วิทย์ประถม: เข้าใจว่าทำไมมีปืนสั้นปืนยาว + ปรับปรุงเป่าไม้พันสำลี

ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล ได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความยาวลำกล้องและความเร็วกระสุน ประยุกต์ใช้ความรู้ปรับปรุงการเป่าไม้พันสำลีจากสัปดาห์ที่แล้วให้วิ่งไปได้ไกลมากขึ้น

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเสกเหรียญเข้ากระป๋องครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

สำหรับกิจกรรมของเล่นสัปดาห์นี้ เราปรับปรุงกิจกรรมเป่าไม้พันสำลีจากสัปดาห์ที่แล้วให้ไม้สำลีวิ่งได้ไกลและตรงมากขึ้นครับ

จากหลักการทำงานของเครื่องยิงที่ใช้อากาศหรือแก๊สสัปดาห์ที่แล้ว เราสังเกตว่าถ้าแก๊สจะผลักดันกระสุนได้เฉพาะเมื่อกระสุนอยู่ในลำกล้องเท่านั้น เมื่อกระสุนพ้นลำกล้องไปแล้ว แก๊สจะกระจัดกระจายไม่สามารถเพิ่มความเร็วให้กระสุนได้อีก ดังนั้นถ้ามีแก๊สมากๆและทำให้ลำกล้องยาวขึ้นกระสุนจะวิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆไปตามลำกล้อง จนมีความเร็วสูงขึ้นเมื่อพ้นลำกล้องออกไป หลักการนี้จะเป็นจริงจนกระทั่งลำกล้องยาวเกินไปมีแรงเสียดทานจากลำกล้องมาเกี่ยวข้อง

ข้อสังเกตอีกอย่างคือเมื่อเราเป่าไม้พันสำลี อากาศสามารถวิ่งผ่านช่องว่างระหว่างไม้พันสำลีและผนังหลอดภายในได้ทำให้เสียแรงลมที่จะผลักให้ไม้พันสำลีเคลื่อนที่เร็วขึ้น

อีกข้อสังเกตคือเมื่อไม้สำลีวิ่งออกไปด้วยความเร็ว บางครั้งมันจะเลี้ยวเปลี่ยนทิศทางได้มากๆ ไม่วิ่งตรงอย่างที่เราต้องการ

เพื่อปรับปรุงการเป่าไม้พันสำลี เราจึงพยายามแก้ปัญหาจากข้อสังเกตทั้งสามโดย:

  • เพิ่มความยาวหลอดโดยเอาหลอดมาต่อกันด้วยเทปกาว พบว่าถ้าความยาวประมาณสองถึงสามหลอดจะเป่าได้ไกลขึ้นมาก แต่ถ้ายาวกว่านั้นมักจะมีปัญหาทั้งระยะทางและทิศทาง
  • พันเทปผ้าที่ปลายข้างหนึ่งของไม้พันสำลีให้มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดภายในหลอดมากขึ้น ลมจะได้รั่วไหลมากขึ้น นอกจากนี้เทปผ้ายังทำหน้าที่ถ่วงน้ำหนักให้จุดศูนย์กลางมวล (center of mass) ขยับไปทางส่วนหัว และศูนย์กลางการต้านลม (center of pressure) อยู่ด้านหลังจุดศูนย์กลางมวล ทำให้ไม้พันสำลีพุ่งไปข้างหน้าได้ตรงและมีทิศทางเสถียรมากขึ้น

การปรับปรุงแบบนี้ทำให้สามารถเพิ่มระยะการเคลื่อนที่ของไม้พันสำลีจาก 10 เมตร ไปเกือบๆ 30 เมตร และมีวิถีแม่นยำขึ้นมากด้วยครับ

เด็กๆต่างแยกย้ายกันประดิษฐ์และเล่น:

ถ้าต้องการรู้รายละเอียดเรื่อง Center of Mass และ Center of Pressure (และเรื่องน่ารู้อีกมากมาย) แนะนำให้ดูคลิป It’s Rocket Science! with Professor Chris Bishop นะครับ:

วิทย์ประถม: เครื่องยิงที่ใช้อากาศหรือแก๊ส

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆได้หัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ได้ดูตัวอย่างการหลอกลวงในวัด ผมได้อธิบายหลักการทำงานของปืน Nerf, ปีนคาบศิลา, ปืนยุคใหม่ใช้กระสุน, และการเป่าลูกดอก เด็กๆได้เล่นเป่าก้านสำลีจากหลอดกัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลหญิงหายตัวครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมอธิบายการทำงานของเครื่องยิงชนิดต่างๆที่อาศัยอากาศหรือแก๊สประเภทต่างๆขับดันกระสุนให้เคลื่อนที่ไปที่เป้าหมาย เริ่มด้วยปืนของเล่น Nerf:

ให้เด็กๆสังเกตลูกสูบปั๊มลมที่ทำหน้าที่เหมือนหลอดฉีดยาในของเล่นจรวดแรงดันอากาศที่เราเคยเล่นกัน ให้สังเกตสปริงที่ทำหน้าที่ดันลูกสูบผลักดันอากาศให้ดันกระสุนโฟมออกไป

จากนั้นผมอธิบายการทำงานของปืนคาบศิลา:

ให้เด็กๆสังเกตว่าดินปืนที่เป็นของแข็งจะถูกจุดไฟด้วยชนวน (แก๊ป หรือไพรเมอร์ ที่คล้ายๆของเล่นกระเทียมที่เราขว้างลงพื้นแล้วดังแป๊ะๆ) ดินปืนเผาไหม้สร้างแก๊สจำนวนมากผลักดันกระสุนออกไปจากลำกล้อง

เล่าให้เด็กๆฟังว่าปืนประเภทนี้ลำกล้องจะไม่มีเกลียว มีขนาดใหญ่กว่ากระสุนเล็กน้อย ทำให้กระสุนชนผนังไปมาก่อนจะพ้นลำกล้องได้ ทำให้มีข้อจำกัดด้านความแม่นยำ นอกจากนี้ยังใช้เวลายิงนัดต่อไปนานอีกด้วยเพราะมีหลายขั้นตอนกว่าจะยิงได้แต่ละนัด

มนุษย์พยายามแก้ปัญหานี้โดยการสร้างกระสุนปืนสำเร็จรูปที่รวมหัวกระสุน ดินปืน ไพรเมอร์ไว้ด้วยกัน ทำให้ยิงได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้การที่ลำกล้องมีเกลียวบังคับให้หัวกระสุนหมุนทำให้แม่นยำมากขึ้นด้วย ดังในคลิปเหล่านี้:

หลังจากเข้าใจทฤษฎีการทำงาน และเนื่องจากเราเล่นปืนไม่ได้ เราเลยใช้ลมหายใจของเราเป่าไม้พันสำลีผ่านหลอดกาแฟใส่เป้าต่างๆแทน ?

วิทย์ประถม: ปรับปรุงแหลนจำลอง

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆได้หัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล จากนั้นได้พยายามปรับปรุงแหลนจำลองจากสัปดาห์ที่แล้วให้ขว้างได้ไกลขึ้นโดยการเพิ่มน้ำหนักส่วนหัวและทำครีบส่วนหางให้ขว้างได้ตรงและไกลมากขึ้น

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลน้ำไม่หกจากแก้วซึ่งทำเนียนกว่าที่เราเคยเล่นกันในชั้นเรียน:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

สัปดาห์นี้เราต่อยอดจากสัปดาห์ที่แล้ว (วิทย์ประถม: ขว้างหลอดไกลๆ, จำลองแหลน) โดยการถ่วงน้ำหนักหลอดด้วยกระดาษที่ม้วนแน่นๆแล้วใส่ไว้ที่ปลายด้านหนึ่งของหลอด และดัดแปลงส่วนหางให้มีครีบให้มีต้านอากาศบ้างให้ตัวหลอดไม่สั่นหรือส่ายเกินไป น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้แรงต้านอากาศมีผลน้อยลงทำให้หลอดโดนปาไปได้ไกลขึ้นครับ (คือหลอดที่มีขนาดเหมือนกัน วิ่งผ่านอากาศด้วยความเร็วเดียวกัน จะมีแรงต้านอากาศเท่าๆกัน แต่หลอดที่หนักกว่าจะสูญเสียความเร็วช้ากว่าหลอดที่เบา จึงวิ่งไปไห้ไกลกว่าครับ)

เด็กๆหัดทำกันเองคนละหลายๆอัน เด็กประถมต้นมีปัญหาการม้วนกระดาษให้เป็นม้วนเล็กๆใส่ไว้ในหลอด ผู้ใหญ่อาจต้องช่วยบ้างครับ

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)