Category Archives: สอนเด็กๆ

ลูกโป่งใหญ่ vs. ลูกโป่งเล็ก การแกว่งของลูกตุ้มแม่เหล็ก กลความดันอากาศ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมต้นได้สังเกตและเดาว่าเมื่อเอาลูกโป่งใหญ่กับลูกโป่งเล็กมาต่อกันด้วยท่อ ลมจะวิ่งจากลูกไหนไปลูกไหน เด็กประถมปลายได้ดูคลิปสิ่งประดิษฐ์สุดเจ๋งคือเป้าลูกดอกที่วิ่งหาลูกดอกเองทำให้ขว้างโดนกลางเป้าเสมอ และได้สังเกตการแกว่งของลูกตุ้มที่ทำจากแท่งแม่เหล็กที่ห้อยมาจากแม่เหล็กด้านบนอีกที พบว่าความถี่การสั่นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก่อนจะหยุด คล้ายๆเวลาฝาโลหะกลมหรือเหรียญหมุนเอียงๆจนหยุด เด็กอนุบาลสามได้หัดเล่นกลน้ำไม่หกจากแก้วที่อาศัยความดันอากาศและแรงตึงผิวของน้ำครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “ขนาดของอากาศร้อนอากาศเย็น ความดันและความเร็วอากาศ กลน้ำไม่หก” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมต้น ผมเอาลูกโป่งมาเล่นกับเด็กๆครับ ทดลองเป่าลูกโป่งให้ใหญ่ๆ ให้เด็กจับหรือแนบกับแก้ม ปล่อยลมออก แล้วให้เด็กสังเกตว่าลูกโป่งเย็นลงไหม พบว่าลูกโป่งเย็นลงครับ ผมมาลองวัดอุณหภูมิดูทีหลังพบว่าเย็นลง 5℃ เลยครับ:

จากนั้นก็ให้เด็กๆทายกันว่าถ้าเอาลูกโป่งใหญ่มาต่อกับลูกโป่งเล็ก ลูกไหนจะใหญ่ขึ้น เด็กๆส่วนใหญ่คิดว่าลูกเล็กจะใหญ่ขึ้นครับ พอเราทายกันเสร็จก็ลองทำการทดลองแบบนี้ครับ:

คนส่วนใหญ่ (ผมด้วย) เมื่อเห็นครั้งแรกจะคิดว่าลมจะวิ่งจากลูกโป่งใหญ่ไปลูกโป่งเล็กครับ ปรากฎว่าเป็นตรงกันข้ามเลย กลายเป็นว่าลมจากลูกโป่งเล็กวิ่งไปลูกใหญ่ซะนี่ จริงๆถ้าเราสังเกตตอนเราเป่าลูกโป่งเราจะรู้สึกได้ว่าตอนแรกของการเป่าจะยาก พอลูกโป่งใหญ่ถึงระดับหนึ่งจะเป่าง่ายขึ้น แสดงว่าความดันอากาศในลูกโป่งใหญ่มันน้อยกว่าในลูกโป่งเล็ก ลมจึงไหลจากลูกเล็กไปลูกใหญ่ครับ (สำหรับนักเรียนฟิสิกส์ ถ้าสนใจการคำนวณ ลองดูที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้ดูคลิปวิดีโอสิ่งประดิษฐ์สุดเจ๋ง คือเป้าที่วิ่งตามลูกดอกครับ:

ผมแปลให้เด็กๆฟังเรื่องการใช้กล้องหลายๆตัวมองลูกดอกจะได้รู้ตำแหน่งลูกดอกเมื่อเวลาใดๆ เรื่องกล้องตรวจจับแสงอินฟราเรดที่ส่องออกมาแต่ตาคนมองไม่เห็น (กล้องจะได้ไม่งงกับของอื่นๆนอกจากลูกดอก) และเรื่องการติดพลาสติกสะท้อนแสงกลับ (retroreflector) ไว้ที่ลูกดอกเพื่อให้กล้องเห็นลูกดอกชัดๆครับ แนะนำให้เด็กๆติดตามช่อง YouTube ของคนนี้เพราะเขาทำของเล่นน่าสนุกดี

จากนั้นก็ให้เด็กๆสังเกตและทดลองแกว่งลูกตุ้มแม่เหล็กว่าอยู่ได้นานแค่ไหนครับครับ หน้าตามันจะเป็นประมาณนี้:

มันจะแกว่งเร็วขึ้นเรื่อยๆก่อนที่จะหยุดครับ ให้เด็กสังเกตว่ามันคล้ายๆกับเหรียญหรือฝาอะไรกลมๆที่กลิ้งวนกับพื้นที่จะกลิ้งแกว่งเร็วขึ้นเรื่อยๆก่อนจะหยุด เป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Euler’s Disk (จานของออยเลอร์) ครับที่เหรียญหรือจานจะกลิ้งเร็วขึ้นเรื่อยๆก่อนจะล้ม ถ้าเหรียญมีน้ำหนักเยอะหน่อยก็จะอยู่ได้นานมากครับ มีคนทำให้ดูบน YouTube ครับ:

สำหรับลูกตุ้มแม่เหล็กก็ทำงานคล้ายๆกัน แต่ลูกตุ้มถูกดูดขึ้นติดเพดานไว้ครับ แรงแม่เหล็กทำหน้าที่เหมือนแรงโน้มถ่วงในกรณี Euler’s Disk 

สำหรับเด็กๆอนุบาลสามทับหนึ่ง โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมให้ทดลองหัดเล่นกลน้ำไม่หกจากแก้วและน้ำไม่ผ่านตะแกรงครับ

วิธีทำกลน้ำไม่หกจากแก้วก็คือเอาแก้วใส่น้ำ เอาแผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งเรียบๆมาปิด แล้วกลับแก้วให้คว่ำลง แผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งที่ปิดไว้ก็จะติดอยู่และน้ำก็ไม่หกจากแก้วครับ:

สำหรับกลน้ำไม่ไหลผ่านตะแกรง เราเอาตะแกรงร่อนแป้งที่เป็นรูๆมาให้เด็กๆทุกคนดูว่ามีรู เทน้ำใส่ก็ไหลผ่าน เป่าก็มีลมผ่าน แล้วเอาน้ำใส่แก้ว เอาตะแกรงวางข้างบน เอามือปิดด้านบนของตะแกรงให้คลุมปากแก้วด้านล่างไว้ แล้วพลิกเร็วๆให้แก้วใส่น้ำคว่ำอยู่ด้านบนตะแกรง เราจะพบว่าน้ำในแก้วไม่ไหลผ่านตะแกรงลงมาครับ ทั้งนี้ก็เพราะน้ำที่ติดกับตะแกรงมีแรงตึงผิวไม่แตกออกเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ ทำให้ความดันอากาศภายนอกต้านไว้ไม่ให้น้ำไหลออกมาครับ ผมเคยทำคลิปวิธีทำไว้ที่ช่องเด็กจิ๋วและดร.โก้ครับ:

เด็กๆเล่นกันใหญ่ครับ:

 

กลทั้งสองแบบมีหลักการคล้ายกันที่ว่าอากาศภายนอกแก้วมีความดันมากพอที่จะรับน้ำหนักน้ำไม่ให้หกออกมาครับ ในกรณีตะแกรงจะใช้แรงตึงผิวของน้ำรับแรงจากความดันอากาศแทนแผ่นพลาสติกในอีกกรณีหนึ่งครับ

ขนาดของอากาศร้อนอากาศเย็น ความดันและความเร็วอากาศ กลน้ำไม่หก

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมต้นได้พยายามเดาว่ากลสองสามอันเป็นอย่างไร ได้สังเกตการขยายตัวและหดตัวของอากาศในขวดพลาสติกปิดเมื่ออากาศร้อนและเย็น เด็กประถมปลายได้ดูคลิปการจับแมลงมากินเป็นอาหาร (เป็นก้อนๆคล้ายเบอร์เกอร์) ได้ทดลองเป่าลมเข้าถุงพลาสติกแบบเอาปากจ่อและเป่าจากไกลๆ พบว่าเป่าจากไกลๆจะพาอากาศรอบๆมาด้วยทำให้เป่าเร็วขึ้น เนื่องจากหลักการที่ว่าบริเวณไหนลมวิ่งเร็ว ความดันอากาศแถวนั้นจะต่ำ ทำให้อากาศจากที่อื่นที่ความดันสูงกว่าวิ่งเข้ามาด้วย เด็กอนุบาลสามได้หัดเล่นกลน้ำไม่หกโดยเอาแก้วใส่น้ำแล้วเอาแผ่นพลาสติกหรือตะแกรงมีรูปิดปากแก้วแล้วคว่ำแก้ว พบว่าน้ำไม่หกออกมาเพราะความดันอากาศและแรงตึงผิวของน้ำ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “เปิดเทอมใหม่เราเริ่มด้วยภาพลวงตา” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมต้น ผมให้ดูกลสามอันแรกในคลิปข้างล่างนี้ครับ ให้ดูเฉพาะส่วนเล่นกลก่อนแล้วหยุดคลิปไว้ยังไม่ดูเฉลย ให้เด็กๆเดากันว่ากลแต่ละอันทำอย่างไร ให้เด็กๆฝึกคิดและกล้าเดาครับ พอทายกันเยอะๆแล้วก็ค่อยดูเฉลยกัน:

จากนั้นก็ให้เด็กดูของแปลกๆครับ ในแอฟริกามีแมลง (midge) หน้าตาคล้ายๆยุงแต่ไม่กัดคนจำนวนเยอะมาก:

ชาวบ้านเลยไปจับกันด้วยหม้อหรือกระทะชุบน้ำหรือน้ำมัน แล้วเอามาทอดกินเป็นแหล่งโปรตีนซะเลย

จากนั้นก็มีกิจกรรมดูกันว่าเมื่ออากาศร้อน มันจะขยายตัว และเมื่ออากาศเย็นมันจะหดตัวครับ เราเล่นด้วยขวดพลาสติกใส่น้ำร้อนรอสักครึ่งนาทีแล้วปิดฝาให้แน่นครับ เรารอเพื่อให้อากาศได้รับความร้อนจากน้ำร้อนแล้วขยายตัวล้นออกไปจากขวดบ้าง พอปิดฝาให้แน่นแล้วรอต่อไปให้อากาศเย็นลง มันจะหดตัวแล้วดึงให้ขวดยุบลงมาครับ ถ้าน้ำยังร้อนอยู่แล้วเราเขย่า อากาศจะร้อนตามและขยายตัว ดันให้ขวดป่องอีกครับ ทำสลับกันไปมาได้ เล่นเป็นกลก็ได้ครับ ดูในคลิปนะครับ:

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้ดูคลิปเบอร์เกอร์แมลงเหมือนประถมต้น แล้วก็ทำการทดลองกันครับ ผมให้เด็กๆเป่าลมใส่ถุงพลาสติกบางๆ (อย่างที่มีห่อผักผลไม้ในห้างสรรพสินค้าเช่นท๊อปส์) โดยให้เอาปากจ่อกับถุงแล้วนับว่าเป่ากี่ครั้งถุงถึงจะโป่ง เป่ากันใหญ่แบบนี้ครับ:

พอเป่าแบบปากติดถุงเสร็จ ก็ให้ลองเป่าใหม่โดยเป่าห่างๆจากปากถุงมาสักหน่อย สัก 1 ฟุตก็ได้ครับ ปรากฎว่าถุงโป่งเร็วกว่ามาก (เป่าติดปากถุงอาจจะเป่า 3-4 ครั้ง เป่าห่างจากปากถุงเป่าครั้งเดียว)

ผมก็ให้เด็กๆเดาว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ครับ ฝึกให้เด็กๆกล้าคิดกล้าเดาครับ

หลังจากเด็กๆเดาเสร็จ ผมก็เฉลยว่าเวลาลมวิ่งเร็วๆ ความดันอากาศแถวนั้นมันจะต่ำกว่ารอบๆ ทำให้อากาศรอบๆที่ความดันสูงกว่าไหลเข้ามาแถวนั้น แล้วก็วิ่งตามสายลมไป ทำให้ปริมาณลมที่วิ่งไปข้างหน้ามากกว่าลมที่ออกมาจากการเป่าด้วยปากโดยตรงครับ

หลักการเดียวกันสามารถใช้สูบน้ำขึ้นมาได้ด้วยครับ ตอนผมเด็กๆจะมีกระบอกฉีดยาฆ่าแมลงที่ใช้หลักการนี้ ผมจำลองด้วยหลอดกาแฟครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสามทับสอง โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมให้ทดลองหัดเล่นกลน้ำไม่หกจากแก้วและน้ำไม่ผ่านตะแกรงครับ

วิธีทำกลน้ำไม่หกจากแก้วก็คือเอาแก้วใส่น้ำ เอาแผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งเรียบๆมาปิด แล้วกลับแก้วให้คว่ำลง แผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งที่ปิดไว้ก็จะติดอยู่และน้ำก็ไม่หกจากแก้วครับ:

สำหรับกลน้ำไม่ไหลผ่านตะแกรง เราเอาตะแกรงร่อนแป้งที่เป็นรูๆมาให้เด็กๆทุกคนดูว่ามีรู เทน้ำใส่ก็ไหลผ่าน เป่าก็มีลมผ่าน แล้วเอาน้ำใส่แก้ว เอาตะแกรงวางข้างบน เอามือปิดด้านบนของตะแกรงให้คลุมปากแก้วด้านล่างไว้ แล้วพลิกเร็วๆให้แก้วใส่น้ำคว่ำอยู่ด้านบนตะแกรง เราจะพบว่าน้ำในแก้วไม่ไหลผ่านตะแกรงลงมาครับ ทั้งนี้ก็เพราะน้ำที่ติดกับตะแกรงมีแรงตึงผิวไม่แตกออกเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ ทำให้ความดันอากาศภายนอกต้านไว้ไม่ให้น้ำไหลออกมาครับ ผมเคยทำคลิปวิธีทำไว้ที่ช่องเด็กจิ๋วและดร.โก้ครับ:

เด็กๆเล่นกันใหญ่ครับ (สีฟ้าๆคือตะแกรงพลาสติกนะครับ):

กลทั้งสองแบบมีหลักการคล้ายกันที่ว่าอากาศภายนอกแก้วมีความดันมากพอที่จะรับน้ำหนักน้ำไม่ให้หกออกมาครับ ในกรณีตะแกรงจะใช้แรงตึงผิวของน้ำรับแรงจากความดันอากาศแทนแผ่นพลาสติกในอีกกรณีหนึ่งครับ

เปิดเทอมใหม่เราเริ่มด้วยภาพลวงตา

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เนื่องจากเป็นเปิดเทอมใหม่เราจึงทำกิจกรรมเกี่ยวกับข้อจำกัดของสมองและประสาทสัมผัสเพื่อให้เด็กๆระมัดระวังเมื่อต้องสังเกตหรือเข้าใจอะไรด้วยประสาทสัมผัส และหัดใช้เครื่องมือต่างๆเช่นไม้บรรทัดช่วยครับ เราดูภาพลวงตาหลากหลายเช่นภาพผีที่รถคว่ำ ภาพ 3 มิติแปลกๆ เส้นตรงเส้นโค้งเส้นเอียงประเภทต่างๆ ฯลฯ เด็กประถมปลายได้ดูว่าเมื่อเราตั้งใจทำอะไรบางอย่างเราอาจจะพลาดสิ่งใหญ่ๆแปลกๆไปก็ได้ทั้งๆที่ควรจะสังเกตเห็น

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “ความดันอากาศและสุญญากาศ” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมต้น ระหว่างที่รอให้เพื่อนๆมากันครบ ผมเอาลูกโลกมาให้เด็กๆดู และให้เดาว่าเราจะสามารถลูบๆลูกโลกแล้วมือจะสะดุดภูเขาหรือมหาสมุทรได้ไหม (ถ้าอัตราส่วนการจำลองลูกโลกถูกต้อง) ในที่สุดผมก็บอกเด็กๆว่าภูเขาและหุบเหวในมหาสมุทรมีความลึกประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เส้นผ่าศูนย์กลางโลกเป็นหมื่นกิโลเมตร ต่างกันเป็นพันกว่าเท่า ดังนั้นผิวลูกโลกจะต้องเรียบมากๆ ถ้าลูกโลกมีขนาดประมาณ 1 ฟุต ภูเขาก็อาจจะสูงเท่ากับ 2-3 ความหนาเส้นผม ถ้ามองห่างหน่อยก็คงไม่เห็นอะไร แต่ถ้าเอามือลูบก็อาจจะรู้สึกนิดหน่อย

เอาลูกโลกมาอธิบายความเรียบที่ถูกต้องครับ
เอาลูกโลกมาอธิบายความเรียบที่ถูกต้องครับ

ผมถามเด็กๆว่าเรามองเห็นได้อย่างไร ต้องใช้อวัยวะอะไรบ้าง เด็กๆก็ตอบกันว่าต้องมีลูกตา ต้องมีสมอง เราจึงคุยกันก่อนว่าลูกตาทำอะไร

เรามองเห็นได้โดยแสงวิ่งไปกระทบกับจอรับแสง (เรตินา, Retina) ที่ด้านหลังข้างในลูกตา แต่บังเอิญตาของคนเราวิวัฒนาการมาโดยมีเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่บนผิวของจอรับแสง เมื่อจะส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทไปยังสมอง เส้นประสาทจะต้องร้อยผ่านรูอันหนึ่งที่อยู่บนจอรับแสง รอบบริเวณรูนั้นจะไม่มีเซลล์รับแสง ดังนั้นถ้าแสงจากภายนอกลูกตาไปตกลงบนบริเวณนั้นพอดี ตาจะไม่สามารถเห็นแสงเหล่านั้นได้ บริเวณรูนั้นจึงเรียกว่าจุดบอด หรือ Blind Spot นั่นเอง

จุดบอดหรือ Blind spot อยู่ตรงที่เส้นประสาทรวมกันเป็นเส้นลากจากภายในลูกตาออกมาด้านหลัง ไปยังสมองในที่สุด
(ภาพจาก http://transitionfour.wordpress.com/tag/blind-spot/)
ตาของปลาหมึกทั้งหลายจะไม่มีจุดบอดแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเราครับ เนื่องจากเส้นประสาทของปลาหมึกอยู่หลังจอรับแสง จึงไม่ต้องมีการร้อยผ่านรูในจอรับแสงแบบตาพวกเรา
 
วิธีดูว่าเรามีจุดบอดก็ทำได้ง่ายมากครับ แค่เขียนตัวหนังสือตัวเล็กๆบนแผ่นกระดาษสองตัว ให้อยู่ในแนวบรรทัดเดียวกันแต่ห่างกันสักหนึ่งฝ่ามือ จากนั้นถ้าเราจะหาจุดบอดในตาขวา เราก็หลับตาซ้าย แล้วใช้ตาขวามองตัวหนังสือตัวซ้ายไว้นิ่งๆ จากนั้นเราก็ขยับกระดาษเข้าออกให้ห่างจากหน้าเราช้าๆ ที่ระยะๆหนึ่งเราจะไม่เห็นตัวหนังสือตัวขวา นั่นแสดงว่าแสงจากตัวหนังสือตัวขวาตกลงบนจุดบอดเราพอดี
 

ถ้าจะหาจุดบอดในตาซ้าย เราก็ทำสลับกับขั้นตอนสำหรับตาขวา โดยเราหลับตาขวาแล้วใช้ตาซ้ายมองตัวหนังสือตัวขวาไว้นิ่งๆ อย่ากรอกตาไปมา แล้วเราก็ขยับกระดาษให้ใกล้ไกลหน้าเราช้าๆ ที่ระยะหนึ่งตัวหนังสือตัวซ้ายจะหายไปเพราะแสงจากหนังสือตัวซ้ายตกลงบนจุดบอดตาซ้ายของเราพอดี 

ถ้าไม่มีกระดาษลองใช้ตัวหนังสือข้างล่างนี่ก็ได้ครับ แต่อาจต้องขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์หน่อย:
 
 
A                                                                                              B
 
 
ลองหลับตาซ้ายแล้วใช้ตาขวามองตัว A ดู ตอนแรกจะเห็นตัว B ด้วย แต่ถ้าขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์ที่ระยะที่เหมาะสม อยู่ๆตัว B ก็จะหายไป และจะเห็นพื้นขาวแถวๆนั้นแทน
 
ที่น่าสนใจก็คือสมองเราจะมั่วเองขึ้นมาเลยว่าเราควรจะเห็นอะไรตอนที่แสงจากตัวอักษรตกลงบนจุดบอดพอดี แทนที่จะเห็นจุดดำๆเพราะไม่มีแสงตรงจุดบอด สมองวาดรูปให้เสร็จเลยว่าควรจะเห็นสีพื้นข้างหลังของตัวอักษร อันนี้เป็นตัวอย่างแรกที่เด็กๆได้เข้าใจว่าสมองเรามีความสามารถ “มั่ว” แค่ไหนครับ 
 
ทดลองหาจุดบอดในตาครับ
ทดลองหาจุดบอดในตาครับ
ทดลองหาจุดบอดในตาครับ
ทดลองหาจุดบอดในตาครับ
 
ต่อมาเราก็ดูภาพลวงตาหลายๆอันที่ผมค้นหามาจากอินเทอร์เน็ต ให้ดูความมั่วของสมอง และให้เด็กๆคิดว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรช่วยเพื่อให้เห็นความจริงครับ ก่อนอื่นดูรูปผีผู้หญิงใกล้ๆรถคว่ำครับ:
 
ภาพผีสาวจากรถคว่ำครับ
ภาพผีสาวจากรถคว่ำครับ
 หลายๆคนจะเห็นว่ามีผู้หญิงนั่งอยู่ข้างๆรถคว่ำ แต่มองดีๆแล้วจะเห็นว่ามันคือล้อรถครับ เด็กๆได้เรียนรู้ว่าถ้าสงสัยว่าเจอผี ให้มองตรงๆชัดๆ ใช้ไฟสว่างๆส่องดูครับ อีกอย่างก็คือสมองคนเราเก่งมากเรื่องมั่วให้เห็นหน้าคนครับ 
 
ต่อไปดูว่าตัวไหนใหญ่กว่าครับ:
เด็กเรียกว่ายักษ์ใหญ่ ไล่ยักษ์เล็กครับ
เด็กเรียกว่ายักษ์ใหญ่ ไล่ยักษ์เล็กครับ
 สมองเราแปลภาพว่าเป็นอุโมงค์ที่มีความลึกครับ ดังนั้นเราจึงเห็นยักษ์ตัวบนใหญ่กว่ายักษ์ตัวล่าง พอเด็กๆเอาไม้บันทัดวัดก็จะพบว่ามันมีขนาดเท่ากันครับ
 
วงกลมส้มๆอันไหนใหญ่กว่า
วงกลมส้มๆอันไหนใหญ่กว่า
ภาพนี้ให้เด็กๆดูว่าวงกลมไหนใหญ่กว่ากันครับ  พอให้เด็กใช้ไม้บันทัดวัดปรากฎว่าเท่ากันครับ แสดงว่าสมองใช้การเปรียบเทียบรอบๆเพื่อตัดสินขนาดด้วยครับ
 
เส้นขนานกันไหม
เส้นขนานกันไหม

ให้เด็กๆดูว่าเส้นมันตรงไหม และขนานกันไหม แล้วให้ลองทดสอบด้วยไม้บันทัดและแท่งดินสอครับ

จุดดำจุดขาว
จุดดำจุดขาว

เมื่อเราขยับตาเพื่อดูจุดที่เส้นตรงตัดกัน สีของจุดกลมๆเหล่านั้นเปลี่ยนไปมาระหว่างขาวกับดำครับ

มีกี่แท่งกันแน่
มีกี่แท่งกันแน่

จำนวนแท่งสี่เหลี่ยมเปลี่ยนไปขึ้นกับว่าเรามองด้านบนหรือด้านล่างของภาพครับ แสดงว่าตาเราเห็นได้ชัดๆในบริเวณเล็กๆเท่านั้น ไม่สามารถเห็นภาพใหญ่ภาพรวมพร้อมๆกันได้ ปกติตาเราจะต้องขยับไปมาเพื่อดูภาพใหญ่ตลอดครับ

สีไหนเข้มกว่ากันระหว่าง A และ B
สีไหนเข้มกว่ากันระหว่าง A และ B

ตาเราจะเห็นว่า A เข้มกว่า B นะครับ แต่ถ้าพิมพ์ออกมาแล้วตัดชิ้น A, B ออกมา จะพบว่ามันมีสีเดียวกันครับ สลับที่ A กับ B แล้วจะมองเห็น B สีเข้มกว่า A ครับ อันนี้ก็เป็นอีกหลักฐานว่าสมองจะเดาสีเดาความสว่างจากสีและความสว่างรอบๆครับ

ขาทาน้ำมันหรือทาสี
ขาทาน้ำมันหรือทาสี

จากภาพแบนๆสมองต้องตีความว่าจริงๆแล้วเป็นภาพของอะไรครับ สามารถดูเหมือนขาสะท้อนแสง หรือขาทาสีขาวก็ได้ครับ (แต่จริงๆเป็นขาทาสีครับ)

อันไหนเอียวกว่า
อันไหนเอียวกว่า

คนส่วนใหญ่จะเห็นว่าภาพด้านขวาจะเอนมากกว่า ทั้งๆที่ภาพทั้งซ้ายและขวาเป็นภาพเดียวกัน ที่เราเห็นอย่างนี้ก็เพราะว่าสมองคิดว่าทั้งสองภาพรวมกันเป็นภาพของหอคอยสองอันคู่กัน และเมื่อเรามองหอคอยจริงๆตั้งคู่กันอยู่ เราจะเห็นยอดของมันลู่เข้าหากัน (เรื่อง perspective) เมื่อเราไม่เห็นมันลู่เข้าหากัน เราจึงคิดว่าหอคอยด้านขวาต้องเอียงอยู่แน่ๆ  ปรากฏการณ์นี้แสดงถึงการที่สมองตีความหมายตามสมมุติฐาน(หรือโปรแกรม)ที่มีอยู่แล้วในสมอง ไม่ใช่เห็นในสิ่งที่เป็น (สำหรับผู้ที่สนใจ เข้าไปดูลิงค์ของนักวิจัยที่ http://www.scholarpedia.org/article/Leaning_tower_illusion ได้ครับ)

เส้นแดงๆมันดูโค้งอ้วนๆนะครับ
เส้นแดงๆมันดูโค้งอ้วนๆนะครับ

อันนี้ให้เด็กๆวัดดูว่าเส้นแดงๆมันขนานกันไปไหมครับ

ผู้หญิงหมุนทวนเข็มหรือตามเข็มนาฬิกา
นักเต้นหญิงหมุนทวนเข็มหรือตามเข็มนาฬิกา

เราสามารถเห็นว่าเธอหมุนได้ทั้งตามเข็มและทวนเข็มเลยครับ เพราะสมองพยายามแปลการเคลื่อนที่ของเงาแบนๆให้เป็นสิ่งของสามมิติ

มีคนทำภาพนักเต้นรำโดยใส่เส้นสีต่างๆให้บอกใบ้สมองว่าควรตีความว่าหมุนแบบไหน วิธีดูคือพยายามมองไปที่รูปซ้ายหรือขวา แล้วค่อยมองคนตรงกลาง คนตรงกลางจะหมุนตามรูปซ้ายหรือขวาที่เรามองครับ:

 
ได้ทดลองดูว่าวัตถุโค้งๆอันไหนยาวกว่ากันครับ เนื่องจากไม่ได้ถ่ายวิดีโอไว้ ขอเอาคลิปที่ถ่ายทำกับเด็กจิ๋วมาให้ดูแทนนะครับ:

ถ้าอยากลองเล่นเองที่บ้านลองตัดตามแบบข้างล่างนี้ก็ได้ครับ:

แบบตัดกระดาษเพื่อดูว่าอันไหนยาวกว่ากันครับ
แบบตัดกระดาษเพื่อดูว่าอันไหนยาวกว่ากันครับ

ได้ดูคลิปโฆษณาสุดเจ๋งของฮอนด้าที่สมองตีความภาพแบนๆเป็นภาพสามมิติด้วยครับ:

ภาพลวงตาอีกภาพคือภาพเคลื่อนที่อันนี้ครับ

ดูกล่องขยับครับ
ดูกล่องขยับครับ

เราทุกคนจะเห็นว่ากล่องสีเหลืองและสีน้ำเงินขยับไม่พร้อมกันเวลามันไม่แตะกัน แต่ถ้าเราหยุดภาพแล้วพิมพ์ออกมาวัด เราจะพบว่าทุกกล่องเคลื่อนที่ขึ้นลงพร้อมๆกันครับ:

yellow-blue-illusion.gif (GIF Image, 636 × 250 pixels) 2

yellow-blue-illusion.gif (GIF Image, 636 × 250 pixels)

yellow-blue-illusion.gif (GIF Image, 636 × 250 pixels) 3

yellow-blue-illusion.gif (GIF Image, 636 × 250 pixels) 4สาเหตุที่เราเห็นไม่พร้อมกันก็เพราะว่าพื้นหลังที่มีสีขาวและดำทำให้สมองเราใช้เวลาตัดสินใจไม่เท่ากันว่ากล่องสีเหลืองและน้ำเงินเคลื่อนที่ผ่านพื้นหลังสีต่างๆเมื่อไร

นอกจากนี้เด็กประถมปลายและมัธยมต้นได้ดูวิดีโอที่แสดงข้อจำกัดของสมองครับ 

ในคนปกติสมองมีจุดอ่อนในการมองเห็น มักจะเห็นอะไรที่อยากเห็นและไม่เห็นสิ่งที่ไม่สนใจ มีความสามารถจำกัดในการตีความ ถ้าข้อมูลเข้ามาจากดวงตามากเกินไป สมองก็จะเลือกตีความบางส่วนและเดาว่าส่วนอื่นๆเป็นอะไร ดังตัวอย่างภาพลวงตานี้ ถ้าเรามองจุดสีขาวตรงกลาง เราจะไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงของสีรอบๆ ตอนที่วงสีรอบนอกหมุนไปด้วย ถ้าเราไม่มองจุดสีขาวตรงกลางและคอยมองตามจุดสี เราจะเห็นว่าจุดสีเปลี่ยนแปลงเวลาวงสีรอบนอกหมุนด้วย

 (สำหรับท่านที่สนใจ นักวิจัยมีลิงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ที่ http://visionlab.harvard.edu/silencing/ และ http://jwsu.ch/ow/docs/suchow2011silencing.pdf นะครับ)
 
ต่อไปเป็นวิดีโอให้นับจำนวนการส่งลูกบาสโดยทีมเสื้อสีขาวครับ ลองนับตามดูนะครับ:
 

คนส่วนใหญ่ก็จะนับได้สิบกว่าครั้งครับ แต่เกินครึ่งจะตั้งใจนับจนไม่เห็นคนแต่งชุดกอริลล่าเดินผ่านตรงกลาง เวลาสมองพยายามตั้งใจทำอะไรบางอย่างจะพลาดสิ่งอื่นๆได้เยอะ นี่เป็นเหตุผลที่เราไม่ควรโทรศัพท์หรือส่งข้อความตอนขับรถครับ

ต่อด้วยคลิปนี้ครับ ลองนับจำนวนการส่งลูกบาสโดยทีมเสื้อขาวนะครับ:

เด็กๆจะเห็นกอริลล่าครับคราวนี้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่สังเกตเห็นว่าฉากหลังเปลี่ยนสีครับ