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรไปมากกว่าเป็นสิ่งที่เพศตรงข้ามชอบ บางครั้งความสวยความหล่ออาจทำให้ตายง่ายขึ้นด้วย (เช่นหางขนาดใหญ่นกยูงตัวผู้, เขาขนาดใหญ่ของกวาง) แต่ถ้ามันช่วยให้สามารถผสมพันธุ์และแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นเพราะเพศตรงข้ามชอบ มันก็อาจจะมีประโยชน์ในเชิงวิวัฒนาการ ขบวนการนี้เรียกว่า Sexual Selection:

3. เด็กๆลองอ่านอันนี้ดูครับ: วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี: ความสวย หล่อมีจริงไหม หรือเป็นแค่ ‘เปลือกนอก’ ที่คิดกันไปเอง

4. ทำไมผู้ชายจึงมักเจ้าชู้ชอบผู้หญิงสวยๆ แต่ผู้หญิงมักให้น้ำหนักความหล่อน้อยกว่าความมั่นคง? อาจจะอธิบายได้ด้วยทรัพยากรที่ต้องใช้ในการมีลูก ผู้ชายสามารถมีลูกได้โดยมีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียว แต่ผู้หญิงต้องลงทุนลงแรงในการตั้งท้อง เสี่ยงชีวิตคลอด และเลี้ยงลูก ผู้หญิงจึงต้องระมัดระวังมากกว่าผู้ชาย

5. ในมุมมองหนึ่ง (Selfish gene หรือ Gene-centered view of evolution) สิ่งมีชีวิตต่างๆเป็นเครื่องจักรกล (survival machines) ที่ทำสำเนาและแพร่จำนวนชิ้นของข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้ในสารพันธุกรรม มุมมองนี้อธิบายเรื่องต่างๆเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตได้มากมาย ถ้าเด็กๆสนใจลองศึกษาเพิ่มเติมดูครับ เช่นคลิปเหล่านี้:

6. เรามักจะคิดว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตด้วยเหตุผล แต่จริงๆแล้วการตัดสินใจส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันจะอาศัยสัญชาติญาณ, อารมณ์, และความรู้สึกมากกว่าที่เราคิด การตัดสินใจด้วยเหตุผลใช้เวลาและพลังงานมาก อาจไม่ทันการในการใช้ชีวิตรอด ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติจึงคัดเลือกการตัดสินใจอย่างรวดเร็วด้วยสัญชาติญาณ, อารมณ์, ความรู้สึกที่ใช้เวลาน้อยกว่าแบบใช้เหตุผลมาก การดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบันต้องผสมการตัดสินใจแบบต่างๆสำหรับสถานการณ์ที่ต่างๆกันไป แต่ปัญหาที่ซับซ้อนควรคิดช้าๆด้วยเหตุผล

7. เวลาที่เหลือเราเล่นกาลักน้ำกันครับ เด็กๆประดิษฐ์แบบจำลองชักโครก และกาลักน้ำแบบเริ่มไหลเอง คลิปวิธีทำต่างๆอยู่นี่ครับ:

8. บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ครับ:

วันนี้เด็กม.ต้นหัดทำกาลักน้ำแบบต่างๆ รวมถึงแบบจำลองชักโครก และแบบเริ่มไหลเองได้โดยการจุ่มครับ

Posted by Pongskorn Saipetch on Wednesday, September 9, 2020

วิทย์ประถม: เครื่องทุ่นแรงนิวแมติกส์และไฮดรอลิกส์, วิทย์อนุบาล: ตะเกียบลม

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมและอนุบาลสามมาครับ เด็กประถมได้หัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล และได้เล่นเครื่องทุ่นแรงใช้ลมยกของหนักๆ อนุบาลสามได้เล่นตะเกียบลม

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมประถมอยู่ที่นี่ กิจกรรมอนุบาลสามอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือเสกให้รถรางหายไปครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ต่อไปผมให้เด็กๆรู้จักการใช้ลม (นิวแมติกส์) หรือของเหลว (ไฮดรอลิกส์) เป็นเครื่องทุ่นแรงยกของหนักๆครับ วันนี้เราเล่นกับลมก่อน ถ้าเราเป่าลมใส่ถุงพลาสติกใช้ยกของต่างๆ เราพบว่ามีแรงยกมากกว่าที่เราคาดคิด

ถุงลมยกน้ำหนักมากๆได้ก็เพราะว่าขนาดพื้นที่ของถุงมีขนาดใหญ่พอ เมื่อเป่าลมเข้าไปทำให้ถุงมีความดันอากาศ ผิวของถุงก็ช่วยกันพยุงน้ำหนักที่กดทับอยู่ ยิ่งถุงใหญ่เท่าไร (และถ้าวัสดุของถุงมีความทนทานพอ ไม่แตกหรือรั่วเสียก่อน) ถุงก็จะสามารถยกน้ำหนักได้มากขึ้นเท่านั้น (แต่ก็ต้องแลกด้วยปริมาณอากาศที่ต้องเป่าเข้าไปมากขึ้นเมื่อเทียบกับถุงเล็ก) น้ำหนักที่ยกได้เท่ากับพื้นที่คูณกับความดันอากาศนั่นเอง หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการทำงานของยางรถยนต์ ยางรถมีความทนทานมากสามารถอัดอากาศความดันสูงๆเข้าไปได้เยอะๆ ทำให้ยางสามารถรับน้ำหนักรถเป็นตันๆได้ครับ

คลิปตอนสอนวิธีให้เด็กๆทำตามครับ:

เด็กๆพอรู้วิธีก็แยกย้ายกันเล่น:

ผมมีคลิปทำนองนี้กับเด็กๆชั้นอื่นด้วยครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสามบ้านพลอยภูมิ เราเล่น “ตะเกียบลม” กันครับ

ผมสอนให้เล่นตะเกียบลมที่ใช้หลักการที่ว่าเมื่อลมวิ่งไปตามผิวโค้งๆของลูกบอล กระแสลมจะโอบล้อมลูกบอลและดึงให้ลูกบอลอยู่ในกระแสลมนั้น ทำให้เราสามารถเลี้ยงลูกปิงปองด้วยเครื่องเป่าผมหรือลูกบอลชายหาดด้วยเครื่องเป่าใบไม้ได้ สามารถเอียงกระแสลมไปมาให้ลูกบอลลอยตามก็ได้ครับ

วิธีเล่นผมเคยบันทึกไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

เนื่องจากเรามองไม่เห็นสายลม (แม้ว่าจะรู้สึกได้) เราก็สามารถดูสายน้ำแทนครับ มันทำตัวคล้ายๆกัน:

การที่สายลมหรือสายน้ำวิ่งไปตามผิวโค้งๆของลูกโป่ง (หรือลูกบอลต่างๆที่เราใช้) และดูดลูกโป่งจะเปรียบเสมือนสายลมหรือสายน้ำทำตัวเป็นตะเกียบล่องหน คีบลูกโป่งไว้ครับ ปรากฎการณ์ที่ของไหล (สายลมหรือสายน้ำ) ชอบวิ่งไปตามผิววัตถุอย่างนี้มีชื่อว่า Coanda Effect ครับ

ถ้าสายลมแรงพอ เช่นออกมาจากเครื่องอัดลมความดันสูง แรงลมสามารถ “คีบ” ไขควงให้ลอยอยู่ได้ด้วยครับ:

พอเด็กๆรู้วิธีเล่นก็แยกย้ายกันเล่นเองครับ:

วิทย์ประถม: ทำของเล่นสมดุล, หัดคิดแบบวิทย์

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมมาครับ เด็กๆได้หัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามคิดอธิบายมายากล ประถมต้นได้ฟังผมเล่าเรื่องทำไมเราคิดว่าไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะอุกกาบาตและหัดทำของเล่นสมดุลเหมือนใบพัดติดบนหัว ประถมปลายได้หัดเอาไม้เสียบลูกชิ้นมางอและติดเทปให้แขวนขวดอยู่ได้ เราจะคุยกันเรื่องสมดุลในอนาคตครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ ลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือเอานกพิราบใส่กล่องแล้วหายไปครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ผมเล่าเรื่องการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ให้เด็กๆประถมต้นฟังโดยใช้ข้อมูลจากหน้าเหล่านี้ครับ: “นักธรณีฟิสิกส์เปิดเผยเหตุการณ์ในวันที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์“, “Asteroid impact, not volcanism, caused the end-Cretaceous dinosaur extinction” พยายามเปรียบเทียบขนาดของอุกกาบาตกับโลก ความเร็วอุกกาบาตกับกระสุนปืนหรือเครื่องบิน และพลังงานของอุกกาบาตเทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มนุษย์สร้างขึ้นมาครับ

จากนั้นผมสอนให้เด็กๆทำของเล่นประหลาดๆที่ทำงานด้วยหลักการความสมดุลที่เราจะคุยกันต่อในอนาคต เด็กประถมต้นทำแท่งสมดุลบนหัวดังในคลิปนี้ครับ:

เด็กๆก็แยกย้ายกันประดิษฐ์และเล่นของเล่นกัน:

สำหรับเด็กประถมปลายผมให้ดัดแปลงไม้เสียบลูกชิ้นให้แขวนขวดน้ำหนักๆไว้ตามขอบโต๊ะด้วยความสมดุล วิธีทำดังในคลิปครับ:

เด็กๆก็แยกย้ายกันทดลองทำดูกันครับ: