คุยกับเด็กประถมเรื่องดาราศาสตร์, ปี่หลอดสำหรับอนุบาลสาม

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ องค์นี้เด็กประถมที่บ้านปฐมธรรมจะเรียนเรื่องดาราศาสตร์ผมจึงคุยกับเด็กๆเรื่องดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ ระยะห่างระหว่างดาว ความเร็วแสง และดูคลิปว่าแสงเดินทางช้าแค่ไหนในระยะทางระหว่างดวงดาว สำหรับเด็กอนุบาลสามที่บ้านพลอยภูมิผมสอนเด็กทำของเล่นปี่หลอดกาแฟเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องเสียงและความสั่นสะเทือนครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “สังเกตการหมุน, วงโคจรดวงดาว” ครับ ลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือเสกให้คนหายตัวไป:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

จากนั้นเราคุยกันเรื่องดาวฤกษ์ที่เป็นกลุ่มก๊าซขนาดยักษ์ที่รวมตัวเป็นลูกกลมๆด้วยแรงโน้มถ่วงของมัน น้ำหนักก๊าซที่กดทับกันทำให้ตรงกลางมีความดันและความร้อนสูงมากจนเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์เปลี่ยนแปลงธาตุแล้วปล่อยพลังงานออกมาเป็นแสงและความร้อน ส่วนดาวเคราะห์เป็นกลุ่มหินหรือกลุ่มก๊าซที่มีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะทำให้ตรงกลางมีปฏิกิริยานิวเคลียร์ครับ ดาวเคราะห์จึงไม่ร้อนหรือเปล่งแสงอย่างดาวฤกษ์

เด็กๆได้ดูรูปทางช้างเผือกที่ถ่ายในประเทศไทยโดยคุณมติพล ตั้งมติธรรม:

ภาพจาก https://apod.nasa.gov/apod/ap140212.html ในภาพจะเห็นทางช้างเผือกพาดแนวนอนอยู่ตรงกลาง ดาวตกเป็นเส้นดิ่งด้านบนเยื้องไปทางขวา และใกล้ๆดาวตกจะเห็นจรวด Ariane 5 ที่พึ่งปล่อย

ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าทางช้างเผือกเป็นสิ่งที่เรียกว่ากาแล็กซี มีดาวนับแสนล้านดวงโคจรรอบๆกันอยู่ เราอาจเปรียบเทียบรูปทรงของกาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นเหมือนไข่ดาว ตรงไข่แดงคือบริเวณตรงกลางที่มีดาวอยู่กันหนาแน่น ดวงอาทิตย์ของเราซึ่งเป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่งโคจรอยู่ด้านนอกๆแถวๆไข่ขาว ภาพที่ถ่ายด้านบนเหมือนเราอยู่บนไข่ขาวแล้วมองเข้าไปหาไข่แดง

จุดสว่างๆในภาพข้างบนเป็นดาวฤกษ์ ดาวฤกษ์แต่ละดวงอยู่ห่างกันมาก (แสงซึ่งเคลื่อนที่ได้ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที หรือประมาณ 1 พันล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมงต้องใช้เวลาเป็นปีๆที่จะเดินทางจากดาวฤกษ์หนึ่งไปอีกดาวฤกษ์หนึ่ง) แต่เราเห็นว่าอยู่ใกล้กันเพราะดาวทั้งหลายอยู่ไกลจากเรามากๆ

ผมให้เด็กๆดูเว็บ  If the Moon is Only One Pixel: A Tediously Accurate Scale Model of the Solar System เพื่อให้ซาบซึ้งระยะทางระหว่างดาวเคราะห์ในระบบสุริยะและความกว้างใหญ่ไพศาลของอวกาศ พบว่าอวกาศมันกว้างใหญ่มากๆ เกินความคิดและจินตนาการปกติที่เรามี

จากเว็บ  If the Moon is Only One Pixel: A Tediously Accurate Scale Model of the Solar System เข้าไปเลื่อนๆดูนะครับว่าดาวเคราะห์ทั้งหลายอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เท่าไร และขนาดดาวเคราะห์เล็กแค่ไหนเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์

หลังจากผมเล่าว่าความเร็วแสงในสุญญากาศเป็นความเร็วที่เร็วที่สุดที่เรารู้จักในจักรวาลนี้แล้ว (เร็วประมาณสามแสนกิโลเมตรต่อวินาที หรือพันล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง) ผมให้เด็กๆดูวิดีโอว่าแสงเดินทางได้ช้ามากๆเมื่อเทียบกับระยะทางระหว่างดาวต่างๆครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสามทับหนึ่งอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับเสียงครับ ให้เด็กๆจับคอตัวเองไว้ขณะที่พูด เด็กๆจะรู้สึกว่าคอสั่นๆซึ่งก็คือการสั่นของอวัยวะที่เรียกว่ากล่องเสียงที่ทำให้เราสามารถพูดได้นั่นเอง ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าเวลามีอะไรสั่นๆในคอเราเนี่ย อากาศในปากก็จะสั่นตาม แล้วอากาศก็สั่นตามกันมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะเข้าหูเรา แล้วเราก็จะได้ยินเป็นเสียง

เด็กๆจับคอเวลาพูดจะรู้สึกว่าคอมันสั่นๆ

จากนั้นผมก็สอนเด็กๆทำของเล่นปี่หลอดพลาสติกกันครับ วิธีทำก็คือเอาหลอดกาแฟมากดๆให้ปลายข้างหนึ่งแบนๆ แล้วตัดปลายข้างนั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม  แล้วเอาปากเม้มปลายนั้นเข้าปาก แล้วเป่าเป็นเสียงแตร ถ้าหลอดอ่อนๆหน่อย (เช่นพวกหลอดตรง ราคาถูกๆ) ก็จะเป่าให้ดังได้ง่าย ถ้าหลอดแข็ง (เช่นพวกหลอดงอได้ ราคาแพงกว่า) ก็จะเป่าให้ดังยากกว่า เวลาที่เราเป่าส่วนที่เป็นสามเหลี่ยมที่อยู่ในปากเราจะสั่นไปมาทำให้เกิดเสียง ถ้าเราตัดหลอดให้มีความยาวต่างๆกัน เสียงที่ได้ก็จะสูงต่ำต่างกันด้วย ดูวิดีโอวิธีทำได้ครับ:

ผมเคยบันทึกไว้ในรายการเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ด้วยครับ:

พอเด็กๆได้เห็นวิธีทำก็มารับหลอดไปคนละหลอดแล้วแยกย้ายกันไปทำเองครับ เป่ากันอย่างสนุกสนานและหนวกหูดีมาก ขณะที่เด็กๆทำปี่ของตัวเองผมก็หยิบถุงพลาสติกมาดึงให้ตึงๆแล้วเป่าตรงขอบพลาสติกบางๆนั้นเป็นเสียงเหมือนนกหวีดครับ เราสามารถใช้อะไรบางๆก็ได้เช่นกระดาษ ใบไม้ ถุงพลาสติก เอามาดึงให้ตึงๆแล้วเป่าที่ขอบ มันจะสั่นเป็นเสียงสูงๆ ต้องลองเล่นดูครับ ลองเป่าวัสดุหลายๆอย่างดู

One thought on “คุยกับเด็กประถมเรื่องดาราศาสตร์, ปี่หลอดสำหรับอนุบาลสาม”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.